“เปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก” ปาฐกถา “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” โอกาสพลิกความเสมอภาคทางการศึกษา

“เปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก” ปาฐกถา “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” โอกาสพลิกความเสมอภาคทางการศึกษา

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561  ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล  ประธานอนุกรรมการกองทุนและกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเปิดงานประชุมงานรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความ เสมอภาคทางการศึกษา ที่คณะคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้กล่าวถึงที่มา ความสำคัญ ความคืบหน้า รวมทั้งเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา และ ความเสมอภาคทางการศึกษา

ในการปฏิรูปประเทศเรื่องที่มีความสำคัญและท้าทายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ “การปฏิรูปการศึกษา” ดังที่ท่าน ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยกล่าวไว้ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญว่า “..การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ  ปัญหาในสังคมไทยมีผลสืบเนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน..”

ความสำคัญของเรื่องนี้ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียง 1 ใน 2 เรื่องที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยตามรัฐธรรมนูญ ม. 261 กำหนดให้มี “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา”(กอปศ.) และม. 54 กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

“ความเสมอภาคทางการศึกษา” ซึ่งเป็นชื่อที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เลือกใช้เป็นชื่อของกองทุนนี้  เพราะต้องการที่สะท้อนให้เห็นถึง ความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษา เกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะเป็นปัจจัยรากฐานที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อม ล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนบทความไว้อย่างน่าสนใจ ความตอนหนึ่งว่า “รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือผู้ ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ.. ถ้าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ อยู่หมัดได้ในระยะยาว ก็ต้องใช้การเข้าถึงการศึกษา กองทุนช่วยเหลือคนยากจนนี้จึงมีความสำคัญมาก”

ที่ผ่านมาเราพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายโอกาส แต่เป็นการเน้นผลที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นปลายเหตุ ขณะที่การทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นเหตุ

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบัน

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกองทุนและฝ่ายเลขาฯเกือบ 20 คน ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ผลการวิจัย ตลอดจนปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีประสบการณ์ตรง รวมทั้งลงพื้นที่รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งมีข้อเท็จจริง 3 ประการ

หนึ่ง ปัจจุบันแม้มีการใช้งบประมาณด้านการศึกษาแต่ละปี สูงถึง 5 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณในแต่ละปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังพบเห็นได้ในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย และที่น่าเป็นห่วง คือบางพื้นที่ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มแย่ลง

สอง ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่ไม่อยู่หรือหลุดจากออกจากระบบการศึกษาขั้น พื้นฐานมากกว่า 670,000 คน หรือราว 5% ของเด็กในวัยเรียนจากการลงพื้นที่พบว่าเด็กจำนวนมากเข้าเรียนช้า เพราะผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาและกำลังทรัพย์ บางคนแม้อายุถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียน ก็ยังไม่ไปแจ้งเกิดเสียด้วยซ้ำ เด็กจำนวนอีกไม่น้อยขาดเรียนบ่อย เพราะไม่มีค่ารถ หรือไม่มีเครื่องแบบจะใส่ไปโรงเรียน อีกหลายคนแม้มีศักยภาพและมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อ แต่ก็ต้องออกจากระบบ เพราะครอบครัวไม่มีกำลังที่จะสนับสนุน ตัวอย่างเหล่านี้ ถือเป็น “การเสียโอกาสชีวิต” ที่น่าเสียดายองค์การยูเนสโก ประเมินว่าการที่เด็กไทยที่มีศักยภาพ แต่ต้องหลุดออกจากระบบ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

สาม ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนมากกว่า 2 ล้านคน ที่ครอบครัวมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท หรือวันละ 100 บาทเท่านั้น แต่การจัดสรรงบประมาณสำหรับเด็กกลุ่มนี้มีเพียงปีละ 3,000 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นวันอยู่ที่ 5-15 บาท หรือ เพียงร้อยละ 0.5 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด และงบส่วนนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา แม้งบประมาณด้านการศึกษาในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ข้อ เท็จจริงข้อนี้ เป็นที่มาที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปรียบเทียบว่า “เด็กด้อยโอกาสที่ขาดแคลน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 50 สตางค์สุดท้าย”

ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ

เป้าหมาย และ แนวทางการดำเนินการของกองทุน

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ใช้ข้อมูลเหล่านี้กำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินงาน โดยหวังว่ากองทุนนี้จะช่วยให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นในสังคมไทย ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาและการพัฒนาโดยปราศจากความ เหลื่อมล้ำตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ

กลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นของกองทุนแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ครอบคลุมเด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจน เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบการศึกษา นักเรียนยากจนและด้อยโอกาสในระบบการศึกษา เยาวชนและประชาชนที่ยากจนและต้องการการพัฒนาศักยภาพ ครูและสถานศึกษาผู้ดูแลเด็กเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายของกองทุน จำนวนประมาณ 4.3 ล้านคน ซึ่งหวังว่า ถ้าการดำเนินงานเป็นไปตามที่คาด ในการช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา สามารถยืนบนขาตัวเอง ตัวเลข 4.3 ล้านคนนี้จะทยอยลดลงตามลำดับ และหมายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะดีขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการของกองทุนจะคำนึงถึงหลักการที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

  1. ความคุ้มค่า แก้ไขปัญหาที่ต้นทาง กองทุนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาในระยะต่อไปของชีวิต ซึ่งงานวิจัยจำนวนมาก อาทิงานของ Professor James Heckman นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษาที่ได้รับ Nobel Prize ชี้ว่างบประมาณที่ใช้สำหรับการศึกษาในระดับปฐมวัยโดยเปรียบเทียบไม่มาก แต่จะเกิดประโยชน์และให้ตอบแทนสูงและคุ้มค่า  โดยกองทุนจะสนับสนุนเงินอุดหนุนแก่เด็กปฐมวัยให้มากขึ้น เฉลี่ยประมาณวันละ 25-50 บาท/คน ตามระดับความยากจน
  2. จัดลำดับความสำคัญและมุ่งประสิทธิภาพ ด้วยกลุ่มเป้าหมายของกองทุนในปัจจุบันได้รับงบประมาณช่วยเหลือเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 0.5 ของงบการการศึกษารวม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ใช้ชีวิตและเข้าสู่ระบบ การศึกษาอย่างเป็นปกติได้ คณะกรรมการฯ เสนอให้จัดสรรงบประมาณราว 25,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 5 ของงบประมาณการศึกษาในแต่ละปี โดยขอให้ความสำคัญเด็กกลุ่มนี้ก่อน ซึ่ง motto ที่คณะกรรมฯ มักจะใช้ คือ“ขอเปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก”อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะของบประมาณเพิ่มเติมในภาพรวม เพราะตระหนักดีว่างบประมาณด้านการศึกษาในปัจจุบันถือว่าสูงแล้ว เมื่อเปรียบกับมาตรฐานนานาชาติ กล่าวง่ายๆ คือ ถ้างบประมาณด้านการศึกษาในปัจจุบัน คือ 100 บาท“ขอ 5 บาทแรกจาก 100 บาทเดิม ไม่ได้ขอเพิ่มเป็น 105 บาท”แนวทางของกองทุนจะเน้นการใช้งบประมาณให้ตรงจุดและการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าสำเร็จและได้รับการสนับสนุน “กองทุนจะเป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม” แก่เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนหลายล้านคน
  3. ดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีการกำกับดูแลที่รอบคอบ โดยจะใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริง (Evidence-based) นวัตกรรมใหม่ๆ (Innovative Financing) และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มาช่วยในการกำหนดเป้าหมาย คัดกรองเด็กยากจน และติดตามพัฒนาการนักเรียนรายบุคคลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งนำเทคโนโลยีด้านระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้า เช่น การจ่ายสวัสดิการของภาครัฐโดยตรงแก่ผู้รับมาใช้ เพื่อป้องกันการทุจริตและลดความรั่วไหลของงบประมาณ นอกจากนี้ กองทุนจะรายงานและเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานให้แก่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และประชาชนเป็นประจำทุกปีอย่างโปร่งใส
  4. ร่วมกับมือกับภาคีทุกภาคส่วนอย่างมีบูรณาการ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างหลายหลายทั้งในมิติของกลุ่มคนและ เชิงพื้นที่ กองทุนจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น โดยต้องมีการประสานงาน เพื่อไม่ให้การทำงานเกิดความซ้ำซ้อน มีการบูรณาการทรัพยากรและข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากหลักการ 4 ประการนี้ การดำเนินการของกองทุนยากที่จะประสบความสำเร็จ หากไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทรัพยากร รวมทั้งความเป็นอิสระในการบริหารจัดการที่จะช่วยให้การดำเนินการเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ  หากปราศจาก 2 สิ่งนี้แล้วกองทุนใหม่นี้ก็อาจจะเป็นเพียง “กลไกแบบเดิมๆที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ที่จะให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากที่เคยเป็นมา”

ก่อนจะจบ ผมอยากจะทิ้งท้ายไว้ว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอ ภาคทางการศึกษา ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” ที่จะประกันได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องยากและซับซ้อน จะประสบความสำเร็จได้ในเร็ววัน การปฏิรูปแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานจำเป็นต้องใช้เวลา และความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือและความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้อง

การจัดตั้งกองทุนนี้เป็นความตั้งใจของคณะกรรมการอิสระเพื่อการ ปฏิรูปการศึกษาที่จะปรับปรุงประเทศให้ดีขึ้น เป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ อย่างเป็น “ปกติและเท่าเทียม” เพราะเชื่อว่าการอยู่ใน status quo ที่ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างปัจจุบัน ย่อมไม่ใช่ทางเลือกของประเทศไทย

ผมนึกถึงที่ Albert Einstein เคยพูดไว้ว่า

“ We cannot solve our problems with the same thinking we used when we created them”

“เราไม่สามารถใช้วิธีคิดและการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ โดยหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป”

“ผมหวังว่าการประชุมในวันนี้จะช่วยให้เกิดเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งและการดำเนินงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”