Banner
คณะพยาบาลศาสตร์ (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงวัยคณะพยาบาศาสตร์)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สงขลา

คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการเยาวชนบริบาล เพื่อสร้างอาชีพให้เยาวชนด้อยโอกาสในยุคสมัยแห่งสังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการมีประชากรอายุ 60 ปีมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม 

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงเรื่อย ๆ แต่อีกด้านหนึ่ง เยาวชนในฐานะที่เป็นอนาคตของชาติ ทุกวันนี้กลับไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร โดยเฉพาะในภาคการศึกษา  

เช่นเดียวกับ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมืองศูนย์กลางด้านการค้าและธุรกิจของภาคใต้ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเป็นประตูผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปัจจัยที่ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า คือ การเป็นศูนย์กลางทางด้านต่าง ๆ ธุรกิจการค้า การขนส่ง การสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยว ถึงอย่างนั้นก็ยังหนีไม่พ้น การที่ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเยาวชนไม่ได้โอกาสทางการศึกษา 

เพื่อเตรียมรับมือกับบริบทสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย จึงได้จัดตั้ง “โครงการการพัฒนาเยาวชนบริบาลเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ: กรณีศึกษาอำเภอหาดใหญ่” โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายหลักและการตรวจสอบคุณสมบัติในการเป็นเยาวชนบริบาล ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกจากเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ไม่เกินการศึกษาภาคบังคับหรือ ม. 3 เพื่อสนับสนุนการมีรายได้ในการพึ่งตนเอง และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเป็นผู้ด้อยโอกาส

ซึ่งการส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในโครงการฯ ครั้งนี้ ย่อมมีความสำคัญในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพิ่มความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันการการส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุด้วย ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่หล่อหลอมจิตพฤติกรรมจริยธรรมด้านความกตัญญูของเยาวชน ซึ่งเป็นการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพแก่สังคมด้วย

สำหรับแนวทางการพัฒนาอาชีพ โครงการฯ ได้ออกแบบเนื้อหาและหลักสูตรสำหรับการอบรมเพื่อการเป็นเยาวชนบริบาลให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยประกอบไปด้วยขั้นตอนการพัฒนาสำคัญ 5 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 การปลูกฝังคุณสมบัติที่ดีของผู้ดูแล 

ขั้นตอนที่ 2 การปลูกฝังความมีคุณค่าในตนเองและการมีเป้าหมายชีวิต 

ขั้นตอนที่ 3 การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะการดูแลมิติจิตสังคม และจิตวิญญาณแก่ผู้สูงอายุ 

ขั้นตอนที่ 4 การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะการดูแลด้านร่างกาย และการจัดสิ่งแวดล้อม

ขั้นตอนที่ 5 การจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนบริบาลในการบริบาลผู้สูงอายุด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ 

นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังได้มีการประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เช่น ระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และตำบล ศูนย์สาธารณสุข โรงพยาบาลสางเสริมสุขภาพ สภาเด็กและเยาวชน (พม.) และโรงเรียนประจำตำบล เป็นต้น

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การพัฒนาอาชีพและพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของโครงการฯ ในครั้งนี้คือ ส่งเสริมเยาวชนบริบาลให้มีคุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญู มีเป้าหมายที่ดีในการดำเนินชีวิต ดังนั้น ทางโครงการฯ จึงคาดหวังว่า กลุ่มเป้าหมายจะสามารถนำความรู้และทักษะ ประสบการณ์ที่ได้กลับไปใช้ในการดูแลตนเอง สมาชิกในครอบครัว และผู้สูงอายุในชุมชน สู่การพัฒนากำลังคนที่ดีและเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ พร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

 

การส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในโครงการฯ ครั้งนี้ ย่อมมีความสำคัญในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพิ่มความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันการการส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาเยาวชนบริบาลเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ: กรณีศึกษาอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

คณะพยาบาลศาสตร์ (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงวัยคณะพยาบาศาสตร์)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • โทร: 081-8983304
  • ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.จารุวรรณ กฤตย์ประชา

เป้าประสงค์

1. เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้และทักษะของเยาวชนบริบาล ในการดูแลผู้สูงอายุด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์

2. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์จากเยาวชนบริบาล

3. เพื่อพัฒนานวัตกรรมการสร้างเครือข่ายเยาวชนบริบาล ในการบริบาลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส