วัยรุ่นบ้านแต้พัฒนาต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวย

วัยรุ่นบ้านแต้พัฒนาต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวย

“โอกาส” ในวิกฤติ COVID-19 วัยรุ่น “บ้านแต้พัฒนา”
เริ่มหันกลับมาทอผ้า ต่อลมหายใจ “ผ้าไหมชาวกวย”

เสียงกี่ทอผ้า ที่บ้านแต้พัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มกลับมาดังอีกครั้ง…​

จากอุปกรณ์ทอ “ผ้าไหมชาวกวย” ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ได้รับการหยิบจับมาใช้งานมานาน ตอนนี้หลายบ้านได้นำกลับมาปัดฝุ่นเริ่มใช้อีกงานอีกรอบ ที่สำคัญการเริ่มทอผ้าในช่วงนี้เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของคนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ที่ต้องการช่วยต่อลมหายใจภูมิปัญญาชุมชนที่เริ่มเลือนหายไป

แม้ว่าคนในท้องถิ่นบ้านแต้พัฒนา จะมีความผูกพันกับ “ผ้าไหมชาวกวย” มาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ด้วยวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป  ส่งผลให้การสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม การทอผ้าไหมของ “ชาวกวย” ​นับวันยิ่งหาคนทำได้ยากมากขึ้น

จนปัจจุบันความรู้ในการทอผ้าพื้นเมืองชนิดนี้ ​เหลือแต่เพียงผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไม่กี่คนเท่านั้น

 

ผ้าไหมชาวกวยคืออะไร

 “กวย”​ หรือ “กูย”​เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่มีอัตลักษณ์ด้านภาษา วัฒนธรรม และวิถี ชีวิต อาศัยอยู่อาณาบริเวณลุ่มน้ำโขงและเทือกเขาพนมดงรัก ผ้าไหมที่ทอโดยชาวกวยจะเป็นการทอผ้าแบบโบราณที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีสีสันลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ยิ่งกว่านั้นผ้าแต่ละผืนยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวกวย และยังเป็นของสำคัญในพิธีกรรมของชาวกวย ที่จะนำผ้าไหมที่ซึ่งทอขึ้นเองเป็นเครื่องบรรณาการไหว้ผีบรรพบุรุษที่พวกเขานับถือ ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ยิ่งนานวันการทอผ้าไหมของชาวกวยยิ่งลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

 

สร้างโอกาสและรายได้ให้เด็กว่างงาน​

กลุ่มโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสัง จ.ศรีสะเกษ ได้เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาในพื้นที่ที่กำลังสูญหาย และพยายามหาทางรักษาสมบัติล้ำค่าให้ยังอยู่คู่กับชุมชนต่อไป ด้วยการชักชวนเยาวชนในพื้นที่ให้หันมาเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง จนปัจจุบันมีเด็กกว่า 50 คนที่ เข้าร่วมโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

นอกจากความตั้งใจที่จะทำให้ “เด็กว่างงาน” ในพื้นที่ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว​อีกด้านก็ยังที่นี่ยังหยิบยื่น “โอกาส” ให้กับเด็กนักเรียนทั้งในระบบ และเด็กที่เรียนผ่านการศึกษานอกโรงเรียนมาร่วมโครงการ ผ่านการประชาสัมพันธ์ของผู้ใหญ่บ้าน และ การชักชวนกับแบบ “ปากต่อปาก” ในชุมชน

ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้ จึงถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาต่อลมหายใจให้กับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวกวยที่กำลังจะจางหายไปตามกาลเวลา

 

เปิดประตูรับเด็กตกงานจากพิษ COVID-19

ในจำนวนเด็กทั้งหมดนี้ มี 3 คนที่ปรับเปลี่ยนการทำงานจากการเป็นช่างทำสีรถยนต์ในเมือง แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นายจ้างตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราว

แต่ทว่ายังเป็นโชคดีของเด็กทั้ง 3 คน ที่เมื่อกลับบ้าน ได้เจอกับโครงการที่เปิดประตูต้อนรับเขาอยู่

“เด็กเขาก็รู้สึกมีพลังขึ้นนะ คือกลับมาบ้านแล้ว มีงานทำ มีบ้านอยู่ มีข้าวกิน ดูมีอนาคตหลังจากที่ตกงานเพราะพิษโควิด-19”  สิบเอกวินัย โพธิสาร หรือ ครูแอ๊ด  ประธานกลุ่มบอกกับเรา

รวมไปถึงกลุ่มเด็กที่ไม่มีงานทำในพื้นที่บางคนเที่ยวเล่นไม่ได้ทำอะไร​บางคนเตรียมตัวจะทิ้งบ้านเพื่อไปออกไปหางานทำในเมือง ตอนนี้พอมีงานมีรายได้ ก็ช่วยทำให้เขาไม่ต้องออกไปทำงานในต่างพื้นที่ สามารถอยู่บ้านช่วยดูแล สร้างความสุขให้ครอบครัว สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

 

เพื่อนสอนเพื่อนเข้าใจง่ายขึ้น

จากเงินสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ผ่านโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ​ “ครูแอ๊ด” นำงบประมาณที่ได้ไปใช้ในการซื้ออุปกรณ์ในการทำผ้า ทั้งเครื่องทอ และกี่  โดยให้เด็กจับกลุ่มๆละ 10 คน ทั้งหมด 5 กลุ่มตามประเภทของผ้า ประกอบด้วย ทอผ้าลายลูกแก้ว ทอผ้ามัดหมี่ ทอผ้าขาวม้าย้อมธรรมชาติ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่น 

ในแต่ละกลุ่มจะมีทั้งเด็กที่มีทักษะในการทอ และไม่มีทักษะใดๆ ปะปนกันไป โดยใช้วิธีการ “เพื่อนสอนเพื่อน” ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้

“การเรียนรู้ที่ให้เพื่อนสอนเพื่อน เพราะวัยเดียวกันสอนง่าย เข้าใจมากกว่าให้ผู้ใหญ่มาสอน  หนึ่งกลุ่มจะมีคนทำเป็น และคนทำไม่เป็นร่วมกันอยู่ ทำงานร่วมกัน สร้างให้เกิดการทำงานเป็นทีม แต่ละคนจะถนัดในงานที่ไม่เหมือนกัน บางคนถนัดย้อมสี บางคนถนัดทอผ้า”

 

ผ้าไหมแพงสุดราคาสูงถึงหลักหมื่น

กระบวนการผลิตจะเริ่มต้นจากการฟอกย้อมไหม การมัดหมี่ และย้อมสีธรรมชาติ ก่อนที่จะนำเส้นไหมที่ได้ไปทอเป็นผืนผ้า ซึ่งระยะเวลาในการผลิตผ้าไหมชาวกวยหนึ่งผืนจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลายที่ทำ โดยเด็กแต่ละคนจะมีรายได้มาจากสินค้าที่พวกเขาผลิตได้

“ผ้าหนึ่งผืน จะมีต้นทุนการผลิตที่ต่างๆกัน เช่น ผ้าไหมลายโบราณ มีต้นทุนการผลิตเฉพาะวัตถุดิบอยู่ที่ 1,000 บาท ค่าแรงประมาณ 700-800 บาท  สามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคา 2,500-3,000 บาทต่อผืน  บางผืนที่ทำลายยากๆราคาจะสูงถึงหลักหมื่น เฉพาะการทำสีต้องใช้เวลาเป็นเดือนแล้ว และผู้ทำจะต้องบอกเล่าเรื่องราวบนผืนผ้าได้ แต่ถ้าผ้าพื้นก็ทำได้เร็วกว่า”

แม้ว่าขณะนี้ผลิตภัณฑ์ในโครงการอยู่ระหว่างการผลิตด้วยความตั้งใจของเด็กๆ จึงยังไม่ได้วางจำหน่าย แต่ “ครูแอ๊ด” เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะสามารถจำหน่ายได้ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด มียอดสั่งจองเข้ามาเรื่อยๆ

ทว่าเหนืออื่นใด นอกจากตัวเงินที่เด็กกลุ่มนี้ได้รับแล้ว คือ ทักษะในการทอผ้าซึ่งเป็นต้นทุนของในชุมชน และ ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของชาวกวยที่ได้ถูกสืบสานต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค