สพฐ. จับมือ กสศ. ปฏิรูประบบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน “บุญรักษ์” มั่นใจระบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ช่วยเหลือ นร. ตรงปัญหา-ความจำเป็นรายคน

สพฐ. จับมือ กสศ. ปฏิรูประบบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน “บุญรักษ์” มั่นใจระบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ช่วยเหลือ นร. ตรงปัญหา-ความจำเป็นรายคน

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้มีพิธีการลงนามความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อดำเนินการโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. และประชุมชี้แจงการดำเนินงานการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูทั่วประเทศ ผ่านระบบ Teleconference

ประชุมชี้แจงการดำเนินงานการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง
สพฐ. และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ร่วมพัฒนาโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ถือว่าทำให้เกิดการปฏิรูปใน 2 เรื่องสำคัญของประเทศ คือ
1. การปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำให้เงินอุดหนุนถูกจัดสรรไปช่วยเหลือนักเรียนตรงสภาพปัญหาและความจำเป็นรายบุคคล และ
2. การปฏิรูปกลไกการจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย
การมีเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนและกลไกตรวจสอบหลายระดับจากการวิจัยพัฒนาและรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องกว่า 3 ปี ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทั้งแก่ นักเรียน ผู้ปกครองและสังคม ว่าเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข เป็นโครงการที่มีความโปร่งใส
สามารถตรวจสอบได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้สถานศึกษาในสังกัดของ สพฐ. ยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลซึ่งเป็น BIG DATA เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ในระยะยาวอีกด้วย

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“การประชุมเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศผ่าน Teleconference วันนี้ เพื่อชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 ให้สถานศึกษา ครู และเขตพื้นที่การศึกษาเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งการคัดกรอง การตรวจสอบรายชื่อก่อนการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อให้นักเรียนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือตรงปัญหาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส” ดร.บุญรักษ์ กล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา2561 โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัด
สพฐ. โดย กสศ. จะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ภายใต้งบประมาณ 800 บาทต่อคนต่อภาคเรียน ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนกว่าคน ซึ่งอยู่ในกลุ่มนักเรียนยากจนที่สพฐ.ช่วยเหลือเดิมจำนวน 1,696,433 คน โดยขั้นตอนแบ่งการจัดสรรเงินออกเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กัน คือ


1. เป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน และค่าครองชีพระหว่างเรียน
2. เป็นเงินอุดหนุนแก่สถานศึกษาเพื่อกิจกรรมการพัฒนานักเรียนยากจนให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพรวมถึง ค่าอาหารที่ทางสถานศึกษาจัดหาให้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนในปัจจุบันซึ่งระหว่างเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้จะเป็นช่วงที่สถานศึกษาส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษจากผลการคัดกรองเมื่อเทอม 1/2561 ให้แก่ กสศ. โดย สพฐ. และ กสศ.
จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาปรับปรุงรายชื่อให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นนักเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติมจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยครูประจำชั้นจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลรายได้ และสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคลระหว่างกระบวนการเยี่ยมบ้านในเทอม 2/2561 ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่จากนั้นคณะกรรมการสถานศึกษาจะพิจารณารับรองความถูกต้องของข้อมูลรายชื่อและผลการคัดกรองทั้งหมดอีกครั้งก่อนส่งข้อมูลให้แก่ กสศ. ทั้งนี้ กสศ. ได้เปิดสายด่วน ให้บริการข้อมูลให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน รวมถึงปัญหาเชิงเทคนิคในการใช้ระบบต่างๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร 02-079-5475 กด 1 หรือที่ Facebook : www.facebook.com/cctthailand

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ขณะที่ นายวีรณัฐ ทนะวัง ครูโรงเรียนบ้านผาเวียง จังหวัดน่าน กล่าวว่าจากประสบการณ์ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ใช้งานง่ายและสื่อสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ต้นทางรับทราบข้อมูลเด็กยากจนได้ทันที สามารถปักหมุดข้อมูลเด็กครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ว่าบ้านของเด็กเหล่านั้นจะอยู่บนดอย บนเกาะในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเด็กแบบรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา ครูต้องจัดทำเป็นเอกสารส่งข้อมูลเด็กไปยังสำนักงานเขตพื้นที่จากนั้นเขตพื้นที่จะต้องส่งเรื่องมาที่ศึกษาธิการจังหวัด และค่อยมาถึงต้นทางคือส่วนกลาง ทำให้กระบวนการล่าช้า แต่เมื่อมีแอพพลิเคชั่นนี้ถือว่าตอบโจทย์ของโรงเรียนไม่ยุ่งยาก ลดภาระงานเอกสาร ช่วยประมวลผลข้อมูลอย่างเป็นระบบมีประโยชน์ต่อครูและโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนของเราได้ตรงจุด100%

ครูวีรณัฐ ทนะวัง โรงเรียนบ้านผาเวียง จ.น่าน