ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เครือข่ายนักวิชาการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เล่าว่า มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) เคยยกกรณีศึกษาการพัฒนาการศึกษาของประเทศเวียดนาม ว่า ประสบความสำเร็จด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกรณี ผลชี้วัดโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ในปี 2012 และ 2015 เป็นต้นมา แม้จะเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นต่ำ (lower-middle income) แต่ก็สามารถทำคะแนนสอบได้ในระดับที่สูงติดระดับโลก โดยด้านวิทยาศาสตร์ได้อันดับ 8 ของโลก, ด้านคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่ม Top 20 จากประเทศที่เข้าสอบทั้งหมดขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น
ทั้งนี้ พบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของเวียดนามสรุป เกิดจากหลายปัจจัยสอดรับกัน เช่น ด้านวัฒนธรรมแบบขงจื้อ ที่มีเป้าหมายในการ ยกระดับจิตใจและสร้างความสามัคคีในสังคม โดยเริ่มจาก ขัดเกลาจิตใจของตน การปลูกฝังความอดทน การทำงานหนัก
นอกจากนี้ ยังพบว่า พ่อแม่และสังคมเวียดนามนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษา ความเคารพครู ความรับผิดชอบของครูที่มีต่อศิษย์ ชุมชน รวมไปถึง ปัจจัยด้านนโยบายด้านการศึกษาของประเทศที่มีการวางแผนในระยะยาว เช่น การมุ่งพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนในชนบทที่ขาดแคลนให้มีระบบทรัพยากรพื้นฐานที่พอเพียง การมีระบบความรับผิดรับชอบของครู โรงเรียน ซึ่งส่งไปถึงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในที่สุด
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า นักเรียนเวียดนามมีความตั้งใจเรียน มีวินัยสูง และเห็นได้ชัดจากตัวเลขขาดเรียนและมาเรียนสายที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อประกอบกับ ในแต่ละชุมชนจะมีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนทำหน้าที่คอยตรวจสอบว่าแต่ละหมู่บ้านมีเด็กในวัยเรียนจำนวนเท่าใด มีผู้ที่เข้าเรียนหรือไม่ได้เข้าเรียนอย่างไร และมีหน้าที่คอยตรวจสอบการลงทะเบียนของเด็กเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการที่จะให้เด็กทุกคนเข้าเรียน หากพบว่าครอบครัวใดที่ไม่ได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนก็จะมีเจ้าหน้าที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำทางการศึกษาลงพื้นที่เพื่อไปตามว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร ส่วนมากมักจะเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือความยากจนของครัวเรือน ผู้นำชุมชนจะพยายามใช้เครือข่ายชุมชน นักธุรกิจ และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อหางบประมาณสนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนให้ได้
ประเทศเวียดนามมีการจัดการศึกษาฟรีโดยรัฐแค่ระดับประถมศึกษา ในระดับอนุบาลหรือมัธยม ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินเองในบางส่วน ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถส่งลูกไปเรียนในระดับมัธยมได้
เวียดนามมีระบบความรับผิดรับชอบที่ค่อนข้างเข้มแข็ง มักจะเป็นในลักษณะจากบนลงล่าง (top-down accountability) ดังคำขวัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ว่า “พรรคเป็นผู้นำ รัฐเป็นผู้ปฏิบัติ ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ” ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องสามารถอธิบาย ให้ข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้องได้ แต่ก็มีความพยายามทำให้ระบบนี้เป็นไปในลักษณะที่เน้นความโปร่งใส หรือการเข้าถึงข้อมูลได้ การบริหารงานภาคการศึกษาโดยทำการกำหนดนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลาง และบริหารและปฏิบัติการโดยท้องถิ่น ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียนก็มีส่วนที่สัมพันธ์กันอย่างสูง หากนักเรียนไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน พ่อแม่ก็อาจจะแจ้งต่อครูใหญ่ว่าครูไม่ช่วยเหลือเด็กด้านวิชาการเท่าที่ควร ครูใหญ่มีแรงจูงใจที่จะให้โรงเรียนมีชื่อเสียงและผ่านเกณฑ์ของเขตการศึกษา
ครูมีเป้าหมายที่ตนเองต้องทำให้ได้ เช่นต้องทำให้เด็กสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด หากสามารถทำได้ก็จะได้รับเงินโบนัสตอบแทน (ประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ) แต่ก็อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ครูต้องมีความรับผิดชอบต่อเด็ก เพราะเวียดนามให้ความสำคัญกับครูว่าสำคัญในระดับเดียวกับพ่อแม่ ดังมีคำขวัญที่ว่า “อาหารจากพ่อ เสื้อผ้าจากแม่ ความรู้จากครู” จึงเห็นได้บ่อยว่าครูยินดีที่จะทำการให้ความรู้แก่เด็กโดยวิธีการต่าง ๆ แม้จะเป็นการใช้เวลานอกเหนือเวลาสอนปกติ
เวียดนามมีประวัติศาสตร์ของการศึกษาที่เปิดโอกาสให้สามัญชนที่มีความสามารถ ได้เลื่อนชั้นในสังคมนับตั้งแต่ในยุคที่ประเทศยังอยู่ใต้อิทธิพลของจีน (111BC-939A) และใช้ระบบการสอบแข่งขันเพื่อรับเข้าราชการไม่แตกต่างจากระบบการสอบจอหงวนของจีน อันที่จริงแล้วมีชาวเวียดนามที่ได้ผ่านการสอบเข้าไปรับราชการในราชสำนักของจีนมานานแล้ว ในช่วงที่ถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคม (1858-1945) ได้มีการสร้างโรงเรียน Ecole Normale เพื่อผลิตบุคลากรสำหรับทำงานให้กับเจ้าอาณานิคม และมีการสร้างโรงเรียนมัธยม Lycee แบบฝรั่งเศสแต่ยังไม่ได้มีความคิดจะขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วไปเท่าที่ควร
จนกระทั่งถึงช่วงของการประกาศอิสรภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายหลังการรวมชาติ (ปี ค.ศ 1975) ที่ทำให้การศึกษาของเวียดนามได้รับอิทธิพลแบบสังคมนิยมโซเวียต ที่เน้นหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ มีการสร้างโรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ เมื่อผนวกวัฒนธรรมแบบขงจื้อจึงทำให้เวียดนามสามารถผลิตนักเรียนที่มีความสามารถในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อย่างไม่ขาดตอน ยกตัวอย่างเช่นในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิค (International Mathematical Olympiad) เวียดนามได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมตั้งแต่ปี 1974 และได้เหรียญทองรวมกันทั้งหมด 60 เหรียญในขณะที่ประเทศไทยเริ่มเข้าแข่งในปี 1989และได้เหรียญทองรวมกัน 24 เหรียญแต่หากนับเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามกับไทยทำได้ใกล้เคียงกัน
#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #การศึกษา #PISA