นักการศึกษาแนะปรับตัวการศึกษาช่วง COVID-19 ต้องเริ่มจากเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อเปิดให้เกิดรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่แค่ยืนสอนหน้าชั้นเรียน แนะภาคนโยบายปลดล็อคให้โรงเรียนเกิดความยืดหยุ่นสอดรับกับพื้นที่
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The 101 ร่วมจัด public forum ผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “ปรับโรงเรียน-เปลี่ยนครู-ปฏิรูปการเรียนรู้” อ.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาของไทยปัญหาแรกคือ 1. เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเดิมไม่ค่อยรู้กัน จนเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นเช่นการเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ออนไลน์ ไปจนถึงอนาคตที่ปัญหาเศรษฐกิจอาจทำให้หลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา 2. ขาดปฏิสัมพันธ์ผู้เรียนผู้สอน และ 3. การออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนซึ่งยังไม่เป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ในการเรียนออนไลน์ที่ถูกพูดถึงยังคิดกันแต่ว่าเป็นการยืนพูดหน้าชั้นเหมือนในห้องเรียนปกติ ทั้งที่ยังมีรูปแบบอื่นทั้ง ให้ดูสารคดี ชีวิตสัตว์แบบอื่น อย่างเกมออนไลน์ โพลออนไลน์ ซึ่งในชีวิตจริงเด็กสามารถดูโทรทัศน์ได้เป็นชั่วโมงเราจะทำยังไงให้เด็ก สนใจและดูแบบเรียนที่ไม่ใช่แค่การสอนแบบหน้าห้อง แต่ควรมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูนักเรียนร่วมด้วย และการเรียนออนไลน์ไม่ใช่จะมาแทนออฟไลน์แต่จะเป็นการสอนที่ไปด้วยกัน การเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน เรียนได้ทุกที่ ทุกโอกาส
อ.ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำสอนเฉพาะม.ปลายรวมนักเรียนเจ้าหน้าที่ประมาณ 300 คนแผนที่คิดไว้คือการลดจำนวนคนที่จะมาเรียนให้น้อยที่สุดเพื่อจำกัดและลดความเสี่ยงการติดเชื้อและพยายามทำให้การเรียนไปอยู่ในออนไลน์ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้า โจทย์ที่ยากของโรงเรียนคือเราจะทำได้ตามแผนแค่ไหนซึ่งเรามีหลายแผนที่วางไว้ เพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดสิ่งต่างๆ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่าการเรียนรู้คืออะไร ถ้าเราตอบคำถามนี้ไม่ได้หรือไม่ดีพอจะรับมือสถานการณ์ไม่ดีพอเช่นหากบอกว่า การเรียนรู้คือการเรียนในห้องเรียนก็จะไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าคำตอบเปลี่ยนเป็นอะไรหลายอย่างก็จะนำไปสู่การปรับรูปแบบได้หลายอย่าง นอกจากนี้ อุปสรรคใหญ่ของการปรับตัว เราต้องคิดว่าจำเป็นไหมมีต้องมีครูอยู่ในการเรียนรู้ของนักเรียน และอะไรที่เรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครู หรือครูจะอยู่ในบทบาทไหน
อ.ภาคิน กล่าวว่า ระยะสั้นเวลาพูดว่าโลกหลัง COVID-19 เราต้องรู้ก่อนว่าคือเมื่อไหร่ และหากเป็นอีก 2 ปีข้างหน้า ระหว่างนี้จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร มีแผนแบบไหนบ้าง เราไม่สามารถบอกได้ว่าโมเดลไหนดีที่สุดไม่มีใครรู้จักนักเรียนได้ดีที่สุดเท่ากับอาจารย์ผู้สอน แต่ก็ต้องคุยกับนักเรียนและผู้ปกครองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการจัดทำรูปแบบการสอนออนไลน์ ไม่เคยมีใครลองของใหม่ขนาดนี้ถ้าพูดว่าทำไม่ได้ก็จบเท่านั้นแต่ถ้าบอกว่าทำได้ก็จะมีโอกาสที่รออยู่ ซึ่งในภาพใหญ่ไม่ใช่แค่ครูที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้แต่ต้องมองไปถึงผู้กำหนดนโยบายที่ต้องมีความยืดหยุ่น ไปจนถึงมหาวิทยาลัยที่สอนครูที่จะต้องปรับตัวก่อนคนอื่น
ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย กล่าวว่า ความพร้อมของโรงเรียนประสบปัญหากับหลายแห่งเด็กออนไลน์ได้แค่บางส่วน ออนแอร์ได้บางส่วน บางส่วนต้องออฟไลน์ สิ่งที่โรงเรียนเผชิญสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ทำไงขับเคลื่อนนโยบายกับปฏิบัติจริงให้ได้การเรียนรู้ดีที่สุด ซึ่งมีทั้ง กลุ่ม ม.ปลาย ที่ส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ได้ อีกกลุ่มเข้าไม่ถึงออนไลน์ก็ต้องเกาะกับเนื้อหา DLTV อีกด้านยังมีช่องทางการเรียนรู้ที่เรียนจากชุมชน เรียนจากปราชญ์ชาวบ้าน ให้เขาไปหาความรู้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ การเรียนรู้โดยให้เด็กดูทีวีโดยไม่สามารถซักถามหรือมีใครอธิบาย ตรงนี้ก็จะลำบากเพราะในพื้นที่บางบ้านมีข้อจำกัด ผู้ปกครองไม่มีเวลา ไม่มีความสามารถในการสอน ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสทองคิดค้นนวัตกรรม มีโอกาสสอนน้อย เจอเด็กสั้นๆ จะเลือกเนื้อหา วิธีไหน ในการสอนให้เกิดประสิทธิภาพ ถ้ามีการปลดล็อก ผ่อนคลายเราก็จะได้เห็น ครูได้ปล่อยของมีอิสระรูปแบบการเรียนการสอนได้มากขึ้น
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ กสศ. มุ่งสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ มีความเหลื่อมล้ำหลายมิติ สถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรง โดยการทำงานของ กสศ. ที่ผ่านมามุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือนำร่อง ซึ่งเมื่อเกิดโรคระบาดเราพูดคุยให้มีการปรับการทำงาน เช่น โครงการ TSQP 290 โรงเรียนต้องปรับอะไรบ้าง ยังมีโครงการการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ต้องให้ความช่วยเหลือมากกว่าปกติจึงต้องมาคิดว่าจะพัฒนาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศบรูไน เขามีระบบโฮมเลิร์นนิ่งแพ็คเกจให้ผู้ปกครองกับเด็กร่วมกันทำงานที่บ้าน รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมจัดสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการเปิดเทอม ทั้งการจัดที่นั่งนักเรียน การก้าวเข้าโรงเรียน แบ่งครูออกเป็นสองกลุ่มทำงาน 2 สัปดาห์ที่โรงเรียน และหยุดสองสัปดาห์เพื่อไปลงพื้นออนไซท์ ช่วยเหลือให้คำปรึกษาเด็กในพื้นที่ ซึ่งสุดท้าย กสศ.ก็ต้องมาวิเคราะห์ย้อนกลับไปสู่เบื้องต้นคือไม่ต้องวิ่งตามเทคโนโลยีแต่ต้องเน้นไปที่การเรียนรู้
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Lukkid และ ผู้แปลหนังสือ “designing your life” กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากการลงไปดูบริบทของปัญหาที่แตกต่างกันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเราติดกับรูปแบบเดิมว่าต้องเป็นการสอนในห้อง ดังนั้นต้องเริ่มตั้งคำถามใหม่เพื่อที่จะช่วยช่วยให้ได้ลองอะไรใหม่ ๆ และไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต้องลองลงมือทำอย่างเดียว ซึ่งต้องลองและเรียนรู้แต่ไม่ใช่ลองแบบมั่วๆ
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยการเรียนรู้ช่วยนั้น แต่บางครั้งเทคโนโลยีก็ไม่ได้สำคัญไปทุกสถานการณ์ บางทีระบบแมนนวล ก็อาจตอบโจทย์ได้ดีกว่า เราไม่ได้มีสูตรเดียวที่ตอบโจทย์ทุกในสถานการณ์ โอกาสที่เราได้ลองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเราควรมีการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อให้ครูได้คุยกันว่าเจอปัญหาอะไรแก้ไขอย่างไร ให้แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน