เสื่อกก หนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นที่สำคัญของตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นการนำต้นกกมาสานเป็นเสื่อสำหรับรองนั่งที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม แต่จะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกกให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ลดหนี้ มีเงินออม พร้อมรับมือและสอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่กำลังหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนั้น โครงการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกก ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง จึงถือเกิดขึ้น เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในออกแบบลวดลาย เพิ่มทักษะการค้าขาย ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ โดยใช้ชุมชมเป็นฐานสู่การพัฒนาพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและมีความสุข
ในเบื้องต้น โครงการเริ่มจากการชักชวนแกนนำทั้ง 6 คนจาก 3 หมู่บ้านในตำบลบ้านแดง ได้แก่ บ้านแดง หมู่ที่ 1 บ้านทม หมู่ที่ 5 และบ้านโนนบก หมู่ที่ 6 มาหารือถึงแนวทางการดำเนินงานและร่วมกันหาสมาชิกกลุ่ม ก่อนจะเริ่มประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนสมาชิกในหมู่บ้านของแต่ละคนมาเข้าร่วม จนสามารถรวมตัวกันได้มากถึง 150 คน โดยมีตั้งแต่ แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
หลังจากรวบรวมกลุ่มเป้าหมายสำเร็จ คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดงได้จัดการอบรมภาวะผู้นำให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ในเรื่องการพูด การแสดงออก และการแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นการพูดเพื่อจูงใจหรือชักชวนให้ลูกค้าสนใจซื้อเสื่อกก สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านในตำบลบ้านแดง
นอกจากนั้น หน่วยพัฒนาฯ ยังได้พากลุ่มเป้าหมายไปศึกษาดูงานการทอเสื่อกกแบบลวดลายและแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นน ที่บ้านนาโป่ง ต.ทรายมูล อ.ทรายมูล จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอเสื่อกกแบบลวดลาย และการแปรรูปผลิตภัณฑ์
พร้อมกันนั้น ทางคณะกรรมพัฒนาสตรีบ้านแดงยังได้เชิญภาคีเครือข่าย อาทิ นายก อบต. โรงเรียน รพ.สต. ศูนย์ กศน.ตำบลบ้านแดง และผู้นำชุมชน 3 หมู่บ้าน พช.อ.ตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี มาร่วมรับฟังความคิดเห็นและสังเกตการณ์ตลอดการดำเนินโครงการอีกด้วย ส่งผลให้ชุมชนเกิดการสร้างภาคีเครือข่ายผู้นำ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลและกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ความสนใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพ
ผลการดำเนินงานช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพิ่มทักษะพัฒนาอาชีพให้ประสบความสำเร็จ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการผลิตและการบริการเพื่อต่อยอดการเสริมสร้างพัฒนาอาชีพและส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยทุนเดิมจากชุมชนเอง
“จากเมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีการรวมกลุ่มและไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กัน หลังจากที่มีกลุ่มส่งเสริมพัฒนาการทอเสื่อ ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รวมกลุ่มและมาประชุมรวมกัน 3 หมู่บ้านและได้พบปะพูดคุยกันมากขึ้น กลุ่มเป้าหมายมีความสุขที่ได้มาเรียนรู้มาทำงานร่วมกัน เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ รวมถึงมีแนวคิดในการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” คือคำบอกเล่าจากพี่เลี้ยงของหน่วยพัฒนาฯ ต่อโครงการดังกล่าว
จากเมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีการรวมกลุ่มและไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กัน หลังจากที่มีกลุ่มส่งเสริมพัฒนาการทอเสื่อ ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รวมกลุ่มและมาประชุมรวมกัน 3 หมู่บ้านและได้พบปะพูดคุยกันมากขึ้น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกก ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง
- โทร: 080-0010168
- ผู้ประสานงาน: นางสีดา พิทักษา
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดง เกิดความรัก ความสามัคคี ในหมู่คณะ
- ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดงสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น
- ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดง มีงาน มีเงิน สามารถอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส