นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จที่เกินกว่าที่ตั้งเป้าสำหรับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หลังจากจังหวัดสุโขทัยเริ่มต้นดำเนินการสำรวจติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเพื่อให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จนปัจจุบันสำรวจค้นหาไปแล้ว 3,602 ราย จากทั้งหมด 7,349 ราย โดยในจำนวนนี้ต้องการให้ช่วยเหลือ 1,381 ราย เกินเป้าที่ตั้งไว้เริ่มต้น 500 ราย
นายสุทธิศักดิ์ เพ็ชรผึ้ง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า เริ่มต้นการสำรวจในพื้นที่เป้าหมาย 5 อำเภอ ทั้ง เด็กปฐมวัยและนอกระบบการศึกษา ผ่านกลไกระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อหารือมีฉันทามติก็จะออกเป็นหนังสือสั่งการไปถึงอำเภอที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ
กลไกหลักก็จะเป็น กศน. และมีกลไกเสริมเป็นเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน (อปพร.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ซึ่งแต่ละหน่วยก็จะหนุนเสริมการทำงานของฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาลที่ร่วมกันทำงานเป็นแกนหนุน
“เราวางโครงสร้างหน้าที่เป็นเน็ตเวิร์ค ในสามมิติคือ อำนาจรัฐ ความเคลื่อนไหวทางสังคม และ การจัดการเรียนรู้ ซี่งตอนนี้ผ่านขั้นตอนอำนาจรัฐที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมสั่งการเรียบร้อย กำลังอยู่ในขั้นตอนเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ส่งผ่านจากผู้ว่าฯ มาถึงอำเภอ โดยใช้การประชาสัมพันธ์ทางแฟนเพจ และสื่อวิทยุของ อสมท. มีทั้งไลฟ์สด ไปจนถึงเสียงตามสายหมู่บ้าน ที่ให้ข้อมูลว่าหากพบเด็กด้อยโอกาสให้แจ้งกับ กศน.อำเภอ กศน.ตำบล ได้ทุกแห่ง” ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาฯ กล่าว
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องข้อมูลเชิงพื้นที่ทาง กศน.เก็บข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งจะนำข้อมูลที่มีให้อาสาสมัครไปลงพื้นที่สำรวจเพื่อคอนเฟิร์ม ถ่ายรูปบ้านเด็ก กลไกสำคัญคือ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่จะประกาศเสียงตามสายไปยังลูกบ้าน ดังนั้นการมีประชุมจัดคิ๊กออฟก็จะให้ความสำคัญเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านมาร่วมประชุมเพื่อเสริมแรงกันทำงานร่วมกัน
“โดยเป้าหมายที่เห็นตรงกันคือต้องการการช่วยเหลือเด็ก ซึ่งเราจะชี้ให้แต่ละฝ่ายเห็นว่าหากเด็กในพื้นที่ได้รับโอกาส กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาก็จะเป็นรากฐานที่ดีต่อไป เพราะเรื่องของเด็กก็จะเป็นเรื่องการพัฒนาให้พ้นจากความยากจน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในระยะยาว” นายสุทธิศักดิ์กล่าว
อีกประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่เมื่อสำรวจพบตัวเด็กแล้วพบว่า หนึ่งเด็กเบื่อหน่ายระบบการศึกษา และสองเด็กไม่รู้จะเรียนไปทำไมเพราะออกมาทำงานได้เงินแล้ว การพูดคุยกับเด็กจึงต้องเป็นการเน้นให้พูดคุยให้แรงบันดาลใจ แรงจูงใจซึ่งจะต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย ทั้งการอธิบายมุมมองระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีแค่การศึกษาภายในระบบแต่ยังรวมไปถึงการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่ไม่เอาอะไรเลยจะไม่เรียนหนังสืออย่างเดียว ซึ่งเราก็ต้องชี้ให้เห็นว่าการเรียนไม่จำเป็นต้องแต่งชุดนักเรียนไปเรียนเท่านั้น ไม่ต้องไปโดนทำโทษหน้าเสาธง ไม่ต้องโดน “บูลลี่” แต่ยังสามารถไปเรียนด้านอาชีพ หรือเรียน กศน. มสธ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่จบออกไปก็จะมีอาชีพ มีรายได้ ที่ชัดเจน ซี่งเหล่านี้เป็นทางเลือกที่ต้องอธิบายให้เด็กได้รับรู้
ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษา กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้จะเข้าสู่กระบวนการประชุมสหวิชาชีพ เพื่อวิเคราะห์เคสที่สำรวจมาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ กศน. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน ผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนว่าหากฝึกอาชีพแล้วจะไปทำงานที่ไหนอย่างไร ได้รับการช่วยเหลืออะไรบ้าง เพื่อให้การเรียนของเด็กเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด
“ถามว่าตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จไหม เราก็โอเคแต่เราคาดหวังความต่อเนื่องให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลตามสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องขอบคุณทาง กสศ. และในฐานะคนทำงานก็ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเด็ก สามารถนำเงินภาษีประชาชนมาช่วยเด็กให้มีโอกาสได้เรียนต่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ผมภูมิใจ เพราะเรามีนโยบายสร้างคนมาตั้งแต่แผนนโยบาย 8 ถึงแผนที่เน้นเรื่องการพัฒนาคน แต่เรากลับไปเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเรามีคนตกงาน 106,000 คน มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาร้อยละ 20 เรามีคนติดคุกเป็นอันดับ 6 ของโลก สิ่งที่ทำอยู่ตรงนี้จึงเป็นรากฐานพัฒนาประเทศต่อไปร่วมกับทาง กสศ.” นายสุทธิศักดิ์กล่าว