งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ล่าสุดซึ่งผสมผสานความรู้ด้านพันธุศาสตร์เข้าไว้ด้วย ชี้ถึงโอกาสประสบความสำเร็จทางการศึกษาในกลุ่มประชากรที่มีคุณภาพทางพันธุกรรมใกล้เคียงกันว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฐานะความมั่งคั่งของแต่ละครอบครัวเสียยิ่งกว่าพันธุกรรมที่กำหนดระดับความฉลาดของแต่ละคนมาด้วยซ้ำ
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้เผยแพร่ผลการศึกษาข้างต้น ในรายงานของสำนักงานวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ฯ (NBER) โดยระบุว่า “ทุนชีวิต” ในรูปแบบของพันธุกรรมคุณภาพดี ซึ่งเอื้อให้บุคคลมีความฉลาดและความสามารถสูงนั้น มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมทั้งในกลุ่มลูกของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ และในกลุ่มลูกของครอบครัวที่มีรายได้สูง แต่โอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนระหว่างสองกลุ่มดังกล่าวกลับไม่เท่าเทียมกันเช่นนั้น
- เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ?
- เมื่อลูกสาววัย 3 ขวบของคุณมีไอคิว 171
- พ่อแม่ออกกำลัง-บริหารสมอง ส่งผลให้ลูกฉลาดได้ไม่ต้องพึ่งพันธุกรรม
ศ. เควิน ทอม นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หนึ่งในทีมวิจัยของ NBER บอกว่า “ความเชื่อที่ว่าคนในตระกูลร่ำรวยกับครอบครัวที่ยากจนมีพันธุกรรมด้านความฉลาดแตกต่างกันนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง”
“หากไม่มีทรัพยากรที่ครอบครัวเกื้อหนุนให้ แม้แต่เด็กที่ฉลาดที่สุดและมีความสามารถสูงโดยกำเนิด ก็จะต้องพบกับอุปสรรคขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงความสำเร็จทางการศึกษาได้โดยง่าย”
ภาพของ Atlas Green on Unsplash
ผลวิจัยพบว่า แม้แต่คนที่มีความสามารถน้อยที่สุดจากครอบครัวร่ำรวย ก็สามารถสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในอัตราที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้มีความสามารถมากที่สุดจากครอบครัวยากจน
ทีมผู้วิจัยค้นพบแนวโน้มข้างต้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยทางพันธุศาสตร์ก่อนหน้านี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics โดยงานวิจัยดังกล่าวมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างยีนและระดับชั้นที่บุคคลจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างกว่า 1.1 ล้านคน
ในบรรดาผู้ที่มีคะแนนคุณภาพพันธุกรรมใกล้เคียงกัน ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ฉลาดสูงสุด 25% แรกของกลุ่ม ปรากฏว่าคนที่บิดามีฐานะยากจนสามารถเรียนจบขั้นอุดมศึกษาได้เพียง 24% ในขณะที่คนซึ่งบิดามีรายได้สูงสามารถเรียนจบขั้นอุดมศึกษาได้ถึง 63%
ศ. นิโคลัส พาพาจอร์จ จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมทีมวิจัยของ NBER บอกว่า “สังคมต้องสูญเสียศักยภาพของผู้มีความสามารถแต่ฐานะยากจนเหล่านี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีต่อตัวพวกเขาเองและต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ใครจะรู้ว่าหากพวกเขาได้เล่าเรียนในระดับสูง ในวันหนึ่งอาจเป็นผู้ค้นพบวิธีรักษามะเร็งก็เป็นได้”