ในพื้นที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีเด็กและเยาวชนหลายคนต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบชั้น ม.ต้น เพราะสาเหตุจากความยากจน ผู้ปกครองทำงานรับจ้างรายวันแลกค่าแรงขั้นต่ำ สวนทางกับขนาดของครอบครัวที่แออัดด้วยจำนวนสมาชิก 5-7 คน พี่น้องจึงต้องเกลี่ยเงินที่พ่อแม่หาได้มาแบ่งกันเรียนหนังสือ หลายบ้านส่งเสียลูกเรียนได้ไม่ครบทุกคน หรือเป็นธรรมดาที่พี่คนโตต้องออกจากโรงเรียนเพื่อสละให้น้องเรียน จากนั้นพี่คนรองก็สละที่ของตัวเองให้น้องคนถัดไปเป็นลำดับ ท้ายสุดก็ไม่มีใครสักคนในบ้านได้เรียนหนังสือตามเกณฑ์ ต้องออกหางานทำหรือช่วยดูแลน้องๆ อยู่บ้าน เกิดเป็นวงจรเวียนซ้ำของความยากจน-ไม่ได้เรียนหนังสือ ส่งเป็นมรดกสืบทอดในครอบครัวไม่สิ้นสุด
ครอบครัวของฮูดอยบี เหล่าเขตกิจ คือภาพสะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นอย่างดี ‘บี’ เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 6 คน เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ม.2 ปีนี้เขาอายุ 17 ปี มีพ่อทำงานรับจ้างกรีดยางและเป็นช่างก่อสร้าง แม่ไม่มีอาชีพ กับน้องๆ อีก 5 คนที่เรียนชั้นประถม แต่ก็มีแววว่าจะต้องเลิกเรียนไปตามพี่ชายเมื่อจบชั้น ป.6
ก่อนหน้าจะออกจากโรงเรียน พ่อของบีมีอาชีพรับจ้างกรีดยางมีรายได้พอส่งเขาและน้องๆ เรียนหนังสือได้ จนเกิดปัญหายางราคาตก รายได้ลดลง พ่อของบีจึงต้องไปทำงานก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้มีให้ทำทุกวัน บางครั้งงานขาดช่วงยาวนานเป็นสัปดาห์ บ้างเป็นเดือน เงินที่หาได้เริ่มไม่พอกับค่าใช้จ่ายในบ้าน เมื่อค่ากินอยู่ปากท้องของคนในครอบครัวไม่พอเสียแล้ว เงินส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึง ฮูดอยบีไม่มีเงินจ่ายค่ารถรับจ้างไปโรงเรียน ติดค้างเงินค่าเทอมกับทางโรงเรียนจนหาทางออกไม่ได้เมื่อครูทวงถาม วันหนึ่งเขาจึงช่วยพ่อแบ่งเบาภาระด้วยการหยุดเรียนและไม่กลับไปอีก
3-4 ปีจากนั้น ฮูดอยบีออกหางานทำ เริ่มจากละแวกบ้าน เขาไปรับจ้างเก็บยางและขึ้นต้นลองกองแลกกับค่าแรงวันละ 30 บาท ช่วงไหนไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ยิ่งต้องการหาเงินให้ได้มากกว่าเดิม เขาก็ต้องออกจากพื้นที่ไปไกลขึ้น จากแถวบ้านไปยังอำเภออื่น ที่ไหนมีงานให้ทำเขาก็พร้อมจะไป บีเคยคิดเปลี่ยนงานเพื่อหาเงินให้ได้เพิ่มขึ้น แต่ด้วยวุฒิการศึกษาแค่ชั้น ป.6 ทางเลือกของเขาจึงมีแค่นั้น ต้องยึดงานรับจ้างขึ้นต้นลองกองเอาไว้จนงานพาไปไกลถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช
‘บี’ ฮูดอยบี เหล่าเขตกิจ
ฮูดอยบี เผยว่า วันที่ตัดสินใจเลิกเรียนเขารู้สึกเศร้า แต่คิดว่าเป็นทางเดียวที่จะช่วยที่บ้านได้ ยิ่งกว่านั้นคือเขาไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียนอีกแล้ว บีอายเพื่อนที่ต้องคอยตอบคำถามครูเรื่องเงินค่าเทอม ไม่สบายใจที่ต้องผัดวันชำระค่ารถโดยสารที่ค้างไปเรื่อยโดยไม่รู้ว่าจะมีจ่ายวันไหน
“ตอนนั้นที่บ้านไม่มีเงินเลย ผมรู้สึกเศร้าที่จะไม่ได้ไปเรียนอีก แต่ก็ไม่มีทางอื่นนอกจากนั้น เมื่อออกจากโรงเรียนมาแล้วผมก็ไปหางานทำในสวนในไร่ มีงานอะไรให้ทำก็ทำหมด ส่วนใหญ่คือเก็บน้ำยางและขึ้นต้นลองกอง ใครบอกว่ามีงานที่ไหนผมก็ไป จังหวัดอื่นๆ ผมก็ไป มีบ้างที่ตอนทำงานอยู่แล้วคิดถึงโรงเรียน คิดถึงตอนได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ แต่ก็คิดว่าคงไม่มีทางได้กลับไปเรียนอีกแล้ว”
นางพาตีมะ ดีรี ครู กศน. ในพื้นที่อำเภอรามัน ระบุว่า จากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เพื่อทำการค้นหาและนำเด็กนอกระบบคืนสู่ระบบการศึกษา จึงเริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเด็กนอกระบบทั่วทั้งอำเภอรามัน จนได้มาพบกับฮูดอยบี ซึ่งเป็นเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี และออกจากโรงเรียนโดยยังเรียนไม่จบชั้นมัธยมต้น
ครูพาตีมะ กล่าวต่อไปว่า ฮูดอยบีเป็นเสมือนตัวแทนของเด็กนอกระบบอีกหลายคนในพื้นที่ ครอบครัวของเขาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะส่งลูกทุกคนเรียนหนังสือ พี่น้องต้องแบ่งกันเรียน ถึงจุดหนึ่งพี่ก็ต้องออกจากโรงเรียนให้น้องได้เรียนต่อไป แต่เมื่อมีน้องคนถัดไปเข้าเรียนอีก พี่คนถัดมาก็ต้องออกจากโรงเรียนบ้าง กลายเป็นวงจรซ้ำที่สุดท้ายแล้วไม่มีใครมีโอกาสได้เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานสักคน แล้วเมื่อเขาออกจากโรงเรียน ถ้าไม่ไปทำงานก็ต้องเคว้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะส่งต่อความยากจนไปยังลูกของเขา หรือไม่ก็เข้าไปพัวพันกับพื้นที่สีเทาในสังคม ดังนั้นการนำเขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงเป็นเกราะป้องกันให้เขาอยู่ในทางที่ถูกที่ควร และจะช่วยให้เขานำความรู้ไปเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของครอบครัวได้ดีที่สุด
“ครั้งแรกที่ลงพื้นที่แล้วพบฮูดอยบี เขาทำงานเต็มเวลาแล้ว ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไป ไม่นำเขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โอกาสที่จะได้เรียนของเขาคงไม่มีอีก แล้วเขาก็ต้องทำงานรับจ้างอย่างนั้นต่อไป เราจึงต้องคุยกับผู้ปกครองของเขาให้เข้าใจ และหาทางช่วยให้ฮูดอยบีได้เรียนหนังสือในรูปแบบที่เหมาะสมกับเขา โดยตัวเด็กเองมีความต้องการจะเรียนอยู่แล้ว ประกอบกับที่ผู้ปกครองพร้อมตอบรับโอกาส เราจึงสนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนเต็มเวลา และต้องดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้อายุถึง 18 ปี โอกาสจะเข้าเรียนในการศึกษาแบบปกติจะยากขึ้น” ครูพาตีมะ ระบุถึงความช่วยเหลือ
หลังใช้เวลานับแต่สำรวจพบจนถึงวันที่ได้กลับเข้าเรียนราว 3 เดือน ในที่สุด ฮูดอยบี เหล่าเขตกิจ ก็ได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง ในเทอม 2 ของปีการศึกษา 2562 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำในจังหวัดยะลา ที่มีนโยบายรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสรวมถึงเด็กที่หลุดจากโรงเรียนไปแล้วให้กลับเข้าเรียนอีกครั้ง โดยทางโรงเรียนมีกระบวนการช่วยในการปรับตัวให้เด็กได้มีครูที่ปรึกษา และกลุ่มเพื่อนที่มีทักษะสังคมช่วยดูแลใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับการกลับสู่ระบบการศึกษาได้
สำหรับ ฮูดอยบี เหล่าเขตกิจ นั้น กสศ. และ อบจ. ยะลา ได้ส่งเด็กเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมต้น เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาในเบื้องต้น จากนั้นวางแผนอนาคตว่า เมื่อเรียนจบชั้น ม.3 จะส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนพระดาบสซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอน-ฝึกอาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อันเป็นความต้องการของเจ้าตัวที่มีเป้าหมายอยากเป็นช่างยนต์ แล้วหลังจากจบการฝึกอาชีพเป็นเวลา 1 ปี จากโรงเรียนพระดาบส เขาจะพร้อมกับการทำงาน ซึ่งจะมีผู้ประกอบการรับเข้าทำงานได้ทันที