จากโครงการฝึกทักษะอาชีพที่เน้นไปเรื่องการปลูกผักด้วยความมุ่งหวังว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนและช่วยสร้างรายได้แบ่งเบาภาระผู้ปกครองในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำอย่างเต็มที่ทำให้ ปัจจุบันโครงการปลูกผักของ โรงเรียนบ้านยะบะ(อุปการวิทยา) อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ประสบความสำเร็จเกินเป้าสร้างรายได้เกิน 1 แสนบาท ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี ด้วยน้ำพักน้ำแรงของนักเรียนทั้งโรงเรียน
จุดเริ่มต้นมาจาก “ทุนเสมอภาค” หรือ เงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถือเป็นอีกกลไกสำคัญช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการหยิบยื่นโอกาสและความช่วยเหลือตรงไปถึงเด็กนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
แม้ในสายตาของคนทั่วไปเงิน 2,000 บาท จะไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่หากผ่านการจัดสรรที่ดี ก็สามารถช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ให้เด็กนักเรียนและครอบครัวได้ใช้ชีวิตได้สบายขึ้นและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น
โรงเรียนบ้านยะบะ(อุปการวิทยา) อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถือเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ของการจัดสรรเงินทุนเสมอภาคซึ่งจากนักเรียนทั้งหมด 580 คน มีเด็กที่ได้รับทุนประมาณ 250 คน ส่วนแรก 1,000 บาท จะมอบให้กับนักเรียน ส่วนที่สอง 1,000 บาทจะมอบให้โรงเรียนเพื่อไปจัดโครงการช่วยเหลือนักเรียน
ครูเอ๋–อรุณศรี หลงชู ครูพละศึกษาและสุขศึกษา โรงเรียนบ้านยะบะ(อุปการวิทยา) เล่าให้ฟังว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่นี่มีฐานะไม่ดี บางบ้านไม่มีเงินซื้อข้าวสาร บางวันเด็กไม่มีเงินติดตัวมาโรงเรียน ทางโรงเรียนก็มาคิดว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้เพื่อช่วยเหลืออย่างไร
เรื่องแรกที่ทำได้ก่อนก็คือนำเงินทุนที่ได้จาก กสศ. มาจัดเป็นโครงการอาหารเช้า ซึ่งจัดให้กับนักเรียนทั้ง 580 คนไม่ใช่เฉพาะแค่นักเรียนทุนเสมอภาค 250 คนเท่านั้น โดยหากเงินไม่พอทางโรงเรียนก็จะนำเงินส่วนของโรงเรียนเข้ามาสมทบเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีอาหารเช้าซึ่งจะมีทั้งข้าวต้ม ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด
“นักเรียนส่วนใหญ่ฐานะทางบ้านไม่ดี ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทานข้าวเช้ามา พอมีอาหารเช้าเด็กก็มีความสุขมากขึ้น อยากมาโรงเรียน เรียนหนังสือมีความสุข เมื่อก่อนเด็กไม่มีอาหารเช้า สมองก็ไม่เดิน เรียนไม่รู้เรื่อง ตอนนี้เรียนดีขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น เด็กอิ่มท้อง มีรอยยิ้ม”
แต่ในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่ดีเด็กหลายคนไม่ได้มาโรงเรียนเพราะไม่มีเงิน ทางโรงเรียนก็คิดหาทางสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ มาเรียน จึงนำมาสู่การฝึกอาชีพปลูกผัก ตั้งแต่มะเขือเปราะ แคนตาลูป บวบเหลี่ยม ฟักทองญี่ปุ่น ข้าวโพด เมื่อมีรายได้ก็เอามาหารแจกเด็กอีกรอบ จากเงิน 1 แสนบาท เด็กนักเรียนก็จะได้รายได้เพิ่มอีก 400-500 บาทต่อคน
“เด็กทุกคนก็พอทำเกษตรเป็นอยู่แล้วเพราะทุกบ้านก็มีพื้นฐานทำการเกษตร แต่อยู่บ้านเขาไม่ทำ เราก็ดึงเขามาทำเริ่มจากถางหญ้า พรวนดิน หาพันธุ์มาปลูก เน้นไปที่มะเขือเปราะที่มีความต้องการสูง 40 ก.ก. ต่อวัน เด็กก็ช่วยกันดูแลรดน้ำเช้าเย็น ตอนเช้าก็ไปช่วยกันเก็บครูก็เอาไปส่งที่ร้าน และก็จัดประกวดแปลงไหนผักสวยก็จะได้เงินรางวัลพิเศษตรงนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนอีกทาง”
ตอนนี้นักเรียนทุกคนมีรายได้เพิ่ม ได้แบ่งเบาภาระผู้ปกครองเราก็บอกผู้ปกครองไปว่าตอนนี้ยางถูก ขายไมได้ราคาก็หันมาปลูกมะเขือจะสร้างรายได้มากกว่า เขาก็มาขอพันธุ์เราก็ให้พันธุ์ไปลองปลูก นักเรียนก็มีความรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติก็สามารถกลับไปปลูกที่บ้านได้
“ตอนเริ่มต้นมันก็เหนื่อย ต้องเริ่มจากไม่มีอะไร ถางหญ้าเอง จนตอนนี้โครงการประสบความสำเร็จ เราก็ภูมิใจที่ช่วยให้เด็กได้มีรายได้เพิ่ม บางคนอาจมองว่า 400-500 อาจไม่เยอะ แต่สำหรับเด็กถือว่าเยอะ ตรงนี้คุ้มแล้วสำหรับการรับราชการได้เงินเดือนจากภาษีประชาชน เราก็ต้องทำงานทดแทนคืนให้กับเด็ก ทดแทนเป็นแรงเราไม่มีเงินเป็นแสนให้เขาเราก็ต้องทำตรงนี้” ครูเอ๋ กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค