“เมืองบางขลัง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยงทางประวัติศาสตร์ สืบเนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณกาล เนื่องจากกำเนิดขึ้นมาร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย และเมืองเก่าศรีสัชนาลัย อีกทั้งเมืองบางขลังยังมีชื่อปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม ศิลาจารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม พงศาวดารโยนก และหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ จนอาจกล่าวได้ว่าเมืองบางขลังเป็นจุดกำเนิดประเทศไทย เนื่องด้วยศิลาจารึก หลักที่ 2 วัดศรีชุม ด้านที่ 1 สรุปได้ว่า
‘พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองยกทัพมารวมพล ซ้อมรบกันที่เมืองบางขลัง และเกณฑ์นักรบเมืองบางขลังเข้าตียึดเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย’
อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในเมืองบางขลังต้องซบเซาลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบกับวิถีท่องเที่ยวโดยชุมชนของชาวเมืองบางขลังโดยตรง เทศบาลตำบลเมืองบางขลัง จึงต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คนในชุมชนมีทางเลือกด้านการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้นในยุคที่การออกจากบ้านเป็นอุปสรรค
“โครงการสร้างทักษะอาชีพเมืองบางขลังโดยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 คน ซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส เนื่องจากพวกเขาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรง ทางโครงการฯ จึงเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาทักษะและความรู้ด้านการประกอบอาชีพตามความถนัด และมีศักยภาพสำหรับพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ให้แก่พวกเขา ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
โดยระยะแรกของโครงการฯ ทางหน่วยพัฒนาอาชีพได้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ชมรมท่องเที่ยว คณะสงฆ์ และส่วนราชการ ภายใต้บริบทของชุมชน ก่อนจะพบว่าทักษะอาชีพที่ควรส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ควรเป็นทักษะที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และมีตลาดรองรับที่สามารถปูทางไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเองที่ต้องการจะเพิ่มพูนทักษะอาชีพที่สอดรับกับบริบทชุมชน ต้องการสร้างรายได้ให้พออยู่ได้ ภายใต้สถาบันทางสังคมที่เข้มแข็ง
ทางโครงการฯ จึงได้จัดอบรมและมอบองค์ความรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและธรรมชาติจากชุมชนเอง อันได้แก่ การทำดอกไม้จันทน์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วยและผักตบชวา การปลูกไผ่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ซึ่งทักษะอาชีพทั้งหมดผ่านกระบวนการวิเคราะห์มาแล้ว ว่ามีตลาดรองรับจริง และสามารถประกอบเป็นอาชีพระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
กล่าวคือ การทำดอกไม้จันทน์ที่ต้องใช้ในงานศพ โดยคณะทำงานขอความร่วมมือกับเจ้าอาวาสวัดขอนซุง ซึ่งเป็นวัดในชุมชน รณรงค์ให้เจ้าภาพงานศพใช้ดอกไม้จันทน์จากกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วยและผักตบชวานั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพราะต้นกล้วยเป็นวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน และการนำผักตบชวามาแปรรูป ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนประการหนึ่ง เนื่องจากผักตบชวามีมากจนอัดแน่นแหล่งน้ำ บดบังไม่ให้แสงแดดส่องลงไปเพิ่มออกซิเจน ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย
ในขณะที่การปลูกไผ่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ นอกจากจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีหน่อไม้ไว้กินและขายแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เสริมจากการนำตอกไผ่มาสานเป็นเครื่องสานต่าง ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ที่อยากลดการบริโภคเครื่องใช้จากพลาสติก
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โครงการฯ มีความพยายามที่จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการประกอบอาชีพดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ ตั้งแต่กระบวนการผลิต ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งเสริมการตลาดที่เน้นตลาดออนไลน์เป็นหลัก ภายใต้การสนับสนุนของภาคีเครือข่าย อาทิ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมืองบางขลัง และพัฒนาชุมชน อำเภอสวรรคโลก เป็นต้น
โดยคาดหวังว่า หากโครงการฯ ประสบความสำเร็จ การพัฒนาของกลุ่มเป้าหมายจะช่วยส่งเสริมให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลตำบลเมืองบางขลังเป็นจริง ในแง่ของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเอง เพื่อมุ่งไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งในอนาคต ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ทักษะอาชีพที่ควรส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ควรเป็นทักษะที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และมีตลาดรองรับที่สามารถปูทางไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
สร้างทักษะอาชีพเมืองบางขลังโดยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
เทศบาลตำบลเมืองบางขลัง จังหวัดสุโขทัย
- โทร: 081-7278161
- ผู้ประสานงาน: นายวิทยา เกษรพรหม
เป้าประสงค์
- มีทีมพี่เลี้ยงที่มีทักษะ สามารถทำงานแทนเทศบาล ต่อยอดการพัฒนาตำบลเมืองบางขลัง
- แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ และคนพิการ มีทักษะอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย ผักตบชวา ทำดอกไม้จันทน์ รู้จักวิธีการปลูกและดูแลต้นไผ่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
- มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ประจำตำบลที่ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นมาผลิต
- มีรูปแบบในการพัฒนาทักษะต่อยอดอาชีพอื่นในชุมชน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส