Banner
ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่งแปลง
เชียงใหม่

ชุมชนบ้านช่างแปลง 8 ฟื้นเทคนิค ‘ผ้าทอจก’ ที่ทั้งช่วยสืบทอดวัฒนธรรมและยังหารายได้เข้าชุมชนได้ด้วย

เมืองไทยคือประเทศที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมของผ้าที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะหลากด้ายชนิดของผ้า หลายด้วยเทคนิคการทอ ซึ่งแต่ละภาค แต่ละชุมชนหรือกลุ่มวัฒนธรรม ก็มีเอกลักษณ์แบบฉบับของตัวเอง แต่เทคนิคหนึ่งที่นับว่าขึ้นชื่อและได้การยอมรับว่าเป็นการทอที่ ‘ยาก’ และต้องใช้ฝีมือมากที่สุดชนิดหนึ่งคือการทอแบบ ‘จก’

การจกคือวิธีการสร้างลายให้กับผ้าผืนที่กำลังทอ โดยปกติแล้วจะใช้ ‘นิ้วก้อย’ ในการจกเส้นด้ายยืนขึ้นมาเพื่อสอดเส้นด้ายพุ่งสีพิเศษเข้าไปตามจุดที่ต้องการ ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่แปลกตาสวยงามซึ่งวิธีการทอแบบอื่นไม่สามารถทำได้ การทอแบบจกนิยมใช้กับการทอผ้าไหม บ้างก็ผ้าฝ้าย โดยสามารถนำไปตัดทำเป็นผ้าปูโต๊ะ ผ้าพันคอ หรือใช้ในการสวมใส่ก็ได้เช่นกัน

ด้วยความที่การจก เป็นเทคนิคที่ยากและใช้เวลาในการทอต่อผืนนานกว่าการทอแบบอื่นๆ ทำให้ผู้ที่ยังสืบสานเทคนิคชนิดนี้เหลือจำนวนไม่มาก หนึ่งในนั้นคือนางแสงเดือน เปี้ยตั๋น อดีตนักอาสาพัฒนาชุมชน ที่ได้ตกหลุมรักการทอผ้าและมาขอเรียนวิชาการทอจกจากอดีตปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน

นางแสงเดือนใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ในการเรียนรู้เทคนิคการทอชนิดนี้ จากนั้นก็ได้ขวนขวายตามหา ‘ลายผ้าโบราณ’ ที่ใช้กับเทคนิคการทอจก เช่น ลายลาวแอ้ สายกุดตาแสง ลายหงส์เครือ ลายกุดลาวหลวง ลายดอกแก้ว ลายกุดสูน โดยเธอพยายามแกะลายเหล่านั้นออกมาเพื่ออนุรักษ์และสืบสานลายผ้าเหล่านี้ให้ไม่หายไปกับกาลเวลา

นี่จึงเป็นที่มาของการต่อยอดวัฒนธรรมท้องที่มาจากองค์ความรู้ในชุมชนเอง ซึ่งนางแสงเดือนก็ได้ผลิตผลงานลายผ้าทั้งโบราณ และลายผ้าสมัยใหม่ จนคนในชุมชนได้เห็นคุณค่าและเข้ามาร่วมกันก่อตั้งเป็นกลุ่มพัฒนาอาชีพที่มีรากฐานจากคนในชุมชนเอง

ปัจจุบันนางแสงเดือน เปี้ยตั๋นได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านชั่งแปลง 8 เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้และทักษะการทอผ้าไหมแก่คนที่สนใจ เพราะโดยปกติแล้วการทอผ้านับว่าเป็น ‘งานเสริม’ ที่แม่บ้านหลายคนทำ ยามที่ว่างเว้นจากงานด้านเกษตรกรรม เพื่อหารายได้เข้ามาช่วยเหลือในครัวเรือน

ประจวบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีราคาพืชผลการเกษตรได้ตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านหลายคนขาดรายได้หลักที่เคยมีจากการเกษตร กลุ่มทอผ้าบ้านชั่งแปลง 8 จึงได้เล็งเห็นโอกาสที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเกษตกร โครงการ ‘พัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีพื้นฐานการทอผ้าในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

กลุ่มเป้าหมายหลักที่จะทำงานร่วมกับโครงการคือแม่บ้านเกษตรกรที่มีปัญหาด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ โดยทุกคนจะได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการทอ การบริหารจัดการ การออกแบบลายผ้าใหม่ๆ ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ไปจนถึงขั้นตอนการขาย ซึ่งตลอดหลักสูตรจะใช้เวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

การก่อตั้งโครงการนี้ขึ้นมานับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในวิธีการสืบสานเทคนิคการทอที่มีมาแต่โบราณแล้ว ยังเป็นช่องทางการหารายได้ให้กับชุมชนที่ยอดเยี่ยมด้วย หากมองไปยังมูลค่าของผ้าทอจกในท้องตลาดตอนนี้ ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในผ้าที่มีราคาสูง ด้วยความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ ผลิตขึ้นยากและต้องใช้เวลานาน ทำให้ผ้าชนิดนี้ไม่เคยหมดสเน่ห์ไปจากความต้องการของคนเลย

ชุมชนบ้านช่างแปลง 8 ฟื้นเทคนิคผ้าทอจก

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีพื้นฐานการทอผ้า ในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่งแปลง

  • โทร: 085-6243976
  • ผู้ประสานงาน: นางแสงเดือน เปี้ยตั๋น

เป้าประสงค์

  1. เพื่อให้กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีทักษะทอผ้าจก เพื่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
  2. เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
  3. เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่ผ้าทออำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส