การเรียนการสอนแบบใดที่จะสร้างผลลัพธ์และเหมาะสมกับยุคสมัย ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงรุกก้าวไกลการศึกษาจึงหยุดพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการเติมพลังเติมความรู้พัฒนาครูคือปัจจัยสำคัญที่จักช่วยยกศักยภาพการศึกษาให้ทัดเทียมทันสมัยนานาประเทศผ่านครูและโรงเรียน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญจนนำไปสู่การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาครูเครือข่ายครูเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 1 2 และ 3 และครูแกนนำในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)
ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning สู่การพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้และตอบสนองต่อการพัฒนาของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ Mr.Paul Collard ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร และที่ปรึกษาองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นพร้อมทำกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ นำไปพัฒนาเผยแพร่ให้กับโรงเรียนและครูที่เน้นเรียนแบบ Active Learning
Mr.Paul Collard กล่าวว่า ลักษณะกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ กระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความหมาย ด้วยการฝึกทักษะการคิด เช่นเดียวกับรูปแบบวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมเริ่มต้น ที่ทำให้คุณครูที่เข้าร่วมประชุม ได้ใช้สมองและความคิด ได้ทบทวน เรื่องการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา ว่าเรียนรู้มาแบบไหน ซึ่งเปรียบเหมือนการเตรียมพร้อมให้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ และ ปรับทัศนคติ เพื่อนำไปปรับใช้
“ต้องทำความเข้าใจว่า ห้องเรียนแบบ Active Learning มันไม่ใช่การเรียนผ่านการเล่นภายในห้องเรียน แต่ว่าจริงๆแล้ว มันคือการที่ผู้เรียน ได้เรียนรู้ด้วย ได้มีสังคม ได้เคลื่อนไหวและเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวกายภาพ คือ เรื่องสังคม เรื่องภาวะอารมณ์ และ เรื่องการพัฒนาปัญญา ความสามารถ ขณะเดียวกัน การเรียนรู้ ก็คือการต้องฝึกคิด เกี่ยวข้องกับการคิด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจำ สิ่งที่เกิดขึ้น ต้องเป็นเรื่องของทักษะการคิด ซึ่งระบบความคิดที่ดี จะช่วยให้เราสามารถจดจำและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง” Mr.Paul ระบุ
ด้าน ว่าที่ร้อยเอก รุ่งสว่าง บุญหนา ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ หนึ่งในจำนวนครูเครือข่ายที่เข้าร่วมการประชุมการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning สู่การพัฒนาผู้เรียน กล่าวว่า เดิมทีทางวิทยาลัยจะให้นักเรียนเน้นทักษะจากการที่ได้ฝึก พูดหรือการแสดงออกตามกิจกรรม ในแต่ละชั่วโมง ซึ่งแต่เดิม ตนก็ไม่ได้คิด ว่าจะต้องให้ความสำคัญขนาดนี้ แต่หลังจากที่ได้รับการอบรมพบว่ากิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็ก ได้มีส่วนร่วมและได้ฝึกทักษะกระบวนการคิด ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นการจุดประกายให้เด็กให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ
เช่นเดียวกับ ‘ครูยิ้ม’ศิริมา โพธิจักร รองผู้อำนวยการวิชาการ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ครูเครือข่ายซึ่งเข้าร่วมการประชุม การจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning สู่การพัฒนาผู้เรียน ยอมรับว่า การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ทำให้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ชัดขึ้น จากกรณี การจัดห้องเรียน การทำกิจกรรม หลังจากนี้ ก็จะนำความรู้ที่ได้ไปแชร์ไอเดียกับคุณครูที่โรงเรียน และดำเนินการสอนแบบ Active Learning เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตให้กับเด็กนักเรียนต่อไป
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า เพื่อให้สามารถเรียนรู้และตอบสนองต่อการพัฒนาของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ ต้องบอกลาการเรียนแบบเดิม ๆ และควรประยุกต์ใช้ Active Learning ในการเรียนการสอน เน้นการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าวัยทำงาน เพราะนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะปลุกพลัง และสร้างโอกาสในอนาคตให้กับเด็กเหล่านี้เดินไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้
“ส่วนการพัฒนารูปแบบนั้นอาจต้องทำทั้งโรงเรียน ไม่ใช่แค่การทำเพียงอยู่ในห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่ง ทั้งยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่กับองค์กร ผ่านการใช้พลังครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนที่มุ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของนักเรียน” นพ.สุภกร ย้ำ
นพ.สุภกร กล่าวว่า กสศ.จะนำผลการวิจัยและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาจากการทำงานวิชาการร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) มาสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ Active Learning โดยใช้การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High functioning Classroom) จากสถาบันความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร รวมถึงการใช้เครื่องมือส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณจาก OECD เพื่อพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง