เยาวชน อนาคตของชาติ ชีวิตที่ต้องไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป

เยาวชน อนาคตของชาติ ชีวิตที่ต้องไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป

ถ้าได้กลับไปเรียนก็จะไปให้ถึงฝันให้ได้และจะทำมันให้เต็มที่ ทุกวันนี้ หนูจะคอยนับวันอยู่เรื่อยๆ ว่าเมื่อไรจะถึงวันที่ได้เข้าเรียนอีกครั้ง ตื่นเต้นมากที่จะได้กลับไปเรียนค่ะ

นี่คือ คำพูดจากหัวใจของนางสาวจรรยา คงศรี วัย 15 ปี ที่ออกจากการศึกษากลางคันมานานถึง 7 ปี เพียงเพราะอุปสรรคเดียวคือความยากจนข้นแค้น

จรรยาอาศัยอยู่ในชุมชนวัดกำแพง อ.เมือง จ.สุรินทร์  ฐานะทางบ้านยากจนจึงต้องลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้น ป.3 หลังจากย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่ในเมืองเนื่องจากโรงเรียนเดิมที่เรียนอยู่ปิดกระทันหัน การเดินทางไปโรงเรียนแห่งใหม่ที่มีระยะทางห่างไกลขึ้นหลายสิบกิโล จึงเป็นอุปสรรค ทั้งเรื่องความไม่ปลอดภัยจากรถในเมืองที่ค่อนข้างแออัด และเธอไม่มีเงินเป็นค่าเดินทาง ไม่มีใครไปรับไปส่ง เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ วัย 8 ขวบ ในวันนั้น ที่ไม่เคยออกนอกบ้านมาก่อน
ชีวิตการเรียนในสถานที่ใหม่จึงเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและกังวลใจ เด็กหญิงจรรยาในวันนั้น เดินร้องไห้ตลอดเวลาเพราะหลงทางกลับบ้านไม่ถูก ครอบครัวจึงตัดสินใจให้เธอลาออกจากการเรียน มาช่วยพ่อแม่ทำงานหาหอยขมไปขายในตลาด มีรายได้เล็กน้อยเพียงวันละ 200-300 บาท แต่ต้องจุนเจือสมาชิกครอบครัวถึงเกือบ 10 ชีวิต ครอบครัวเธอมีสมาชิก 9 คน พ่ออายุ 52 แม่อายุ 40 กว่า ส่วนพี่สาวอีกสองคนอายุ 18 และ 17 ปี ซึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษาทั้งคู่ คนโตเรียนแค่ชั้น ม.1 อีกคนเรียนแค่ชั้น ป.4  ทั้งสองต่างมีลูกเล็กๆอายุ  11 เดือน กับ 6 เดือน อยู่ด้วยกันแออัดในบ้านพร้อมกับญาติคนอื่น ๆ

ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่เธอหลุดออกจากระบบการศึกษา จรรยายังคงฝึกการอ่าน เขียนหนังสือจากตำราเรียนของพี่สาวและหลานในบ้าน เธอเรียนรู้ด้วยตัวเองและก็ชอบการอ่านหนังสือมากโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

“ก็อิจฉาคนอื่นที่ได้เรียนค่ะ เพราะเราอยากไปเรียนมากแต่เราไม่ได้เรียน”  ด.ญ.จรรยา กล่าวด้วยท่าทีขัดเขิน เธอยังมีฝันที่จะกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ไม่ให้ลำบากเหมือนทุกวันนี้

“หนูอยากเรียนเพื่อหาเลี้ยง ช่วยพ่อแม่ให้สบายขึ้น พ่อหาหอยขมเอาไปขายได้วันละ 300 บาท คุณแม่ก็เอาไปขายที่ตลาดในเมือง หนูกับพี่ ก็ช่วยกันหาหอยขม หุงข้าว ล้างจาน เราไม่มีรายได้อะไรบางวันเงินก็ไม่พอใช้ แต่หนูคิดว่า ถ้าเรามีความรู้สูง ๆ ก็ทำงานหาเลี้ยงพ่อแม่ได้”
น้องจรรยา เล่า

