โรงเรียนผาสุกประชานุกูล จ.อุดรธานี เป็นอีกโรงเรียนชายขอบตั้งอยู่บนเขาที่อยู่ห่างจากตัวเมืองร่วม 200 กิโลเมตร เด็กหลายคนมาจากครอบครัวที่ลำบากยากจน สภาพดังกล่าวทำให้เด็กหลายคนต้องขาดเรียนเพราะไม่มีเงินสำหรับมาโรงเรียน การเข้าไปเสาะหาคัดกรองและให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือกับเด็กที่ขาดแคลนจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเห็นผลอย่างชัดเจน
วิภาดา ผ่านชมภู อาจารย์ประจำชั้น ป.5 โรงเรียนผาสุกประชานุกูล จ.อุดรธานี ระบุว่า หลังจากโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ หรือทุนนักเรียนเสมอภาค ที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นั้น โรงเรียนสามารถบริหารจัดการเงินดังกล่าวอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันอาจารย์ในโรงเรียนยังได้ร่วมกันติดตามให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ทำให้ภาคเรียนที่ผ่านมานักเรียนที่เคยขาดเรียนกลับมาเรียนครบ 100 เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างที่เห็นผลชัดเจนก็คือเด็กนักเรียนหญิงชั้นป.5 คนหนึ่งอยู่กับคุณพ่อที่ค่อนข้างมีอายุ อยู่กันแค่สองคน ไม่มีรายได้เพราะแก่มากแล้วไม่ได้ไปรับจ้างที่ไหน ได้แค่เงินจากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กคนนี้เคยขาดเรียนไปเกือบเดือน พอไปสอบถามก็ทราบว่าเพราะไม่มีเงินมาโรงเรียน
“คุณครูก็ไปพูดคุยเพื่อพาตัวกลับเข้ามาเรียนโดยบอกว่ามีทุนตรงนี้ของ กสศ. ซึ่งครูดูแลโดยโรงเรียนจะจัดหาอาหารเช้าให้และให้เงินน้องวันละ 20 บาท หากเหลือก็ให้เก็บไว้ซื้อสิ่งของที่จำเป็น ครูก็สอนบอกว่าถ้าจะซื้อถุงเท้า กระเป๋าก็ให้เก็บจากเงินส่วนนี้ จนทุกวันนี้น้องมาโรงเรียนต่อเนื่องไม่มีขาดคุณพ่อก็มารับมาส่งทุกวัน”
ครูวิภาดากล่าวว่า เงินจาก กสศ. อีกส่วนหนี่งได้นำมาทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสอนให้เด็กได้รู้จักการประกอบอาชีพเสริมและพอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองและยังจะเป็นอาชีพที่ติดตัวไปในอนาคตอีกด้วย เช่น น้องนักเรียนป.5 คนดังกล่าวก็อยู่ชุมนุมธนาคารขยะ เป็นกรรมการซึ่งจะมีสิทธิพิเศษได้ขนมเป็นค่าตอบแทนที่จะเพิ่มแรงจูงใจให้มาเรียนอีกทางหนึ่ง
ทั้ง นักเรียนทุกคนไม่เฉพาะนักเรียนที่รับทุนจาก กสศ. สามารถเลือกเข้าร่วมชุมนุมทำโครงการที่เปิดสอนได้ เช่นเลี้ยงไก่ไข่ เพาะเห็ดนางฟ้า ทำโดนัทจิ๋ว ตามความสมัครใจอย่างน้อยหนึ่งโครงการ โดยแต่ละโครงการจะมีนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 30-40 คน โดยจะมีพี่ม.3 คอยเป็นพี่เลี้ยงสอนงานน้องๆ ป.4 ถึง ม.2 ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และมีอาจารย์ประจำช่วยควบคุมดูแลอีกทีหนึ่ง
อย่างเช่นชุมนุมเลี้ยงไก่ไข่พี่ๆ ก็จะสอนให้น้องให้อาหารไก่อย่างไร เก็บไข่อย่างไร ทำความสะอาดไข่อย่างไร แล้วนำไปจำหน่ายที่ไหน หรือ ผู้ปกครองมารับซื้อที่โรงเรียน เงินที่ได้มาจากการขายของโรงเรียนจะนำไปซื้ออุปกรณ์ หัวอาหารเพื่อดำเนินกิจกรรมต่อไป อีกส่วนหนี่งก็จะปันผลมายังนักเรียนเล็กๆน้อยๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังเช่นให้ไข่กลับไปกินที่บ้าน 5-10 ฟอง หรือ ให้เห็ดกลับไปกินที่บ้าน
“สิ่งที่ตั้งใจคือการฝึกทักษะอาชีพให้เด็กรู้จักหน้าที่ตัวเอง มีความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เช่นเด็กบางคนเอาความรู้ที่ได้ไปสอนแม่ให้ทำโดนัทจิ๋วทำให้ทุกวันนี้คุณแม่สามารถไปขายโดนัทจิ๋วสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ครอบครัว และนำเงินกลับมาเป็นทุนการศึกษาให้น้องได้เรียนต่อไป” ครูวิภาดาเผยความสำเร็จ
ครูวิภาดา เสริมอีกว่า สิ่งที่อาจารย์แต่ละคนทำคือพยายามทำให้เด็กกลับมาเรียนหนังสือให้ได้ต่อเนื่องไม่หลุดไปจากระบบการศึกษา แม้เด็กแต่ละคนจะมีปัญหาก็ต้องช่วยกันประคับประคองเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อไปจนจบ อย่างเมื่อได้ทุนการศึกษาแล้วก็ต้องติดตามลงไปดูว่านำเงินไปทำอะไร ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ซื้ออาหาร อุปกรณ์การเรียน เด็กบางคนไม่มีข้าวกิน มีเสื้อผ้าชุดนักเรียนชุดหนึ่ง ชุดลูกเสือชุดหนึ่ง ใส่ซ้ำๆ พอได้ทุนตรงนี้มาก็ช่วยให้เด็กสบายขึ้นอยากมาเรียนมากขึ้น
“เป็นเรื่องที่ครูภูมิใจมากที่เด็กได้กลับมาเรียนได้ครบ 100% พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนก็ดีใจ ร้องไห้ ที่เด็กด้อยโอกาสอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองร่วม 200 กิโลเมตร ได้รับความสนใจช่วยเหลือ ถามว่าเหนื่อยไหมครูที่นี่ทุกคนแบ่งงานกันทำ ครูประจำชั้นลงไปเยี่ยมบ้านหาข้อมูลคัดกรองเราทำหน้าที่ประสานงานเพื่อดูแลเด็กนักเรียนให้ดีที่สุด” อ.วิภาดากล่าว