บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทามีประชากรที่ประกอบอาชีพอยู่ 2 รูปแบบ คือทำงานในภาคการเกษตรและเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ รวมถึงกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมก็เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่อื่น ส่งผลต่อมาเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทำให้วิสาหกิจแม่ทา SE ได้เริ่มคิดหาหนทางในการช่วยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน
สิ่งที่วิสาหกิจชุมชนได้สร้างเป็นแนวความคิดตั้งต้นคือ ‘การจะรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงและผันผวนของปัจจัยภายนอกให้ได้ เราต้องมีความเข้มแข็งจากภายในเสียก่อน’ หรือก็คือกลุ่มประชากรในพื้นที่ควรจะต้องสร้างรายได้จากทรัพยากรที่เป็นต้นทุนของชุมชนเองให้ได้ และต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายภายในชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในจุดนี้วิสาหกิจชุมชนจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยประสานสิ่งที่ชุมชนต้องการผ่านการร่วมมือกับอีก4 วิสาหกิจชุมชนใกล้เคียงคือ วิสาหกิจชุมชนผ้าทอกะเหรี่ยงแม่ขนาด กลุ่มสวนอินทรีย์ฟ้ารักษ์ดิน และวิสาหกิจวิถีมอญหนองดู่
- การพัฒนาทักษะการทำผ้าทอกะเหรี่ยง
- การพัฒนาทักษะอาชีพที่เหมาะกับผู้สูงอายุซึ่งสัมพันธ์กับวิถีมอญ
- การพัฒนาทักษะอาชีพที่เหมาะกับเกษตรกรซึ่งสัมพันธ์กับวิถีลุ่มน้ำ
- การพัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่
หลังจากที่โครงการได้ดำเนินงานมาระยะนึงแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้พบความก้าวหน้าของกลุ่มเป้าหมายในหลายด้าน เช่น มีทักษะของผู้ประกอบการมากขึ้น มีการรวมกลุ่มที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการพัฒนาอาชีพ มีการหันกลับมามองต้นทุนของชุมชน เช่น การปลูกผักกินเอง การทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงทางโครงการก็ได้เห็นศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายบางคนที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแกนนำของกิจกรรมต่อไปในอนาคตได้
แนวคิดการกลับมาต่อยอดและสร้างรายได้จากต้นทุนเดิมของชุมชนเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมความยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่สำคัญและควบคู่มาด้วยก็คือการปกปักรักษาต้นทุนเหล่านี้ให้งอกงามสืบต่อไป ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าหลังจากที่กลุ่มสมาชิกได้ผ่านการฝึกฝนอบรมตามหลักสูตรที่ตนเองสนใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพของชุมชนไปในทิศทางใดบ้าง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะในการสร้างงาน บนฐานของนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา
วิสาหกิจชุมชนแม่ทาSE (กิจการเพื่อสังคมแม่ทา)
- โทร: 081-5308735
- ผู้ประสานงาน: นางสาวพฤติพร จินา
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนา ยกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- ระดับที่ 1 สามารถมีทักษะในการประกอบอาชีพ หรือความสามารถในการสร้างงานด้วยตนเองได้ บวกกับต้นทุนที่แต่ละคนมี โดยใช้ฐานนิเวศน์ของแต่ละชุมชนที่มีอยู่ดูแลซึ่งกันและกัน
- ระดับที่ 2 ส่งเสริมและสนับสนุน การทำงานร่วมกันแบบกลุ่มภายในชุมชนของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือเชื่อมกับกลุ่มต่างๆที่มีภายในชุมชน สู่ชุมชนที่ไม่ทอดทิ้งกัน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส