Banner
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่

กลุ่ม ‘ฟาร์มแพะนางฟ้า’ ปรับโฉมแบรนด์ครั้งใหม่ตามอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้มองเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่หลังกล่องนม

น้ำนมแพะเป็นน้ำนมที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมวัว จากตลาดที่ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ชาวบ้านในตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นิยมเลี้ยงแพะเพื่อขายน้ำนมกันมากขึ้น จนสามารถก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฟาร์มแพะนางฟ้าได้สำเร็จ ทั้งยังนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้อย่างแท้จริง กล่าวคือ นำวัตถุดิบในชุมชนเป็นพื้นฐานในการสร้างงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษา จนปัจจุบันสามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงแพะในชุมชนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า วิสาหกิจชุมชนชะงักงัน ผลิตภัณฑ์นมแพะไม่สามารถส่งออกได้ ถูกค้างสต็อก จากการสั่งซื้อที่ลดลง ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเล็งเห็นว่าหากทางวิสาหกิจชุมชนฟาร์มแพะนางฟ้า ควรได้รับการอบรมทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ เพื่อที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่นมแพะซึ่งเป็นวัตถุดิบของชุมชนนี้ ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพเดิมต่อไปได้ 

โครงการ ‘การพัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะในวิสาหกิจชุมชนตำบลแม่แรม’ ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ได้พัฒนาร่วมกับหน่วยงานภาคี เช่นศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มาเป็นเวลาหลายปี มาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีความต้องการของชุมชนเป็นฐาน มีความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของชุมชน สามารถป้อนผลิตผลทางการเกษตรให้กับวิสาหกิจต่อไปในการเลี้ยงแพะ เพิ่มองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด มีคุณภาพดี และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำการผลิตที่ได้มาตรฐานและขยายฐานการตลาด สามารถนำไปจำหน่ายแข่งขันกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าในตลาดทั่วไปได้ 

สำหรับด้านกลุ่มเป้าหมายของโครงการดังกล่าว ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คัดเลือกจากกลุ่มสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนฟาร์มแพะนางฟ้าเป็นหลัก ก่อนจะขยายไปยังชุมชนในหมู่บ้านหมู่บ้านปางอีกา ซึ่งเป็นประชากรในกลุ่มชนเผ่าปกาเกอญอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนคริสเตียนที่ทำการเกษตรในพื้นที่สูง และกลุ่มเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษในด้านการศึกษาการส่งเสริมพัฒนาการและทักษะการประกอบอาชีพ รวมทั้งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนของคนในชุมชน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 70 คน 

โดยโครงการได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยภาคปฏิบัตินั้น มุ่งให้มีความสามารถที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะออกมาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น  ได้แก่ ชีสมอสซาเรลลา ไอศกรีมบาร์ และโยเกิร์ตนมแพะ ซึ่งเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์มีชีวิต ช่วยส่งเสริมการทำงานของร่างกายให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น สำหรับด้านทฤษฎีหรือการอบรมนั้น มุ่งเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์สินค้า ออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และชุมชน ให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น  

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนั้น มีการสร้างกลไกในการขับเคลื่อนระบบการผลิตและสามารถแปรรูปน้ำนมแพะให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งถือเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนของชุมชน และสามารถแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความพอเพียง ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ มีอาชีพ มีรายได้เสริม ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนสังคมแวดล้อมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นในท้ายที่สุด

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเล็งเห็นว่าหากทางวิสาหกิจชุมชนฟาร์มแพะนางฟ้า ควรได้รับการอบรมทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ เพื่อที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่นมแพะซึ่งเป็นวัตถุดิบของชุมชนนี้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะในวิสาหกิจชุมชนตำบลแม่แรม

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 094 2711235
  • ผู้ประสานงาน: นางธารารัตน์ ชือตอฟ

เป้าประสงค์

1.สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่แม่แรมมีองค์ความรู้และทักษะในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะเพื่อเพิ่มมูลค่า
2.กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้ที่มีรายได้น้อยหรือในพื้นที่ชุมชนตำบลแม่แรมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะอาชีพในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส