“กรณีที่เด็กกลับมาจากต่างถิ่นและออกจากโรงเรียนแล้ว ซึ่งจะไม่มีอยู่ในรายชื่อสำรวจ เราต้องกำชับทีมงานที่พร้อมลงพื้นที่ให้เตรียมเพิ่มรายชื่อเด็กกลุ่มนี้ ให้อยู่ในรายการช่วยเหลือทันที”
ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องออกจากงาน หลายคนที่จากบ้านไปทำงานนอกพื้นที่จึงเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยไม่มีความชัดเจนว่าจะได้กลับไปทำงานอีกครั้ง กลายเป็นสาเหตุให้เด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ตามครอบครัวไปเรียนในต่างถิ่น อาจต้องกลายเป็นเด็กนอกระบบโดยปริยาย
คณะทำงานใน โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี ที่ร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ดำเนินงานสำรวจกลุ่มเด็กที่อาจต้องหลุดจากระบบการศึกษาในกรณีนี้เพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะไม่อยู่ในรายชื่อของกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นที่สำรวจพบแล้ว และได้เตรียมการส่งเข้าเรียนหรือฝึกอาชีพได้แล้วในส่วนหนึ่ง
ผศ.ดร.อินทิรา ซาฮีร์ ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า การเก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบในจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นล่าช้าด้วยสถานการณ์น้ำท่วมหนักทั่วทั้งจังหวัดเมื่อปลายปี 2562 จนเมื่อหลังน้ำลดแล้วโครงการจึงเริ่มเดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง โดยสำรวจในพื้นที่ 5 อำเภอต้นแบบ และได้ตัวเลขของเด็กชุดแรกเกือบ 400 คน แต่ก็กลายเป็นว่าเกิดสถานการณ์ COVID-19 จนการทำงานต้องชะงักอีกครั้ง ขณะที่ทางทีมงานมีความกังวลว่าอาจมีเด็กที่หลุดจากระบบเพิ่ม จากกลุ่มคนที่ไปทำงานนอกพื้นที่ต้องกลับบ้าน และนำเด็กในวัยเรียนกลับมาด้วย
อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ประชากรมาก และมีคนวัยทำงานจำนวนหนึ่งที่โยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในหลายจังหวัดทั่วประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ “คือเด็กจากครอบครัวที่เขาลำบากจริงๆ พอโตถึงระดับหนึ่ง เขาจะออกไปทำงานนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดทางชายทะเลตะวันออก การลงพื้นที่ค้นหาเด็กจึงค่อนข้างช้า เพราะต้องละเอียดเรื่องข้อมูลว่าเด็กอยู่ในพื้นที่หรือไปทำงานต่างถิ่นแล้ว
“กรณีหนึ่งที่ตอนนี้ทีมงานกังวลกัน คือกลุ่มคนที่เขาออกไปทำงานต่างถิ่นแล้วพาครอบครัวไปด้วย ตอนนี้ COVID-19 ทำให้พวกเขาตกงาน เขาก็พากันเดินทางกลับบ้าน ทีนี้พอกลับมา เขาจะนำลูกหลานที่ยังเรียนอยู่กลับมาด้วย เด็กกลุ่มนี้เขาไปเรียนใกล้สถานที่ทำงานของพ่อแม่ พอเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ เด็กก็ต้องออกจากโรงเรียนแล้วยังไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อไหม”
แบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 กลุ่มหลัก เรียนเพื่อวุฒิการศึกษา และ ฝึกทักษะอาชีพเฉพาะทาง
ในส่วนของเด็กที่สำรวจพบแล้ว และแสดงความประสงค์ว่าต้องการความช่วยเหลือ ผู้รับผิดชอบโครงการบอกว่าส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องออกจากโรงเรียนขณะยังไม่จบมัธยมต้น หรือจบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งการช่วยเหลือจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ ส่งกลับสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกทักษะอาชีพ
“ในส่วนที่ต้องเรียนต่อ เบื้องต้นเราทำงานควบคู่กับทีม กศน. จังหวัดและ กศน. อำเภอ ที่เขาช่วยเราตั้งแต่งานเก็บข้อมูล เพื่อนำเด็กที่หลุดกลางคันเข้าเรียน กศน. ให้ได้วุฒิ ม.3 หรือ ม.6 ก่อน แล้วค่อยดูเป็นรายคนว่าจบแล้วเขาจะเรียนต่ออะไร ส่วนกลุ่มที่ต้องฝึกอาชีพ เราได้ประสานสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมจัดอบรมอาชีพตามความสนใจ แต่ยังมีส่วนที่เราต้องคิดคือบางอำเภอไม่มีศูนย์หรือโรงเรียนฝึกอาชีพ ถ้าเด็กจะเรียนต้องเข้ามาในเมือง เราก็กำลังดูว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ไม่ให้การที่เขาออกนอกถิ่นมาแล้วต้องเจอปัญหาอื่นซ้ำซ้อนไปอีก คือเราต้องระวังเรื่องรายละเอียดการวางแผนช่วยเหลือด้วย”
กำชับทีมเก็บข้อมูล สำรวจเด็กทุกคนแม้อยู่นอกรายชื่อสำรวจ
ดังที่ ผศ.ดร.อินทิรา บอกไว้แต่ต้นว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจทำให้มีเด็กนอกระบบเพิ่มขึ้นในจังหวัด ในช่วงนี้การประสานงานกับทีมงานในพื้นที่ จึงเน้นที่การตรวจสอบรายชื่อเด็กเพื่อสำรวจสถานะ ก่อนรอเวลาลงสัมภาษณ์เชิงลึกหลังสถานการณ์คลี่คลาย
“เด็กนอกระบบบางทีเขาจะมีชื่อเข้าๆ ออกๆ อยู่ตลอด บางคนอาจเพิ่งหลุดเทอมก่อน รายชื่อเขายังค้างในระบบ เราก็ไม่รู้ หรือบางคนมีชื่อเป็นเด็กนอกระบบ แต่เขาลงทะเบียนเรียน กศน. ไว้แล้ว เราก็ต้องตรวจสอบแล้วทำให้รายชื่อกลุ่มเป้าหมายชุดแรกสมบูรณ์ที่สุด แล้วรอเวลาให้การล็อคดาวน์ผ่านไปเพื่อเข้าไปพบเด็กในพื้นที่”
และที่สำคัญคือ กรณีที่เด็กกลับมาจากต่างถิ่นและออกจากโรงเรียนแล้ว ซึ่งจะไม่มีอยู่ในรายชื่อสำรวจ เรื่องนี้ทางผู้รับผิดชอบโครงการบอกว่า ได้กำชับทีมงานที่พร้อมลงพื้นที่ให้เตรียมเพิ่มรายชื่อเด็กกลุ่มนี้ ให้อยู่ในรายการช่วยเหลือทันที โดยต้องหาเด็กที่ย้ายกลับบ้านมาแล้วยังไม่มีที่เรียนให้พบ เพราะบางคนอาจไปเกิดที่จังหวัดอื่น หรือย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านไปที่อื่นแล้ว แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ หลายครอบครัวต้องกลับบ้านหลังจากไปทำงานที่อื่นมานาน ดังนั้นจะต้องสำรวจกันให้ละเอียดที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครตกหล่นแม้แต่คนเดียว
เป็นอีกหนึ่งการเฝ้าระวังกลุ่มเด็กที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะผลกระทบของ COVID-19 ซึ่ง ผศ.ดร.อินทิรา ย้ำว่า เรื่องนี้สำคัญมากเพราะตอนนี้เป็นช่วงปิดเทอม จะมีเด็กที่ตามพ่อแม่ไปในที่ต่างๆ ทั้งเพื่อไปหางานทำในพื้นที่ใหม่ และกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาไปตั้งหลัก ซึ่งเด็กๆ อาจจะไม่ได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนเดิมอีกแล้ว ขณะที่บางครอบครัวต้องทิ้งเด็กไว้กับปู่ย่าตายายก่อนที่จะลงหลักปักฐานกับงานใหม่ได้ เด็กกลุ่มนี้เองที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือทันที ก่อนที่เขาจะกลายเป็นเด็กนอกระบบอย่างเต็มตัวในปีการศึกษาถัดไป
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค