ขนมจีน แม้มีคำว่า ‘จีน’ ในชื่อ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนแต่อย่างใด ว่ากันว่าขนมจีนมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขนมจีนเป็นอาหารดังเดิมของชาวมอญหรือรามัญที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย โดยชาวบ้านเรียกเจ้าแป้งกลมๆ ที่ทำจากข้าวแล้วจัดเรียงเอาไว้เป็นกลุ่มๆ ขนาดประมาณหนึ่งฝ่ามือนี้ว่า ‘คนอมจิน’ ซึ่งในภาษามอญ คำว่าคนอม แปลว่า จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนจิน แปลว่า สุก ต่อมาคนไทยเราได้เรียกเพี้ยนมาเป็น ‘ขนมจีน’ ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในอาหารหลักที่ได้รับความนิยมสูงแพร่หลายไปทุกภาคทั่วประเทศไทย
ที่ ชุมชนบ้านสวน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรและค้าขายเป็นอาชีพหลัก แต่มีหนึ่งอาชีพที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างน่าสนใจ คือ การขายเส้นขนมจีน เนื่องจากเป็นอาหารที่คนท้องถิ่นนิยม ที่สำคัญยังเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ถ่ายทอดความรู้และวิธีการทำจากรุ่นสู่รุ่น เอกลักษณ์เส้นขนมจีนของชาวพัทลุงจะมีความเหนียวยืดหยุ่นและมีความนุ่มกว่าที่อื่น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการของตลาดเนื่องจากคุณภาพดี สด และรสชาติอร่อย อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลพบว่าการทำขนมจีนของชาวบ้านยังคงมีอุปสรรค กล่าวคือ กลุ่มทำขนมจีนบ้านสวนยังมีกระบวนการผลิตที่มีความซ้ำซ้อน มีการใช้แรงงานเกินความจำเป็นและไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย
ดังนั้น หากมีการใช้นวัตกรรมที่ถูกต้องจะลดขั้นตอนทั้งสามเหลือเพียงหนึ่งขั้นตอน และจะสามารถทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้ในเวลาที่น้อยลง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จึงได้จัด “โครงการฝึกอบรมและพัฒนากรรมวิธีการผลิตแป้งขนมจีน เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพแก่แรงงานนอกระบบ” เพื่อศึกษาพัฒนาวิธีการผลิตแป้งขนมจีน ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงพอกับความต้องการของตลาด นำไปสู่การส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น แรงงานนอกระบบในชุมชนเอง
โครงการฯ ได้อาศัยหลักการและทฤษฎีทางการปรับปรุงประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยเริ่มวิธีการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย
- จำลองวิธีการผลิตเส้นขนมจีนแบบเดิม
- ออกแบบเครื่องแช่ ล้าง และลำเลียงเม็ดข้าวสาร
- สร้างเครื่องแช่ ล้าง และลำเลียงเม็ดข้าวสาร
- ทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องแช่ ล้าง และลำเลียงเมล็ดข้าวสาร เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างความเหมาะสมและก่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หากการบูรณาการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยและชุนชนเสร็จสมบูรณ์ กล่าวคือ การจัดฝึกอบรม การพัฒนากรรมวิธีการผลิตแป้งขนมจีนเพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพงอกงามเป็นประสบการณ์และทักษะติดตัวให้กับกลุ่มเป้าหมายได้จริง โครงการฯ ก็คาดว่า พวกเขาจะผลิตแป้งขนมจีนด้วยกระบวนการและกรรมวิธีที่สะดวก ลดต้นทุน สร้างราย และถูกสุขลักษณะอนามัยได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้วางแผนและขยายตลาดให้มากขึ้นสู่ตำบลและอำเภออื่นๆ ภายในจังหวัดพัทลุงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะยิ่งผลักดันและก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้อยากปฏิบัติตาม กลายเป็นวงจรส่งเสริมและสร้างความรู้อย่างไม่สิ้นสุด
หลังจากผ่านการอบรมแล้ว กลุ่มเป้าหมายยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้วางแผนและขยายตลาดให้มากขึ้นสู่ตำบลและอำเภออื่นๆ ภายในจังหวัดพัทลุงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะยิ่งผลักดันและก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้อยากปฏิบัติตามด้วย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ฝึกอบรมและพัฒนากรรมวิธีการผลิตแป้งขนมจีน เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพแก่แรงงานนอกระบบ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี)
- โทร: 095-4410956
- ผู้ประสานงาน: นายกฤษฎา คงพูน
เป้าประสงค์
1.เพื่อศึกษา พัฒนาและปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตแป้งขนมจีน ตามวิถีชาวบ้านสวน ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
2.เพื่อลดต้นทุนการผลิตแป้งขนมจีนและเพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้นเพียงพอกับความต้องการของตลาด
3.เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
4.เพื่อลดปัญหาการยุ่งเกี่ยวและมั่วสุมกับอบายมุข ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส