เด็กเกือบ 260 ล้านทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ ผลมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น

เด็กเกือบ 260 ล้านทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ ผลมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น

ที่มาภาพ : AFP Photo

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

UNESCO เผยรายงานผลการศึกษาพบ มีเด็กเกือบ 260 ล้านทั่่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ โดยเป็นผลมาจากภาวะความยากจนและการแแบ่งแยกกีดกัน จนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กนักเรียนทั่วโลกในปี 2018 พบว่า มีเด็กนักเรียนเกือบ 260 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะภาวะยากจนและการกีดกัน ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มรุนแรงจนส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้ โดยมีต้นเหตุมาจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19

รายงานของ UNESCO ระบุว่า เด็กๆ จาก ชุมชนยากจน ซึ่งรวมถึง เด็กหญิง เด็กพิการทุพพลภาพ เด็กอพยพ และเด็กจากชนกลุ่มน้อย ล้วนถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเฉพาะในปี 2018 มีเด็กและเยาวชน 258 ล้านคนโดนตัดออกจากระบบการศึกษาอย่างสิ้นเชิง และทั้งหมดนี้ “ความยากจน” คืออุปสรรคหลักที่ทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือได้

ทั้งนี้ เด็ก 258 ล้านคนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนที่ 17% ของเด็กในวัยเรียนทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนใต้และตอนกลางของภูมิภาคเอเชีย กับทางแถบซับ-ซาฮารา ในแอฟริกา

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังมีแนวโน้มทวีความเลวร้ายมากขึ้นเพราะวิกฤตของ COVID-19 เพราะมาตรการล็อคดาวน์ จำกัดการเดินทาง ซึ่งครอบคลุมถึงการปิดโรงเรียน จนส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนมากกว่า 90% ทั่วโลก

ที่มาภาพ : unsplash – Kelly Sikkema

เหตุผลเพราะ ขณะที่เด็กนักเรียนในครอบครัวทั่วไปที่มีรายได้อยู่ในค่าเฉลี่ย สามารถเรียนหนังสือจากที่บ้าน พร้อมด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี อย่าง แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตได้อย่างครบครัน กลับมีเด็กเรียนอีกหลายล้านคนไม่สามารถเรียนหนังสือได้ เพราะเข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ว่านี้แม้แต่อย่างเดียว

Audrey Azoulay ผู้อำนวยการของ UNESCO กล่าวว่า บทเรียนจากในอดีต เช่น กรณีไวรัส Ebola ระบาด แสดงให้เห็นว่า วิกฤตสาธารณสุขมีผลทำให้เด็กหลายล้านคนถูกระบบการศึกษาทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะ เด็กหญิงจากครอบครัวยากจน ที่การระบาดของโรค ทำให้ไม่อาจกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้อีกเลย

ขณะเดียวกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเกิดขึ้นมาจากการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และเพศ จากสังคม โดยผู้อำนวยการของ UNESCO กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่ง ถูกกีดกันและผลักดันออกจากระบบการศึกษาผ่านหลักสูตรการศึกษาที่ขาดความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ไม่ครอบคลุม การใช้คำพูดในหนังสือเรียนที่แบ่งแยกกีดกัน การจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้เฉพาะคนบางกลุ่ม การประเมินผลการเรียนที่จำกัด และการเพิกเฉยต่อการใช้ความรุนแรง การข่มขู่ และการรังแก

สำหรับเด็กกลุ่มนี้ หมายรวมถึง เด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน เด็กพิการทุพพลภาพ เด็กที่มีเพศสภาพทางเลือก (LGBTI) และเด็กหญิง โดยรายงานพบว่า เด็กเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ มีโอกาสเรียนจบในระดับชั้นประถมศึกษาน้อยมาก โดยใน 20 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกแทบจะไม่พบเด็กหญิงที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาเลย ขณะที่ เด็กพิการและทุพพลภาพมีโอกาสเพียง 19% เท่านั้นที่จะสามารถอ่านออกเขียนได้ในช่วงวัย 10 ปี

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยังเกิดขึ้นจากทัศนคติที่เกิดจากความอคติของสังคม โดย UNESCO พบว่า เด็กนักเรียนในกลุ่ม LGBTI ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียนหนังสือจากที่บ้าน หรือไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกังวลต่อความปลอดภัยของตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายบางประเทศ เช่น ในแอฟริกา ที่ไม่ยอมให้เด็กหญิงตั้งครรภ์ไปโรงเรียน อีก 117 ประเทศยังเปิดทางให้มีการแต่งงานในวัยเด็ก และอีก 20 ประเทศยังไม่ยอมลงนามต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก

ที่มาภาพ : unsplash – bennett tobias

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเด็กหญิงอีกราว 335 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้รับการปฎิบัติที่ดีและเหมาะสมจากทางโรงเรียน โดยบางแห่งถึงกับประกาศงดการเข้าร่วมกิจกรรมและจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในห้องเรียนสำหรับเด็กหญิงที่มาโรงเรียนในช่วงมีประจำเดือน

รายงานระบุอีกว่า หลายประเทศในยุโรป ยังคงกีดกันไม่ให้เด็กๆ ยิปซี เข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไป ในเอเชีย เด็กพลัดถิ่นและเด็กอพยพจำนวนมากต้องเข้าเรียนในระบบการศึกษาพิเศษที่แยกจากโรงเรียนปกติ และอีกหลายประเทศยังคงบังคับใช้ระบบการศึกษาที่แบ่งแยกและกีดกันคนด้วยเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และเพศสภาพ

“มีเพียง 41 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่มีการยอมรับให้ภาษาใบ้เป็นภาษาทางการ ขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่าการใส่ใจผู้เรียนในกลุ่มผู้พิการและทุพพลภาพ” UNESCO ระบุ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการเดินหน้าปฎิรูประบบการศึกษาที่เปิดทางให้เด็กทุกกลุ่มเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เพราะความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสังคมในอนาคต

รายงานฉบับนี้ของ UNESCO มีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากหลายฝ่ายที่มองว่า
รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกอาจมุ่งให้ความสำคัญการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนที่เสียหายหนักจากวิกฤต COVID-19 จนละเลยต่อการศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นว่าทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงมากขึ้น

ความวิตกข้างต้น เริ่มมีเค้าลางน่าเป็นห่วง เมื่อรายงานฉบับนี้ของ UNESCO มีการเปิดเผยในช่วงเวลาไล่เรี่ยกับที่ทางคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและการศึกษาแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ตัดงบประมาณด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ในแผนงบประมาณฉบับใหม่ระหว่างปี 2021-2027

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและการศึกษา รวมถึง บรรดาสมาชิกรัฐสภายุโรปต่างเห็นตรงกันว่า ข้อเสนองบประมาณ MFF (Multiannual Financial Framework) ฉบับใหม่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยเน้นย้ำว่า ภาคการศึกษาและวัฒนธรรมของอียูกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19 และจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเพื่อฟื้นฟูกลับคืนมาอีกครั้ง

ที่มาภาพ : unsplash – Jordan Rowland

ในแผนงบประมาณฉบับใหม่ การตัดงบประมาณในส่วนการศึกษาและวัฒนธรรม จะส่งผลให้โครงการที่เกี่ยวข้องอย่าง Solidarity Corps (โครงการที่เปิดโอกาสด้านต่างๆ ให้แก่เยาวชนคนหนุ่มสาวในการเรียนรู้), Creative Europe (โครงการเพื่อสนับสนุนศิลปินและนักคิดสร้างสรรค์), หรือ Erasmus (โครงการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนนานาประเทศ) ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือสนับสนุนบุคลากรที่มีศักยภาพและสามารถกลายมาเป็นทรัพยากรหลักในการพัฒนาโลกต่อไปได้

โดยทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผนตัดลดกองทุน European Solidarity Fund ลง 20%, Creative Europe 13% และ Erasmus ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาของชาติสมาชิกอียู โดยต้องได้รับความเห็นชอบทั้งหมดจากสมาชิกก่อนสามารถนำไปบังคับใช้ต่อไป

 

ที่มา :