ระดมกำลังวางแผนรองรับ มุ่งฝึกอาชีพระยะสั้น
ก่อนมองถึงการกลับสู่ระบบการศึกษา
จากที่จังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ในการเป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบ ใน โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคีในจังหวัด ตั้งแต่ส่วนปกครองจนถึงภาคธุรกิจเอกชน เพื่อเน้นการส่งต่อความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เข้าสู่กระบวนการ ค้นหา ฟื้นฟูเยียวยา และส่งต่อไปสู่การเข้ารับการศึกษาหรือได้รับการฝึกอบรมอาชีพ รวมถึงได้รับโอกาสในการคัดเลือกเข้าทำงานในภาคธุรกิจเอกชน
จนถึงปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า ที่ส่งผลกระทบไปถึงคนไทยทั้งประเทศทำให้เกิดการลดการจ้างงานหรือเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าหลังจากนี้จะมีจำนวนเด็กนอกระบบเพิ่มมากขึ้น ทางจังหวัดสุโขทัยและ กสศ. จึงได้เร่งวางแผนรองรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น โดยมองไปที่การจัดทำโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นในชุมชน เพื่ออย่างน้อยที่สุด กลุ่มเป้าหมายต้องพอมีรายได้เลี้ยงตัวเองในเบื้องต้น
สุทธิศักดิ์ เพ็ชรผึ้ง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดสุโขทัยได้ค้นพบเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 1, 072 คน พร้อมนำเด็กเข้ามาอยู่ในความดูแลได้แล้วในเบื้องต้น 500 คน และด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งกำลังส่งผลอย่างมากต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ ทำให้ภาคีทุกฝ่ายมีการตัดสินใจร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีแผนรองรับ เพื่อกันไม่ให้เกิดภาวะเด็กด้อยโอกาสเพิ่มจำนวนขึ้นหลังการระบาดผ่านพ้นไป
ดูแลเด็กครบทุกด้าน หวั่นผลกระทบโควิดทำด้อยโอกาสซ้ำซ้อน
ย้อนไปในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนทั่วประเทศจะเข้าสู่มาตรการล็อคดาวน์ จังหวัดสุโขทัยได้ระดมภาคีเครือข่ายทั้งภาคปกครองและภาคเอกชน วางแผนจัดการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพเป็นรายกรณีเอาไว้แล้ว โดยรองรับตามความเหมาะสมและความประสงค์รายคนของกลุ่มเด็กนอกระบบ ซึ่งมีทั้งการส่งเข้าสู่การศึกษาในระบบ กศน. และการฝึกอาชีพตามความสนใจ
นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายความช่วยเหลือที่เชื่อมต่อระหว่างภารกิจของแต่ละหน่วยงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เครือข่ายชุมชนอาสาสมัครในพื้นที่ ที่จะส่งข้อมูลผ่านระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนถึงจังหวัด ต่อเนื่องถึงภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนทั้งเงินทุน และเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้เข้าฝึกอาชีพ ทดลองงาน และจัดหางาน
แต่เมื่อถึงวันที่จำเป็นต้องปิดจังหวัดและมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แผนการเดิมที่วางไว้จึงต้องปรับเปลี่ยน โดยทางจังหวัดได้เบนเข็มปรับแผนเร่งเยียวยาให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่เป็นลำดับแรก และจะดำเนินขั้นตอนดังกล่าวไปจนกว่าสถานการณ์จะทุเลาลง เนื่องจากร้อยละ 55 ของเด็กกลุ่มนี้ คือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะความขาดแคลนทุนทรัพย์ ในสภาวะเช่นนี้พวกเขาจึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือพื้นฐาน ดังนั้นทางจังหวัดสุโขทัยและ กสศ. จึงมองไปที่การประคับประคองดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัย และส่งเสริมความพร้อมในระดับหนึ่ง เพื่อให้หลังจากนี้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กระบวนการส่งเด็กเข้าสู่การศึกษาหรือฝึกทักษะอาชีพจะเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้
“เรามองว่าสิ่งที่ต้องเตรียมการไว้คือ ทำอย่างไรให้เด็กและครอบครัวของเขามีรายได้โดยเร็วที่สุด นั่นเพราะภาวะที่จะตามมาหลังจากนี้ อาจจะทำให้มีเด็กอีกจำนวนมากเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น สำหรับตอนนี้ เราต้องคิดว่า ‘เด็กด้อยโอกาส’ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องรับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้นเราต้องทำให้เขาได้มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แล้วหลังจากนี้ เราจะมุ่งไปที่การฝึกทักษะอาชีพทั้งตัวเด็กและครอบครัว ในสาขาอาชีพที่จำเป็นและสามารถนำไปใช้ได้ทันที เพื่อให้เขามีรายเลี้ยงตัวก่อน จากนั้นจึงค่อยหาทางส่งเขาเข้าสู่การเรียนทั้งในระบบ หรือการศึกษานอกโรงเรียนเป็นลำดับถัดไป”
โดยผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาได้จัดเรียงลำดับความสำคัญที่ครอบคลุมในแต่ละด้านไว้ว่า ประการแรกคือความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข เด็กๆ และครอบครัวของพวกเขาต้องมีหน้ากาก แอลกอฮอล์ล้างมือ ด้านต่อมาคือเศรษฐกิจ ต้องมีอาหารและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และการดูแลทั้งสองด้านนี้ จะส่งผลไปที่การดูแลสังคมในภาพรวม เพราะเมื่อเขาไม่ขาดแคลนถึงระดับที่หาทางออกไม่ได้ การคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่จะก่อความเดือดร้อนให้สังคมก็จะไม่เกิดขึ้น
ถือเป็นอีกความตั้งใจหนึ่งของภาคีเครือข่ายโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ในการระดมความคิดเพื่อหาทางรับมือและป้องกันไม่ให้จำนวนเด็กนอกระบบพุ่งสูงขึ้นเท่าที่ทุกฝ่ายจะทำได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ เพื่อหวังว่าหลังการระบาดผ่านพ้นไป จะมีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการส่งกลับสู่การศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพได้ ตามแผนที่วางเอาไว้
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค