Thailand 4.0 ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของนโยบาย แต่เป็นเรื่องของยุคสมัยที่กำลังเดินหน้าและก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อทุกภาคส่วนของประเทศไทย รวมถึงกลุ่มแรงงานซึ่งเป็นฟันเฟืองของสังคม โดยโลกยุค 4.0 นี้ เรียกร้องทักษะที่แตกต่างจากโลกยุคก่อน ทำให้แรงงานในประเทศหลายกลุ่มต้องปรับตัวและยกระดับตัวเองขึ้นมาให้เท่าทัน
จังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากที่สุดหลังถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจากนโยบายของภาครัฐ ความเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมโอกาสมากมายที่แรงงานในพื้นที่จะสามารถคว้าเอาไว้ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม คือหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนจึงได้เห็นความสำคัญในการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพขึ้นมา เพื่อสอดรับกับการพัฒนาของจังหวัด
โครงการพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมแสตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดนครพนม จึงได้ถูกจัดทำขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือกลุ่มผู้ว่างงานจำนวน 150 คน ในพื้นที่จังหวัดนครพนม
หลักสูตรที่สำคัญของโครงการนี้คือการยกระดับคุณค่ามนุษย์ด้วยการพัฒนาให้เป็น ‘มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21’ โดยในช่วงเริ่มต้นที่มีการจัดทำหลักสูตร โครงการได้ลงพื้นที่ 3 ครั้ง เพื่อเฟ้นหากลุ่มเป้าหมาย ค้นหาศักยภาพของชุมชน และตั้งเวทีวิพากษ์หลักสูตรเพื่อร่วมพัฒนากับกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง จนได้หลักสูตรสำหรับการจัดอบรมพัฒนาทักษะช่างเชื่อมแสตนเลสขึ้นมาหนึ่งชุด
หลักสูตรที่โครงการได้จัดทำขึ้นประกอบไปด้วย 3 หัวข้อหลัก คือ 1.สร้างเป้าหมายชีวิตด้วยแรงบันดาลใจ 2.พัฒนาทักษะการเชื่อมแสตนเลสตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นปฏิบัติการ 3.การเป็นผู้ประกอบการอาชีพช่างเชื่อมแสตนเลส โดยตลอดทั้งหลักสูตรผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องใช้เวลาในการอบรมทั้งสิ้น 40 ชั่วโมง
การฝึกฝนและอบรมของโครงการได้ดำเนินผ่านมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้โครงการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมายที่มีทักษะการเชื่อมแสตนเลสอย่างเชี่ยวชาญมากขึ้น มีแรงบันดาลใจและเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และสามารถต่อยอดทักษะเหล่านี้ไปเป็นระดับของผู้ประกอบการได้ในอนาคต
ในทุกความเปลี่ยนแปลง ย่อมสร้างโอกาส จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยพัฒนาอาชีพในชุมชนจะต้องก้าวตามให้ทันและมีส่วนร่วมในการยกระดับฝีมือของแรงงานในพื้นที่ เช่นเดียวกับคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ที่ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพฯ ขึ้นเพื่อก้าวตาม ‘ต้นทุน’ ที่เปลี่ยนไปของ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ จังหวัดนครพนม
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัด นครพนม
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม
- โทร: 084-6012183
- ผู้ประสานงาน: นายบุญเลิศ โพธิ์ขำ
เป้าประสงค์
- สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพและ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
- ผู้ที่ผ่านการอบรม การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลส รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ สู่Thailand 4.0 สามารถไปขอเข้ารับการทดสอบยกระดับฝีมือแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้
- เกิดการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครพนม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคนิคนครพนม และ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ในการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้ได้มาตรฐานและสามารถสร้างความเข้มแข็งด้านการแข่งขันในตลาดแรงงานได้
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส