สิงคโปร์นำร่องปรับหลักสูตรมัธยมศึกษา ให้นักเรียนเลือกเรียนแต่ละวิชาตามความสามารถ หวังผลทั่วประเทศปี 2024
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เดอะ สเตรตส์ ไทมส์ (The Straits Times) ของสิงคโปร์ รายงานว่า การแบ่งสายนักเรียนมัธยมเป็นสายปกติ กับสายพิเศษ ในสิงคโปร์จะยุติลงอย่างสิ้นเชิงในปี 2024 และจะให้นักเรียนเลือกเรียนแต่ละวิชาตามระดับความสามารถของตัวเอง
ปัจจุบัน เมื่อเริ่มเรียนระดับมัธยมศึกษา นักเรียนในสิงคโปร์จะถูกแบ่งเป็นสายปกติ (เทคนิค), สายปกติ (วิชาการ) และสายพิเศษ ทางกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์จะเริ่มยกเลิกระบบนี้กับ 25 โรงเรียนในปีหน้า และจะค่อย ๆ บังคับใช้กับโรงเรียนมัธยมจนครบทุกแห่งภายในสิ้นปี 2024
ดังนั้น นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 รุ่นปี 2024 หรือนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 2 รุ่นปีนี้ จะเรียนวิชาต่าง ๆ ตามความสามารถและความถนัดของตัวเอง เช่น วิชาคณิตศาสตร์ จะแบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ระดับ คือ G1, G2 และ G3 ซึ่งตัว G มาจากคำว่า General หรือแปลว่า ทั่วไป G1 จะเทียบเท่ากับสายปกติ (เทคนิค) G2 จะเทียบเท่ากับสายปกติ (วิชาการ) และ G3 จะเทียบเท่ากับสายพิเศษ ในปัจจุบัน
‘แม่น้ำกว้างสายเดียว’
เดอะ สเตรตส์ ไทมส์ รายงานโดยอ้าง นายออง ยี คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ระหว่างการอภิปรายงบประมาณกระทรวงศึกษาฯ ว่า เมื่อนักเรียนรุ่นดังกล่าวเลื่อนชั้นไปเป็นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 ในปี 2027 นักเรียนทุกคนจะต้องสอบวัดระดับทั่วประเทศ และจะได้ใบรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้น
_________________________________________
“จาก 3 สายการศึกษา ตอนนี้เราจะมี
‘การศึกษาระดับมัธยมต้นแบบเดียว แต่มีหลายระดับวิชา’
เราจะไม่ปล่อยให้ปลาว่ายน้ำในลำธาร 3 สายแยกกัน
แต่จะเป็นแม่น้ำกว้างเพียงสายเดียว
และปลาแต่ละตัวจะว่ายไปตามเส้นทางของตัวเอง”
นายออง กล่าวตามการรายงานของเดอะ สเตรตส์ ไทมส์
_________________________________________
การที่นักเรียนต้องเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ผสมผสานกันหลายระดับ ทางกระทรวงหวังว่า โรงเรียนต่าง ๆ จะใช้โอกาสนี้ในการจัดกลุ่มนักเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ใช่ตามความสามารถของพวกเขา (ในแบบเดิม) การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการผสมผสานทางสังคมมากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนช่วยเหลือกัน
รมว. ศธ. ได้อ้างอิงถึงโรงเรียนมัธยม บุน เลย์ (Boon Lay Secondary) ซึ่งได้จัดชั้นเรียนตามกิจกรรมข้ามหลักสูตร แทนที่จะแบ่งตามสายวิชาการ และโรงเรียนมัธยมเอดจ์ฟีลด์ (Edgefield Secondary) ซึ่งแต่ละชั้นเรียนจะมีนักเรียนจากทั้ง 3 สายในปัจจุบันเรียนรวมกัน
เดอะสเตรตส์ ไทมส์ รายงานด้วยว่า เหตุผลที่กระทรวงศึกษาฯ ยกเลิกการแบ่งสายการศึกษาในระดับชั้นมัธยม นายออง กล่าวว่า การแบ่งสายเริ่มมีการใช้เมื่อ 40 ปีก่อน ใน “ช่วงที่ถูกขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ” เพื่อลดอัตราเด็กออกโรงเรียนกลางคัน ตัวเลขนี้ลดลงจากระดับราว 1 ใน 3 ของนักเรียนแต่ละรุ่นในช่วงทศวรรษ 1970 เหลือไม่ถึง 1% ในปัจจุบัน
‘ลดการตีตราเด็ก’
นายอองบอกว่า ทางกระทรวงยอมรับว่า ระบบแบ่งสายมีข้อเสีย และ “มีข้อผิดพลาดบางอย่าง” เกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะถ้ามีการแบ่งสายเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย
นอกจากนี้ระบบแบ่งสาย ยังบังคับให้นักเรียนต้องเรียนทุกวิชาด้วยอัตราการเรียนรู้ระดับหนึ่ง ขณะที่นักเรียนจำนวนมากมีความถนัดในแต่ละวิชาแตกต่างกัน
“ที่สำคัญกว่านั้นคือ การได้อยู่สายที่ถือว่า ‘ต่ำกว่า’ จะมาพร้อมกับการตีตราบางอย่าง หรือการจำกัดตัวเอง นักเรียนจะมีความคิดที่ว่า ‘ฉันเป็นแค่นักเรียนสายปกติ ดังนั้นก็คงดีที่สุดได้เท่านี้'” เขากล่าวตามการรายงานของเดอะ สเตรตส์ ไทมส์ โดยระบุด้วยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายคน ได้พูดถึงผลเสียของการแบ่งสายมากขึ้น
ระบบการให้นักเรียนเลือกเรียนแต่ละวิชาตามความสามารถของตัวเอง ได้เริ่มทดลองใช้ในสิงคโปร์มานานกว่า 10 ปีแล้ว และค่อย ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2014 มีการนำร่องใช้ระบบนี้ใน 12 โรงเรียน และได้ผลที่น่าพอใจ
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ กล่าวในช่วงท้ายของการอภิปรายว่า ทางกระทรวงกำลังพัฒนาเด็กให้มีความรู้ในอัตราการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปของพวกเขา จนกระทั่งพวกเขาเป็นผู้ใหญ่ โดยเชื่อว่า จะเป็นผลดีที่สุดต่อตัวนักเรียน เมื่อมีความหลากหลายตามโรงเรียนต่าง ๆ และภายในโรงเรียน
ที่มาข่าว : BBC ไทย