เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรัม 4 เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ). และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip) โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. นายนคร ตังคะภิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องหรือ sQip นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศกว่า 700 คนเข้าร่วมงานในครั้งนี้
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สังคมไทยจะต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า คนในวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษาจะลดลงตามลำดับ หากรัฐยังจัดการศึกษาที่เน้นเพียงคนในวัยเรียน แต่ผู้เรียนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องก็ อาจจะกลายเป็นการลงทุนเสียเปล่า เรื่องนี้กำลังกลายเป็นโจทย์ให้ประเทศไทยต้องเร่งหามาตรการรับมือ
นายนคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาคุณภาพของโรงเรียนในเมืองและชนบทที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ส่งผลให้ความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบทของไทยต่างกันเกือบ 2 ปี หลังจากการจับมือกันร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในโรงเรียนขยายโอกาสพื้นที่ยากลำบาก 197 แห่งใน 14 จังหวัดทั่วประเทศทำ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสำคัญของระบบรับรองคุณภาพระดับนานาชาติคือ Student engagement หรือ นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ โดยนักเรียนที่ร่วมโครงการมีความสุขในการมาเรียน มีความสัมพันธ์กับครูมากขึ้น ทำให้ปัญหาการเรียนและปัญหาต่างๆ เช่น อัตราการขาดเรียน การมาสาย และหนีเรียน ไม่ใส่ใจในการเรียนลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองนักเรียน ยังได้ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้นักเรียนมีสัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น และมีพฤติกรรมในการสนใจการเรียน การรับผิดชอบช่วยงานที่บ้านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นพ.สุภกร กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 กสศ. สกว.และสพฐ. พร้อมเดินหน้าขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 280 แห่งรวม 17 จังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพโรงเรียนและครู และนำไปสู่การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ (Accreditation System) ที่เหมาะสมสำหรับบริบทโรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียน 200-500 คน ต่อโรงเรียน ในพื้นที่ยากลำบากของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย
“กสศ.เตรียมได้นำเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่สามารถวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เราได้พัฒนาร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD สำเร็จแล้วมาช่วยสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาต้นแบบกลุ่มนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมของการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนในชนบท ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว