จุดประกายการศึกษาพื้นที่ห่างไกล จากฝันที่เลือนราง เพิ่มอนาคตมั่นคง

จุดประกายการศึกษาพื้นที่ห่างไกล จากฝันที่เลือนราง เพิ่มอนาคตมั่นคง

แม้การจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะเป็นการศึกษาภาคบังคับที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แต่ความเป็นจริงกลับมีเด็กและเยาวชนอีกมากมายในพื้นที่ห่างไกล เผชิญอุปสรรคสำคัญที่พวกเขาต้องเผชิญคือการขาดโอกาส เนื่องฐานะทางบ้านยากจน ประกอบกับเติบโตขึ้นในบริบทสังคมที่ไม่เอื้อต่อการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง ท้ายสุดเป้าหมายหลังเรียนจบจึงเหลือเพียงกลับไปทำงานเพื่อแลกกับรายได้อันน้อยนิด แล้วปล่อยให้ความฝันในชีวิตค่อย ๆ ดับลง

‘น้องนา’ สุภาวรรณา วงษ์พิพันธ์ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. รุ่น 1 สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี เล่าถึงเส้นทางการศึกษาของเธอว่า เธอเกิดในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ในอดีตเป็นพื้นที่สีแดงของการสู้รบ รวมถึงความลำบากยากจนที่เกิดจากวิกฤติความแห้งแล้งและความเสื่อมโทรมจากการทำลายป่าชุมชน แม้ปัจจุบันสภาพแวดล้อมจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น แต่จำนวนของเด็กๆ ที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าระดับชั้น ป.6 ยังมีจำนวนน้อย นั่นเพราะขาดแคลนบุคลากรครู ความไม่พร้อมของโรงเรียน รวมถึงความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ที่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างรายวันและเก็บของป่าขาย ทัศนคติต่อการศึกษาจึงเป็นเรื่องไกลตัว

“เป็นปกติที่หมู่บ้านของหนูไม่มีใครได้เรียนหนังสือเลย จบแค่ชั้น ม.3 ก็ถือว่าสูงแล้ว ส่วนใหญ่จบ ป.6
เขาก็จะเริ่มทำงานกันในหมู่บ้าน พวกงานขายของป่าหรือทำสวน แม่หนูก็ทำงานรับจ้างทั่วไป” น้องนา
อธิบายถึงหมู่บ้านที่เติบโตขึ้นมา

สุภาวรรณา เล่าต่อไปว่า โรงเรียนที่มีในหมู่บ้านเป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนไม่ถึง 50 คน กับครูอีก 4-5 คน สอนถึงระดับชั้น ป.6 เด็กๆ ในพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ กับอีกส่วนหนึ่งที่จบ ป.6 แล้วก็แทบไม่มีใครได้เรียนต่อ แต่ด้วยแม่ของน้องนาที่เห็นความสำคัญของการศึกษา จึงส่งไปเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนประจำที่อำเภออื่น จนจบ ม.3 เธอก็ต้องกลับไปอยู่บ้านช่วยแม่ทำงาน 1 ปี เพราะครอบครัวไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อ

“ตอนนั้นหนูคิดว่าคงไม่ได้เรียนแล้ว แต่วันหนึ่งมีอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี เขามาแนะนำว่ามีทุน จซต.(ทุนสนับสนุนการศึกษาเยาวชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้) ทำให้เราได้เรียนต่อชั้น ปวช. ในสาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำจนจบ” สุภาวรรณา ย้อนเล่า

ถึงตรงนั้น เส้นทางการศึกษาของสุภาวรรณาคล้ายจะกลับสู่วังวนเดิม แม้ในใจลึกๆ ของเธอจะมีความฝันว่าอยากเป็นครูสอนในสาขาวิชาที่เธอได้เรียนมา แต่เธอก็ทราบดีว่าอย่างไรที่บ้านคงไม่มีเงินทุนให้ศึกษาต่อ น้องนาจึงตั้งใจว่าจะกลับไปช่วยที่บ้านทำงานอย่างจริงจังเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว

“วันที่เรียนจบ ปวช. ที่วิทยาลัยมีงานรับใบประกาศ หนูจำได้ว่าตอนนั้นตัดใจแล้วว่าคงไม่ได้เรียนต่อ จึงตั้งใจจะไปขอบคุณและลาอาจารย์ แต่กลายเป็นว่าอาจารย์อยากจะคุยกับเราพอดี แล้วเขาก็อธิบายเรื่องทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ให้ฟัง ซึ่งตอนนั้นหนูก็ยังไม่เชื่อว่าเราจะได้ แต่ก็นัดกับอาจารย์ไว้ว่าจะให้เขาเข้าไปเยี่ยมบ้าน” สุภาวรรณา ระบุ

สุภาวรรณา กล่าวต่อว่า การเข้าไปเยี่ยมบ้านของเธอไม่ใช่เรื่องง่าย ที่นั่นไม่มีทั้งสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หากใช้รถมอเตอร์ไซค์เดินทางเข้าไปก็ต้องใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมง แต่คุณครูบากบั่นไปจนถึง แล้วหลังจากที่ครูได้คุยกับแม่ของน้องนาที่หวังไว้อยู่แล้วว่าอยากให้ลูกได้เรียนสูงๆ จึงเริ่มเชื่อมั่นว่าเธอจะได้เรียนต่อในระดับชั้น ปวส.

“การจะได้เรียนต่อมันเหมือนไม่ใช่แค่ที่บ้านหนูที่ดีใจ แต่วันนั้นมีเด็กคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่เขามาดีใจกับเราด้วย ทุกคนดูตื่นเต้นที่หนูจะได้รับทุน แต่ส่วนหนึ่งพวกเขาก็เสียใจที่ไม่มีโอกาสเหมือนหนู เพราะเขาเรียนจบกันแค่ชั้น ป.6” น้องนา เล่าถึงบรรยากาศในวันที่คุณครูนำโอกาสไปมอบให้

จากที่เคยหมดหวังไปแล้วกับการเรียน แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. สุภาวรรณา กล่าวว่า นับจากวันนั้น เธอตัดสินใจว่าจะตั้งใจทำให้ดีที่สุดกับทุกโอกาสที่ได้รับ ทั้งกับการเรียนและการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้วิทยาลัย และตอบแทนทุนที่เธอได้รับ เมื่อเข้ามาเรียนชั้น ปวส. จึงคิดกับตัวเองว่าการได้รับโอกาสคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ตั้งใจจะทำให้เต็มที่กับทุกสิ่งในวิทยาลัยฯ จึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง จนได้รับเลือกให้เป็น นายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพพระรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ยังอยู่ชั้น ปวส.1

ที่มาของตำแหน่งเกิดมาจากไว้ใจของเพื่อนพี่น้องในวิทยาลัยฯ เพราะเขาเห็นว่าเรามีความตั้งใจกับทุกกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย เราพยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เมื่อมองย้อนกลับไปก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เพราะในเวลาแค่เทอมเดียวก็ได้มีโอกาสและพบประสบการณ์หลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้รับ

“สิ่งแรกที่ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมอบให้ คือเงินทุนที่หนูได้นำมาใช้เป็นค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าอาหาร ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากหลากหลายวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ชีวิตกัน เราได้พบว่าทุกคนล้วนลำบากและต้องต่อสู้เพื่อจะได้เรียนหนังสือ รวมถึงยังเป็นครั้งแรกที่ได้ออกเดินทางไปในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ทำให้โลกของเรากว้างขึ้น ทั้งยังต่อยอดให้เราได้ไปเข้าร่วมกับโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะการได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของวิทยาลัย ไปแข่งขันทักษะวิชาชีพขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) และได้รางวัลอันดับ 1 กลับมาทั้งในระดับภาค และระดับประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ภูมิใจมาก แม้ว่าก่อนไปเราจะหวังติดเพียง 1 ใน 3 อันดับเท่านั้นเพราะเราซ้อมกันหนักมาก แต่กลายเป็นว่าพวกเราได้รับรางวัลชนะเลิศกลับมา ผลที่ได้นี้หนูคิดว่าความดูแลเอาใจใส่และช่วยฝึกฝนของอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการคือปัจจัยที่สำคัญมากๆ” สุภาวรรณา กล่าว

แต่เหนืออื่นใด สุภาวรรณา ระบุว่า การได้เป็น ‘นักศึกษารางวัลพระราชทานประจำปี 2562’ จากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ คือความภาคภูมิใจที่สุดของชีวิต เพราะไม่เคยคาดหวังมาก่อนว่าจะได้รับ ขณะที่หากมองย้อนไป ณ จุดเริ่มต้น เธอคิดว่าที่เดินทางมาได้จนถึงจุดนี้ ก็เป็นเพราะคุณครูที่หยิบยื่นโอกาสนำทุน กสศ.มาให้ในวันนั้น

“ตอนขึ้นไปรับรางวัลนักศึกษารางวัลพระราชทานฯ หนูคิดในใจว่า ถ้าวันนั้นครูไม่แนะนำให้เราสมัครทุน กสศ. ถ้าครูไม่ยอมลำบากเดินทางไปเยี่ยมบ้านเรา หรือถ้าเราไม่ได้เป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หนูคงไม่ได้ไปยืนอยู่กับเพื่อนๆ บนเวทีนั้น
มันทำให้มองเห็นเป็นภาพลำดับขั้นตอนของชีวิตว่า หากไม่ได้รับโอกาสดีๆ เข้ามา หนูก็คงต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ร่วมโครงการดีๆ มากมาย และที่สำคัญคือไม่มีสิทธิ์จะคิดเกี่ยวกับแผนการใดๆ ในอนาคต” สุภาวรรณา กล่าว

ปัจจุบัน ความฝันของสุภาวรรณาที่อยากจะเรียนถึงระดับปริญญา และกลับมาเป็นครูสอนที่วิทยาลัยก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งเธออยากบอกว่าตั้งแต่ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนฯ ทำให้กลายเป็นคนที่มีความตั้งใจทำทุกสิ่งมากขึ้น มีความหวังมากขึ้น มันเหมือนกับว่าหลายเรื่องที่เคยคิดว่ายากหรือไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถึงวันนี้ มีกำลังใจมากขึ้นที่จะเดินต่อไปตามลำดับเส้นทางที่วางไว้