กสศ.จับมือกยศ.บูรณาการฐานข้อมูล ลดปัญหาให้ทุนการศึกษาซ้ำซ้อน เน้นเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือเด็กยากจนตรงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมแชร์ข้อมูลวิชาการ และพัฒนาความรู้ส่งต่อโอกาสให้เด็กในอนาคต
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่กระทรวงการคลัง นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) พร้อมนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมลงนาม (MOU) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
นายสุภกร กล่าวว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นองค์กรที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่มีลักษณะและแนวทางการดำเนินงานแตกต่างกัน กยศ. มีลักษณะเป็นกองทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ มีภารกิจมุ่งเน้นให้กู้ยืมเงินแก่นักศึกษารายคนเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จําเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ซึ่งผู้กู้ยืมจำเป็นต้องชำระหนี้คืนตามกฎหมาย ทั้ง กยศ. มุ่งให้การช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อายุ 15-25 ปี ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่ามัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี จำนวนปีละประมาณ 476,830 คน (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2562
นายสุภกร กล่าวว่า ในขณะที่ กสศ. มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 วรรคท้าย โดยอาจจำแนกภารกิจได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1)การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. มุ่งบรรเทาอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาให้แก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสตั้งแต่ระดับปฐมจนถึงจบการศึกษาภาคบังคับ (มัธยม 3) โดยวิธีการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) 2) กสศ.มีภารกิจ “แล็ปปฏิรูป” จัดการค้นคว้าศึกษาวิจัย ทดลอง แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาตัวแบบนำไปสู่การขยายผล และเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(ซ้าย) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. (ขวา) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.
ซึ่ง กสศ. จะใช้วิธีการสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบโครงการให้แก่หน่วยงาน (Project-based Program) โดยส่วนนี้ กสศ.จะมีการทดลองกับกลุ่มประชากรยากจนด้อยโอกาสจำนวนไม่มากนัก เช่น ทุนการศึกษาต่อสายอาชีพปีละ 2,500 คน ทุนเรียนครูที่ผูกมัดต้องไปปฏิบัติงานในโรงเรียนชนบทห่างไกลปีละ 300 คน เป็นต้น
นายสุภกร กล่าวว่า นอกจากนี้ กสศ. ยังช่วยเหลือสนับสนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่มผู้ขาดแคลนหรือด้อยโอกาสที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล เช่น แรงงานนอกระบบ เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาตามความจำเป็นของชีวิต
สำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่กสศ.จัดช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2562 แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) กลุ่มการศึกษาภาคบังคับระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้น กสศ. สนับสนุนให้เงินอุดหนุนเพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ได้แก่ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษคิดเป็น 1/3 ของนักเรียนยากจนทั้งหมด ผ่านโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 949,941 คน 2) กลุ่มมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มประชากรวัยแรงงาน กลุ่มเด็กนอกระบบ กลุ่มครู กสศ. ให้การสนับสนุนช่วยเหลือจำนวนน้อย ซึ่งในส่วนของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หรือการศึกษาสายอาชีพ จำนวนปีละ 2,500 คน คิดเป็นประมาณ 1% ของประชากรยากจนด้อยโอกาส เพื่อศึกษาทดลองระบบลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาส สำหรับเสนอนโยบายปฏิรูปการศึกษา
“กสศ. มีทุนการศึกษาที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่ยากจน 20 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือไม่เกิน 36,000 บาทต่อปี จำนวนปีละ 2,700 ทุน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยได้ศึกษาต่อระดับสายอาชีพและเป็นครู โดยผู้รับทุนหากเรียนจบไม่ต้องชดใช้ทุน โดยทุนนี้ไม่ได้ให้ไปที่เยาวชนเพียงอย่างเดียว แต่มีทุนที่ให้ไปยังสถาบันการศึกษาเพื่อเน้นการศึกษาวิจัย พัฒนาและทดลองเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบการศึกษา และกสศ. เน้นการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนยากจนที่สุดเพื่อสนับสนุนโอกาสทางการศึกษา โดยกยศ. ไม่มีภารกิจในการให้ทุนการศึกษา แต่ดำเนินงานโดยการกำหนดแนวทางการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในลักษณะต่างๆ” นายสุภกร กล่าว
นายสุภกร กล่าวว่า แม้ กยศ. และ กสศ. จะเป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่เยาวชนคนใดคนหนึ่งจะไม่สามารถรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ไปพร้อมๆ กับการกู้ยืมเงินจาก กยศ. เพื่อใช้ในระหว่างการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกันได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนได้มากขึ้นและลดปัญหาการให้ทุนการศึกษาซ้ำซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม กยศ. และ กสศ. ต่างดำเนินงานเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กันจะช่วยทำให้การดำเนินงานในภาพรวมเกิดความเชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน ได้แก่ 1)เกิดความร่วมมือทางวิชาการ การเผยแพร่ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาอบรม การฝึกอบรม การประชุม การสัมมนา และงานวิชาการอื่น ๆ ระหว่างหน่วยงาน และ 2) เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยอาจมีการส่งต่อการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่อไป
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัย และแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้กู้ยืม กยศ. กับผู้รับทุน กสศ. เพื่อให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากการดำเนินงานของกองทุน กยศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในลักษณะต่างๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยต้องชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่กำหนด
“ในขณะที่กองทุน กสศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้กู้ยืม กยศ. กับผู้รับทุน กสศ. ดังกล่าว จะทำให้เยาวชนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการได้รับ โอกาสทางการศึกษา และเป็นการใช้งบประมาณของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการศึกษาต่อไป” นายชัยณรงค์ กล่าว
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องข้อมูลถือเป็นประเด็นสำคัญในอนาคตน้องๆที่เคยได้รับโอกาสจาก กสศ.แล้ว ก็ต้องแสดงว่าเป็นคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มา ดังนั้นเราจะมีกลุ่มที่ กสศ.เคยดูแล้ว เราก็สามารถจะดูแลต่อได้เลย โดยที่เราไม่ต้องวิเคราะห์ว่าน้องคนนี้มีฐานะยากจนจริงหรือเปล่า ซึ่งเราไม่ปิดกั้นหากเข้าตามเกณฑ์เงื่อนไขของ กยศ.ทั้งหมด โดยต่อปี กยศ.ให้กู้ประมาณปีละ 26,000 ล้านบาท