เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
COVID-19 ทำเด็กเหนื่อยล้า หลังหยุดเรียนเป็นเวลานาน จนเกิด “ภาวะสมองเต็ม”

COVID-19 ทำเด็กเหนื่อยล้า หลังหยุดเรียนเป็นเวลานาน จนเกิด “ภาวะสมองเต็ม”

ระยะเวลากว่า 2 ปีที่เราได้เผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 รวมถึงในด้านการศึกษาเล่าเรียนเป็นระยะเวลาหลายเดือนที่โรงเรียนได้ใช้วิธีจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาจทำให้เด็กมีความรู้สึกเหนื่อย ขี้เกียจ อึดอัด และเครียดกับการเรียนทางไกล ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิต สุขภาพจิต แรงจูงใจ และแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของเด็ก นักจิตวิทยาเรียกอาการเหล่านี้ว่า “Hitting the Pandemic Wall”

ข้อมูลจากงานวิจัยของ Leslie Forde ผู้ก่อตั้ง Mom’s Hierarchy of Needs กลุ่มสังคมออนไลน์ที่ให้คำแนะนำแม่ในการเลี้ยงดูลูก ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของ Covid-19 ต่อเด็กในวัยเรียน โดยทำการสัมภาษณ์ครอบครัวถึง 1,600 ครอบครัว พบว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัส เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพจิตในเด็ก เพราะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนที่เกิดขึ้นกะทันหันเกินไป ส่วนที่ยากที่สุดคือ เด็กต้องปรับตัวให้ได้ในทันทีกับการเรียนทางไกลชั่วคราวที่เกิดขึ้น จนเกิดความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต และไม่รู้กำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

 

เมื่อเด็กๆ เริ่มเหนื่อย เบื่อ เซ็ง หลัง Covid-19 ผลักพวกเขาออกจากสังคมปกติ

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัวของ Lydia Elle พบว่าลูกสาวของเธอที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต Lydia Elle เล่าว่า ในตอนแรกที่ลูกสาวของเธอต้องเรียนออนไลน์ลูกสาวของเธอตื่นเต้นมากกับการที่จะได้ทำทุกอย่างผ่านหน้าจอคอม แต่หลังจากนั้นลูกสาวของเธอกลับเรียกร้องที่จะได้เจอเพื่อน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเหมือนการเรียนแบบเดิมมากกว่า

 

เมื่อ Cognitive overload สภาวะสมองแฮ้ง เป็นม่านกั้นการเรียนรู้ของเด็ก

เด็กๆกำลังประสบกับสิ่งที่เรียกว่า Cognitive overload คือภาวะสมองเต็ม ปกติแล้วคนเราจะเรียนรู้ได้ ความคิดต้องวิ่งผ่านเข้าไปยังความจำส่วน Working memory แต่ในภาวะ Covid-19 ทำให้ความจำส่วนนี้เต็มเพราะความเครียด สมองเด็กเลยแฮ้ง เบื่อ ไม่มีสมาธิ เรียนรู้ได้ยาก เมื่อเด็กต้องพบกับความเครียดจากการเรียนและการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิต ส่งผลให้ตัวเด็กมีการจัดการและควบคุมตนเองได้ยากขึ้น เขาไม่สามารถที่จะปรับตัว หรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง สุขภาพจิต และการควบคุมอารมณ์ เราเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า “กระบวนการโศกเศร้า (grieving process)”

 

ไทยก็มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน

เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นระยะเวลานาน อย่างพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร กว่า 4 เดือนที่เด็กในพื้นที่สมุทรสาครต้องหยุดเรียน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่ที่กระจายไปทั่วพื้นที่

เด็กในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเอง ก็ต้องใช้วิธีในการเรียนออนไลน์เข้ามาทดแทนในระหว่างที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เมื่อเด็กต้องเรียนรู้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติและไม่ได้อยู่ในสังคมแบบเดิม ก็อาจเป็นไปได้ว่า เด็กจะเกิดภาวะ Pandemic Wall (อาการเหลื่อยล้า จากการที่ชีวิตต้องหยุดชะงักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน)

จังหวัดสมุทรสาครเองยังไม่มีหน่วยงานไหนที่เข้าไปดูแลสภาพจิตใจของเด็ก จากสถานการณ์คาดว่าคงมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีความเครียดสะสมจนอาจนำมาสู่ปัญหาในอนาคตหากไม่ได้รับการแก้ไข

 

แก้ยังไงให้เด็กสมองไม่แฮ้ง

ผู้ปกครองควรพูดคุยตรงๆเกี่ยวกับประสบการณ์ความผิดพลาด การสูญเสีย ความผิดหวังของตนเองให้เด็กได้รับรู้ และสอบถามเด็กเพื่อกระตุ้นให้เด็กแสดง หรือบอกเล่าสิ่งเหล่านั้นออกมา เพื่อที่พวกเขาจะได้ระบายอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ทั้งนี้ผู้ปกครองอาจกระตุ้นหรือให้กำลังใจเด็ก ด้วยการพูดถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมก่อนที่จะเกิดการแพร่ของโควิด เพื่อที่เด็กๆ จะได้คิดถึงความสนุกเหล่านั้น และมีแรงจูงใจที่จะตั้งหน้าตั้งตารอถึงวันเก่าๆ ที่สนุกสนานเหมือนเดิม รวมถึงการสังเกตพฤติกรรมของลูกในแต่ละวัน ว่าลูกยังคงมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นปกติ รวมถึงคุณครูที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ โดยอาจปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ ตรงกับประเด็น หรือสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทำให้เด็กไม่เบื่อหน่ายและสนุกกับการเรียนออนไลน์มากขึ้น

 

ที่มา : Why kids are hitting the pandemic wall