น้องจรรยา บอกถึงความฝันว่า อยากเป็นทหาร เพราะเคยเห็นพ่อเป็นทหารเกณฑ์และพ่อก็รักการเป็นทหารก็อยากเป็นตามพ่อ ส่วนตัวยังชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ชอบค้นหา เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ

“ถ้าได้กลับไปเรียนก็จะไปให้ถึงฝันให้ได้และจะทำมันให้เต็มที่ ทุกวันนี้นับวันอยู่เรื่อยๆ ว่า
เมื่อไรจะถึงวันที่ได้เข้าเรียนอีกครั้ง รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้กลับไปเรียน”  เธอตอบอย่างมุ่งมั่น

น้องจรรยาเป็นเพียงหนึ่งในหลายแสนกรณีของปัญหาเยาวชนนอกระบบ ที่ถูกค้นพบผ่านระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE)  เครื่องมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ใช้ติดตามเด็กและเยาวชนยากจนทั้งในและนอกระบบที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ จรรยาจะได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งดังที่เธอฝันไว้ โดย กสศ. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิงและอสม. ประสานความช่วยเหลือให้จรรยาได้เรียนต่อ กศน. เพื่อจะได้เรียนและทำงานช่วยเหลือครอบครัวควบคู่กันไป

“ หนูไม่กลัวเรื่องการเรียนยากแค่ไหนก็จะสู้ค่ะ ก็จะไปให้ถึง ม.6 ให้ได้ และถ้าจบ ม.6 ก็อยากไปต่ออีก”  จรรยากล่าวด้วยความมุ่งมั่น

 

ข้อมูลเสริมเพิ่มเติม

ทำไมความจนถึงปิดโอกาสการศึกษา?

ข้อมูลจากการถอดบทเรียนจากโรงเรียนเป้าหมายในจ.เชียงใหม่จำนวน 10 แห่ง
โดย กสศ.ร่วมกับภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา

1. สภาพหรือวิถีการดำรงชีวิตของนักเรียนและครอบครัว

ครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก คนเหล่านี้ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดในแต่ละวัน ไม่มีเวลาคิดอ่านทำอย่างอื่น ความยากจนนี้ส่งผลต่อการเข้ารับการศึกษา

ก.ผู้เรียนไม่สามารถเรียนต่อเนื่องในเวลาตามที่หลักสูตรกำหนด มักต้องขาดเรียนเป็นประจำเพราะต้องไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ การเรียนซ่อมเสริม เรียนพิเศษ เรียนกวดวิชา ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย

ข.ครอบครัวไม่มีกำลังทรัพย์ส่งเสียให้เล่าเรียน ต้องการให้ประกอบอาชีพเร็วที่สุด

2. สภาพการเรียนรู้ของนักเรียน

นักเรียน เรียนรู้อยู่ในห้องอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีความสุข เพราะเรียนไม่ทัน ขาดเรียนบ่อย
แม้จะมาโรงเรียนก็เหน็ดเหนื่อยและว้าวุ่นใจจากภาระการงาน และสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน เมื่อพยายามจะเรียนก็เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง มีแต่ทฤษฎีที่ยาก ไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตจริงของนักเรียน หากเจอคุณครูดุที่เข้มงวดไม่เข้าใจ หรือเจอสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันโดยตัวเองเป็นผู้แพ้ตลอด นักเรียนก็จะยิ่งท้อแท้ในการเรียน ไม่ชอบเรียน และมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ เด็กเหล่านี้จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ หลายคนหนีเรียนและออกกลางคัน

3. สภาพของนักเรียนหลังจากออกจากโรงเรียนแล้ว

ไม่มีอาชีพที่แน่นอน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีฝีมือ งานบริการตามร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ บางส่วนทำไร่ทำนาในที่ดินทำกินของครอบครัว จำนวนมากที่เป็นแม่วัยใส มีครอบครัวเร็วและตามมาด้วยการหย่าร้าง ชีวิตแต่ละคนสุ่มเสี่ยงต่อความล้มเหลว สภาพปัญหาเหล่านี้ทำให้ครอบครัว และชุมชนตกอยู่ในความยากจน เป็นวัฏจักร  หากมีลูกหลานก็จะมีปัญหาเป็นวังวนไม่จบสิ้น