ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน
บุคลากรจากสายอาชีพชั้นสูงถือเป็นกำลังคนที่มีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาและสร้างความมั่งคั่งให้กับภาคการผลิตและเศรษฐกิจ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเริ่มจัดตั้งโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
จุดนี้เองจึงนำมาสู่โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” มีลักษณะเป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
หนึ่งในตัวเลขที่สะท้อนถึงปัญหา
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สำคัญ คือ
ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด ร้อยละ 20 ประมาณ 160,000 คน ในจำนวนนี้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 5 หรือประมาณ 8,000 คน ต่อรุ่น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครัวทั่วไปที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาประมาณร้อยละ 32 เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมไทย
ภารกิจหลักด้านหนึ่งของ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. คือ
การช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ ด้วยงบประมาณจำกัด เราคิดค้นวิธีการลงทุนเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ให้ถูกจุด เริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าการเรียนรูปแบบไหน ที่สร้างโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มนี้มากที่สุด และยังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย
เป้าหมายของโครงการ
- เยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูง
- สร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาความสามารถและคุณภาพชีวิตของเยาวชน
- สนับสนุนการผลิตบุคลากรสายอาชีพชั้นสูงที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
- เสนอแนะมาตรการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
สาขาที่สนับสนุน
ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มีกระบวนการคัดเลือกที่เปิดกว้างต่อสถาบันการศึกษาสายอาชีพทุกสังกัดที่มีการจัดการเรียนการสอนในสาขาดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 1 สาขา
- สาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)
- สาขาที่ขาดแคลนในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่สถาบันการศึกษาตั้งอยู่
- สาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM)
การสนับสนุน
- ทุนพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ผ่านการพิจารณาประมาณ 50 แห่ง เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมโอกาสการทำงานของผู้รับทุน
- ทุนการศึกษาแก่นักเรียนจำนวน 2,500 ทุน ที่ผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัด โดยแบ่งเป็นทุน 3 ประเภท คือ
- ทุน 5 ปี สำหรับนักเรียนชั้น ม.3 ให้เรียน ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับ ปวส.
- ทุน 2 ปี สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 หรือ ปวช. 3 ให้เรียน ปวส. / อนุปริญญาสายอาชีพ
- ทุน 1 ปี สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 หรือ ปวช.3 ให้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยทันตแพทย์
- กิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสถาบันการศึกษาและผู้รับทุน การสนับสนุนเชิงวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการทำงานระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ
ตลอดเส้นทางการศึกษา เยาวชนผู้ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มีโอกาสที่ดีใน 3 เรื่องสำคัญ คือ
- ได้เรียนรู้กับนายจ้างและปฏิบัติการจริง
- ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ และทักษะอนาคต
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ กสศ. ยังทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพในลักษณะพันธมิตรเพื่อปฏิรูปคุณภาพการจัดการเรียนการสอนสร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะ และทักษะอาชีพตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนควบคู่กัน
กสศ. ได้คำนวณผลตอบแทนของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากนักเรียน นักศึกษา ผู้รับทุน 2,500 ทุน ในปีแรก จากข้อสมมติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงอายุ 60 ปี จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรืออัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 10
เป้าหมาย
ในปีการศึกษา 2565 มีสถานศึกษาสายอาชีพได้รับคัดเลือกเข้าโครงการจำนวน 116 สถานศึกษาสายอาชีพ 44 จังหวัด ครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย และมีเยาวชนจากครัวเรือนที่ยากจนได้รับทุน จำนวนประมาณ 9,427 ทุน โดยมีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนที่ยากจนที่สุดของประเทศมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
ผลการดำเนินงานทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
ดาวน์โหลด
ข้อมูลเพิ่มเติม
FAQ
คำถามที่พบบ่อยของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง