Banner
การพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง
แม่ฮ่องสอน

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนเปิดโครงการสอนการบริหารโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการทำเกษตรพื้นที่สูง ต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม ‘So Lo Mo’ ที่ชอบสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ

หากพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สัมผัสวัฒนธรรม และได้เรียนรู้อัตลักษณ์ความเป็นมาของท้องถิ่น การเลือกท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวสายรักธรรมชาตินิยมไปกัน เนื่องด้วยแม่ฮ่องสอนมีทั้งธรรมชาติที่สวยงามและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ประกอบทั้งยังมีชาวชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียนประเพณีวัฒนธรรมของตัวเองไว้อย่างแน่นแฟ้น อย่างไรก็ดี แม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นที่ต้องตาต้องใจนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว อีกทั้งชุมชนยังมีต้นทุนทางธรรมชาติ แต่กลับยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

ด้วยเหตุดังกล่าว โครงการการพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง ภายใต้หน่วยพัฒนาอาชีพวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงถูกจัดตั้งขึ้น โดยมุ่งหวังพัฒนาและส่งเสริมการตลาดแก่ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ในชุมชนให้มีคุณภาพ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น รวมไปถึงส่งเสริมการทำเกษตรแบบแม่นยำและฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้จากแหล่งทุนเดิมของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 

โดยโครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินงานในพื้นที่ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวคือ พื้นที่การเรียนรู้ชุมชนด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้แก่ บ้านป่าแป๋ บ้านละอูบ บ้านลุกข้าวหลาม  และพื้นที่ในเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่การเรียนรู้ชุมชนด้านเกษตรพื้นที่สูง ได้แก่ บ้านดง บ้านอมพาย รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 67 คน

จากการดำเนินโครงการในระยะแรกนั้น ทางหน่วยพัฒนาฯ ได้เน้นพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการท่องเที่ยวและอาหารพื้นถิ่นเป็นหลัก เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรและมีอาชีพเสริมด้านการให้บริการท่องเที่ยวในชุมชน กล่าวคือกลุ่มเป้าหมายนั้นมีต้นทุนทางด้านทรัพยากรอาหารและมีความหลากหลายของพืชผักและอาหารพื้นถิ่นสูง ทางหน่วยพัฒนาฯ จึงได้มีการจัดอบรมการทำอาหารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Gastronomy Tourism) หรือโภชนาการท้องถิ่น นอกจากนั้นแล้วกลุ่มเป้าหมายยังให้ความสนใจในการแปรรูปอาหารและการพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวด้านอาหารพื้นถิ่น รวมถึงให้ความสำคัญการรักษาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่งผลให้ผลผลิตและอาหารมีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค

หน่วยพัฒนาฯ จึงได้มีร่วมมือกับเชฟวิทยากรที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญมาเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้กับประชาชน โดยโครงการได้ให้กลุ่มเป้าหมายจากชุมชนบ้านแม่ละนา บ้านจ่าโบ่ บ้านลุกข้าวหลาม บ้านผามอน อำเภอปางมะผ้าและบ้านดง อำเภอแม่ลาน้อย บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียนรู้จำนวน 5 โมดูล ได้แก่ 1.การออกแบบแผนการทำ เมนู เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร 2.แผนการจัดการแปรรูปอาหาร 1 ชนิด เพื่อการตลาดของพื้นที่ 3.การเตรียมวัตถุดิบในการประกอบอาหาร 4.การจัดเมนูและขั้นตอนการปรุง 5.การพัฒนาเมนูประจำบ้าน โลโก้และแบรนด์ 

ผลจากการจัดการเรียนรู้ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการท่องเที่ยว เมนูและโภชนาการพื้นถิ่น ผ่านการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ในพื้นที่ชุมชน ทั้งยังได้พัฒนาโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารและเมนูพื้นถิ่นเพื่อนำไปทดลองด้านการตลาดให้กับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น

จากการเรียนรู้ดังกล่าวพบว่าบางชุมชนมีศักยภาพในการพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวด้านอาหารพื้นถิ่นในรูปแบบเชฟส์เทเบิล (Chef’s Table) ที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ ส่งผลให้โครงการนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษาสถาบันด้านอาหารชื่อดังในประเทศสิงคโปร์ The Culinary Institute of America (CIA) ที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านโภชนาการและอาหารพื้นถิ่นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้โครงการยังได้เครือข่ายความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้าและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ในการสนับสนุนบุคลากรเป็นวิทยากรจัดการเรียนรู้ด้านเกษตรแม่นยำและฟาร์มอัจฉริยะในช่วงถัดไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

การพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง

  • โทร: 088-6514959
  • ผู้ประสานงาน: นายทรงศักดิ์ ปัญญา

เป้าประสงค์

  1. ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และเกษตรกรมีทักษะแรงงานที่ได้มาตรฐานและมีความชำนาญสำหรับการประกอบอาชีพเเละการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต
  2. ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 30 จากการเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์เเละผลผลิตทางการเกษตร
  3. ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับวุฒิทางการศึกษาระดับสัมฤทธิ์บัตรชุดวิชา
  4. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ชุมชนเป็นฐานการประกอบอาชีพตามความถนัดและสามารถพึ่งพาตนเองได้
  5. ได้รูปแบบการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เเละด้อยโอกาสและนำไปขยายผลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส