ต้นแบบสถาบันของการผลิตครูสู่ชนบทแห่งแรกในประเทศไทย คือ “วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง” ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2497 ด้วยเป้าหมายที่รับเด็กซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์และมีเจตคติที่ดีมาบ่มเพาะเป็นครูและให้กลับไปสอนในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ
แนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากประเทศตุรกี ที่ใช้วิธีการคัดเด็กชนบทด้อยโอกาส แต่มีความสามารถ เรียนเก่ง เป็นเด็กดี มาเรียนในหลักสูตรครูเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับไปบรรจุอยู่ในพื้นที่ที่ได้ทุนมาเรียน
ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกทางวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง จะรับเด็กที่จบ ป.7 มาเรียน 5 ปี จบไปได้วุฒิ ปวส.ต้น และไปเป็นครูอยู่ในชนบท เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจน พ.ศ. 2515 ได้ปรับมาเป็นวิทยาลัยครู ก่อนจะเปลี่ยนเป็น สถาบันราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในที่สุด
“ตอนนี้คนที่เรียนรุ่นแรกๆ ไปบรรจุในโรงเรียนชนบท หลายคนเป็นครูใหญ่ ผู้อำนวยการ ส่วนใหญ่เกษียณกันหมดแล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของสถาบันที่ลองไปดูได้เลยว่าครูที่จบไปทำเป็นทุกเรื่อง ออกแบบสร้างอาคาร สร้างส้วม ซึ่งอาจจะเหมาะกับยุคสมัย 60 ปีที่แล้วซึ่งบ้านนอกบ้านนายังจำเป็นต้องมีผู้นำชุมชน”
ครูบ้านนอกไม่ใช่แค่สอนหนังสือต้องพัฒนาชุมชนด้วย
แต่ปัจจุบันทักษะตรงนี้อาจต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างเช่นต้องสามารทำได้ ทั้ง “ไฮทัช” และ “ไฮเทค” หมายความว่าต้องทำเรื่องที่ปฏิบัติได้ด้วยมือเช่น ปลูกผัก ทำงานทั่วไป และ ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้ด้วย รู้เรื่องเครื่องมือการสอน การหาความรู้ การพัฒนาชุมชน
“การเป็นครูบ้านนอกไม่ได้มีแค่งานสอนหนังสืออย่างเดียว เวลาหมู่บ้านมีงานวัดครูก็ต้องไปช่วย ชุมชนมีอะไรก็ต้องเข้าไปดูแล ไปพัฒนาความเป็นอยู่ให้ชาวบ้าน สิ่งนี้เป็นหมือนจิตวิญญาณเป็นรากของที่นี่ ซี่งเรายังคงเรื่องนี้ไว้”
สอดรับกับภารกิจปัจจุบันของ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง ที่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นหนี่งใน 11 สถาบันการศึกษาที่จะผลิต ครูรัก(ษ์) ถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการทำให้พื้นที่ห่างไกลมีครูคุณภาพเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ
การเข้าค่ายเพื่อคัดเลือกเด็ก “มิติใหม่” การค้นหาครู
ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ อธิบายว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทีมลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เด็ก ครู ผู้ปกครอง จากนั้นจะเชิญเด็กมาเข้าข่ายเพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ให้มั่นใจว่าหนึ่งเด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเป็นครูสอนอยู่ในชนบท สองมีจิตวิญญาณความเป็นครู ที่จะต้องใช้การจัดกิจกรรมเพื่อไปสังเกตให้มั่นใจถึงจะประกาศว่าเขาเป็นตัวจริงที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการ
“การเข้าค่าย 5 วันเหมือนการจัดสถานการณ์จำลองให้เด็กแสดงถึงความพร้อมที่จะมาเป็นครูในอนาคต ทั้งเรื่องการเสียสละ การมีเจตคติที่ดีต่อตัวเองและชุมชน แค่การสัมภาษ์อาจไม่เห็นชัดแต่ถ้าได้อยู่ทำกิจกรรมเข้าค่ายจะเห็นได้ชัดขึ้น เด็กบางคนเขามาเข้าค่ายแล้วรู้ตัวว่าไม่เหมาะสมขอถอนตัวไปก็มีคือมีสองด้านให้ทั้งเด็กได้ดูตัวเองด้วยและให้ครูได้ดูตัวเด็กด้วย”
สิ่งสำคัญคือเราต้องดูว่าเขาพร้อมจะไปเป็นครูในชนบทที่ลำบากได้หรือไม่ ที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีครูที่เก่ง ๆ แต่อยู่ในพื้นที่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปที่อื่น การที่จะมีครูที่มุ่งมั่นจะไปอยู่ในพื้นที่ลำบากโดยไม่ย้ายไปไหนก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น และจะเป็นการดีที่เขาจะอยู่ในพื้นที่กันดารโดยสมัครใจตั้งแต่ต้นไม่ใช่ถูกบังคับ และยังเป็นพื้นที่บ้านของเขาเองด้วย
ครูผู้หญิงก็ต้องทำเป็นหมดทั้งช่างไม้ ช่างเชื่อม ช่างปูน
สำหรับทักษะที่เราต้องการให้เด็กมีเพื่อที่จะได้จบไปเป็น “ครูชนบท” คือ จะต้องมีทักษะวิชาชีพ เทคโนโลยี ต้องเป็นผู้นำชุมชนได้ รวมทั้งต้องมีจิตใจที่อยากช่วยเหลือชาวบ้าน มีส่วนร่วมในการพัฒนาในชุมชน ทั้งนักศึกษาผู้ชายผู้หญิงจะต้องทำงานช่างไม้ ช่างเชื่อม ช่างปูน เป็นหมดมีการส่งไปสอบวัดทักษะฝีมือแรงงานได้ประกาศรับรอง
อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง อธิบายถึงหลักสูตรการเรียนที่จะมีการฝึกสอนทุกชั้นปีเพื่อให้ได้สัมผัสกับการสอนของจริง เริ่มตั้งแต่ปีหนึ่งที่จะเป็นคนสังเกตการณ์ ปีสองจะเป็นผู้ช่วยครู ปีสามจะเป็นครูสอนร่วมและ ปีสี่ที่จะได้สอนแบบเต็มตัว
ในช่วงระหว่างเรียนก็จะฝึกให้เขามีจิตอาสาร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเพราะเขาได้ทุนตรงนี้ได้โอกาสมากกว่าคนอื่น ก็ต้องตอบแทนโอกาสนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอจนเรียนจบ สามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ ซี่งจะมีกิจกรรมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึง ด้านกีฬาอย่างจอมบึงมาราธอนที่เขาสามารถมีส่วนร่วมอำนวยความสะดวกออกพื้นที่ไปช่วยวัดระยะทาง
อีกทั้งจะเห็นว่าที่ผ่านมาเด็กๆ ก็มักจะรวมตัวกันไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ พัฒนาชุมชน หรือ โรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการชวนพรรคพวกไปสร้างสนามกีฬา ทาสีอาคารเรียนในชนบท ซึ่งล้วนแต่ฝึกให้เขาเป็นคนที่เสียสละทำงานเพื่อชุมชนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในวันที่เขาไปเป็นครูอยู่ในพื้นที่
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค