ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยในรายการครบเครื่องเรื่องข่าวสถานีวิทยุ FM100.5 MCOT News Network เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยพร้อมแนะนำมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ บางครอบครัวอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือถิ่นทุรกันดาร ซึ่งการเกิดเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในถิ่นดังกล่าว เป็นความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องจัดความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม จึงเป็นสาเหตุให้กสศ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ร่วมมือกันออกมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อจัดสรรงบประมาณอุดหนุนหรือเรียกว่า “ทุนเสมอภาค” ซึ่งเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งปีการศึกษา 2562 จะเริ่มสนับสนุนตั้งแต่ชั้นอนุบาล1ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยช่วยเหลือต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี เงื่อนไข ต้องเป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน รายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน จะได้รับทุน2,500-6,000 บาทแล้วแต่ระดับการศึกษา ซึ่งเงินส่วนนี้จะช่วยเรื่องค่าเดินทาง ค่าครองชีพ และค่าอาหารเช้า
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า เด็กที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามี 2 ระดับ คือ ยากจนทั่วไป มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน3,000 บาทและยากจนพิเศษ มีรายได้เฉลี่ยรวมทั้งครอบครัวไม่เกิน 1,500 บาท โดยปัจจุบันมีเด็กจำนวน 600,000 คน ที่อยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สำหรับการป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบเป็นเพียงด่านแรก เมื่อผ่านมาได้จะเข้าสู่ขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นการติดตามเด็ก ดูพัฒนาการทางด้านการศึกษา เมื่อเด็กเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีผลการเรียนที่ดีหรือได้เกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไป ถ้าอยากเรียนต่อสายอาชีพ กสศ.มีทุนเรียนฟรีจนจบ ปวส. หรือเรียกว่าทุนวิชาชีพชั้นสูง หรือถ้าเด็กอยากเป็นครูในภูมิลำเนา กสศ.มีทุนจากโครงการครูรักษ์ถิ่น ทั้งนี้เรามีทุนรองรับ 3-4 ทุน เป็นทุนร้อยเรียงกัน เพื่อให้เด็กไม่หลุดออกนอกระบบ เมื่อเรียนจบต้องมีงานทำ นอกจากนี้ล่าสุด กสศ.ยังได้ลงนามความร่วมมือกับตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสนับสนุนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ตะเข็บชายแดนด้วย
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่จะเฟ้นหาเด็กที่ยากจนได้ดีที่สุดคือคุณครูในพื้นที่ เนื่องจากทุกปีการศึกษาคุณครูต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็ก และเพื่อเพิ่มความแม่นยำเราจึงสนับสนุนการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้คุณครูโหลดแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กยากจน ซึ่งดาวน์โหลดได้ในสมาร์ทโฟนทั้งระบบ android และ ios ในแอพนี้ใช้เวลาลงข้อมูลไม่เกิน 15 นาที โดยหลักจะมีการถ่ายภาพบ้านว่ามีสภาพทรุดโทรมหรือไม่ โดยใช้ฟังชันถ่ายรูปจะดึงพิกัด GPRS ตำแหน่งของบ้าน รวมถึงตรวจสอบสมาชิกในครัวเรือน และรายได้ในครัวเรือน สำหรับข้อมูลนี้จะเก็บไว้ได้นาน10 ปี เพื่อให้ระบบตรวจสอบติดตามช่วยเหลือนักเรียนจนจบการศึกษา
อย่างไรก็ตามการเปิดข้อมูลเด็กยากจนในวงกว้าง ทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพื่อบริจาคทุนได้ นอกจากนี้เรายังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนเพื่อเติมเต็มทุนให้กับน้อง ๆ โดยเงินที่บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2เท่า ทั้งในส่วนของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กลายเป็นภาครัฐออก 50% เอกชนออกให้ 50% ซึ่งรูปแบบการร่วมมือกันระหว่าง 2 ส่วน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน
“ระบบการศึกษาเป็นกลไกลที่หยุดความยากจนได้ และเราจะป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ไปจนสุดทาง เด็กจะมีรายได้มากกว่าให้ออกจากกับดักความยากจน ประเมินจากครู 400,000 คน ทั่วประเทศ ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าในชั่วอายุคนของยุคเราปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะหมดไป ขอย้ำว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ส่วนช่องทางในการบริจาคเข้าไปที่ www.eef.or.th หรือ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-0795475” ดร.ไกรยส กล่าว
กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท บริจาค ครูรักษ์ถิ่น ศธ. กระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนทุนเสมอภาค ลดเหลื่อมล้ำ MCOT เทคโนโลยี