หากใครที่เคยไปชุมชนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในกรุงเทพ อาจพอคุ้นเคยกับหมูกระดาษ หมูน้อยตาหวาน สีแดงสดใส ผลิตภัณฑ์งานฝีมือขึ้นชื่อที่โด่งดังได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นอย่างมาก แต่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าหมูกระดาษนั้นคือผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 100 ปี และมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวของป้าน้อย ธนธรณ์ ธงน้อย ผู้สานต่องานศิลปะจากบรรพบุรัษจนกลายเป็นอาชีพที่โด่งดัง
โดยเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่บริเวณชุมชนวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งเดิมมีหมูอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ค่อยๆ หายไปทีละตัวเพราะถูกขโมย ทำให้เจ้าอาวาสตัดสินใจย้ายหมูไปอยู่ที่อื่น ด้วยความระลึกถึงหมู คุณพ่อของป้าน้อยผู้ที่เติบโตในชุมชนแห่งนี้ได้ประดิษฐ์หมูกระดาษตัวแรกขึ้นจากการนำความสามารถด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองใส่ลงไป ทำให้เกิดเป็นหมูกระดาษ สัญลักษณ์คู่วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร
มาในรุ่นของป้าน้อยที่เคยเป็นลูกมือช่วยคุณพ่อคุณแม่ในสมัยก่อน จนตอนนี้ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำหมูกระดาษยุคใหม่ ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตัวเองลงไปในผลิตภัณฑ์ โดยประดิษฐ์ตัวหมูให้มีความอ้วนกลมขึ้น ดวงตาเพิ่มความหวาน และหางหมูก็ได้นำวัสดุเหลือใช้อื่นๆ นอกจากกระดาษ เช่น ลูกปัด ไหมพรม มาเพื่อเพิ่มสีสันและผิวสัมผัส เป็นตัวช่วยเรียกลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ดี ผลิตภัณฑ์หมูกระดาษนี้มีตั้งแต่ตัวเล็กที่ทำเป็นกระปุกออมสินไปจนถึงตัวใหญ่ที่เด็กๆ สามารถขึ้นไปนั่งได้ ทำให้หมูกระดาษของป้าน้อยมีผู้คนอุดหนุนเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ในชุมชนแขวงหิรัญรูจี แขวงวัดกัลยาณ์และแขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงของชุมชนที่ป้าน้อยอยู่อาศัยนั้นมีปัญหาการว่างงานสูง ประกอบกับวิกฤติโควิด 19 ทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สถาบันการศึกษาที่มีความคุ้นเคยกับชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงมีความคิดที่อยากจะสนับสนุนให้เกิดอาชีพขึ้นในชุมชน ประจวบเหมาะกับป้าน้อยในฐานะผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์หมูกระดาษ เพียงเจ้าเดียวในชุมชน ต้องการจะสืบทอดรากเหง้าความรู้นี้ให้กับคนรุ่นใหม่ นำไปหารายได้และสืบสานงานฝีมือก่อนที่จะเลือนหายไป จึงเกิดเป็น ‘โครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพและสร้างผู้ประกอบการผู้ผลิตหมูกระดาษรายใหม่ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร’
โดยโครงการฯ ได้รวบรวมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานนอกระบบและผู้สูงอายุจากชุมชนมาได้ 100 คน ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การประดิษฐ์หมูกระดาษ ซึ่งนอกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและป้าน้อยแล้ว โครงการฯ ได้วางแผนกิจกรรมการเรียนรู้นี้ร่วมกับกศน. แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตธนบุรี เพื่อให้กิจกรรมครั้งนี้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ในทุกๆ ด้าน
โดยโครงการได้วางแผนพัฒนาทักษะในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทักษะด้านการจัดหาวัสดุ และทักษะด้านการจัดการบัญชีรายรับรายจ่ายและการวางแผนการใช้เงินอย่างเป็นระบบ
หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายเกิดความสามารถในผลิตแล้ว จะมีการจัดกลุ่มออกไปจัดจำหน่ายสินค้าในสถานที่จริง เพื่อทดลองตลาดและสร้างประสบการณ์การขาย เพื่อที่ในช่วงท้ายของโครงการจะมีการถอดบทเรียนและเปลี่ยนปัญหาและแนวทางการแก้ไข พร้อมกับจัดทำคู่มือในการดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ที่สนใจในการประดิษฐ์หมูกระดาษในอนาคต
เมื่อชุมชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้และต่อยอด นำมาสู่การสร้างรายได้ สร้างอาชีพขึ้นในการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาครั้งนี้ โครงการฯ จึงมุ่งหวังว่าในอนาคตหมูกระดาษจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการคืนชีวิตให้กับชาวชุมชนแขวงหิรัญรูจี แขวงวัดกัลยาณ์และแขวงบางยี่เรือ ที่สืบทอดเรื่องราวในอดีตของชุมชน นำกลับมาเล่าใหม่ในรูปแบบของสิ่งของ และหวังว่าโครงการฯ นี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลังในชุมชนในการนำไปถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในอนาคตต่อไป
ในอนาคตหมูกระดาษจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการคืนชีวิตให้กับชาวชุมชนแขวงหิรัญรูจี แขวงวัดกัลยาณ์และแขวงบางยี่เรือ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพและสร้างผู้ประกอบการผู้ผลิตหมูกระดาษรายใหม่ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม)
- โทร: 063-665-4596
- ผู้ประสานงาน: ผศ.วชิรศักดิ์ เขียนวงศ์
เป้าประสงค์
1.สร้างรายได้ให้กับให้กับแรงงานนอกระบบและผู้สูงอายุ โดยที่รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าและมีทักษะที่มีความชัดเจนและความชำนาญในเรื่องการผลิตหมูกระดาษ
2.สร้างทักษะอาชีพการจัดการผลิตภัณฑ์หมูกระดาษ เป็นการฝึกกลุ่มเป้าหมายให้มีทักษะอาชีพที่มีความชำนาญและสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์นั้นๆ ให้กับผู้อื่นได้
3.สร้างทักษะการบริหารการจัดการการตลาด กลุ่มเป้าหมายได้รับทักษะทางด้านเทคนิค (Technical Skills) ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Human Skills) ทักษะด้านความคิดรวบยอด (Conceptual Skills) ทางด้านการจัดการตลาด
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส