ตั้งแต่วัยเด็ก เรามักได้ยินคำพูดที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และอาชีพเกษตรกรนั้นก็ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
แต่ในยุคสมัยนี้ความเป็นจริงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจากอดีต ปัจจุบันเกษตรกรคืออาชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกหลายต่อหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาล ฝนฟ้าอากาศ หรือราคาพืชผลในท้องตลาด ปัจจัยที่มากมายและผันผวนเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาและฝากความหวังไว้กับรายได้จากผลผลิตแต่เพียงอย่างเดียว
หลายครัวเรือนที่มีอาชีพเกษตรกรรมจึงมักจะมีอาชีพเสริมพ่วงอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างทั่วไป การทำงานฝีมือออกมาขาย หรือแม้แต่การย้ายเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อหางานทำระหว่างฤดูกาล ซึ่งรายได้จากอาชีพเสริมเหล่านี้เป็นหนึ่งในเงินที่จุนเจือชีวิตประจำวัน เป็นเงินเก็บสำหรับทุนการศึกษา หรือใช้เพื่อลงทุนในอนาคต
แต่ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นขาลง ทำให้งานหายากขึ้น อัตราการว่างงานก็เยอะขึ้นตามมา ปัญหาความยากจนจึงทวีความรุนแรง จังหวัดอุทัยธานีนับว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากความสถานการณ์เศรษฐกิจนี้อย่างมาก นอกจากงานที่ยากขึ้น ความต้องการของนายจ้างก็เรียกร้องทักษะและความสามารถจากแรงงานที่สูงขึ้น ซึ่งแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ ไม่มีต้นทุนเพียงพอที่จะยกระดับองค์ความรู้และทักษะของตัวเองขึ้นมาได้ เพราะการศึกษาในระดับสูงจำเป็นต้องใช้ต้นทุนทางการเงิน
แล้วช่องว่างที่เหลื่อมล้ำนี้จะถูกเติมเต็มได้อย่างไร?
‘วิทยาลัยชุมชน’ คือคำตอบ เพราะวิทยาลัยชุมชนคือสถาบันการศึกษาที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือคนที่ด้อยโอกาส เพื่อให้พวกเขาได้รียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการยกระดับฝีมือให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือ นำไปประกอบอาชีพอิสระที่สร้างรายได้ให้กับตัวเอง
วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีจึงได้ริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแบบองค์รวมโดยบูรณาการองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี’ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบในจังหวัดอุทัยธานี ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็นการทอผ้านั้นก็มาจากหลายปัจจัย อันดับแรกเลยคือองค์ความรู้เรื่องการทอผ้านั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวอุทัยธานีได้ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ประวัติศาสตร์การทอผ้าของคนอุทัยธานีนับว่าเกิดขึ้นมาช้านานย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยฯ มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับวิถีของผู้คนอย่างแยกจากกันไม่ได้ ลายผ้าของชาวอุทัยธานีนั้นเป็นดั่งจดหมายเหตุที่บอกเล่าเรื่องราวของสังคม ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การนำเอาจุดเด่นและเอกลักษณ์ของชุมชนมาสร้างเป็นหลักสูตรเพื่อคนในชุมชนนั้น นอกจากจะทำให้ความแข็งแรงเชิงวัฒนธรรมเกิดขึ้นในชุมชนแล้ว ยังเป็นการ ‘สร้างมูลค่า’ ทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย โครงการของวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีนี้จึงมีความน่าสนใจ และสามารถเป็นแนวทางให้กับชุมชนอื่นๆ ในสังคม ที่อยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมของตัวเอง พร้อมๆ ไปกับแก้ปัญหาการว่างงานของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแบบองค์รวมโดยบูรณาการองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี
วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี
- โทร: 087-1991128
- ผู้ประสานงาน: นางสาวปนัสขนันชา สุขสำราญ
เป้าประสงค์
แรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มรับจ้างทั่วไป จำนวน 150 คน ได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ สามารถนำความรู้และทักษะอาชีพไปใช้ประกอบอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนได้
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส