นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพชีวิตไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทางการเงิน สุขภาพทางกาย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังเป็นห่วงน้องๆนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 ด้านสุขภาพจิต เช่นกัน เพราะปัจจุบันสังคมมีสิ่งเร้าหลายอย่าง รวมถึงปัญหาสารพัดอาจมากระทบกระเทือนต่อสุขภาพจิตนักศึกษาทุนนวัตกรรมฯ ทำให้ต้องมีการจัด ‘การประชุมเชิงปฏิบัติการหนุนเสริมกระบวนการพัฒนานักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ โดยจับมือ ‘สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์’ วางแนวทางการเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุนฯ
โดยเป็นกระบวนการเสริมพลัง (Empowerment) และเสริมสร้างคุณค่า(Value) ภายในตนเองของผู้บริหาร ครูอาจารย์ และนักศึกษาในระดับชั้น ปวช. และ ปวส. ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อการยอมรับและเข้าใจตนเอง รวมทั้งมีแนวทางการดูแลใจ ดูแลตนเอง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลลูกศิษย์ในการเรียน การดำเนินชีวิต และทำงานร่วมกับผู้อื่นทั้งในระหว่างการศึกษา ต่อเนื่องไปถึงอนาคตวันข้างหน้า
แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ กล่าวว่า ทีมสุขภาพจิตในสังกัดกรมสุขภาพจิต มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่รวมถึงงานในส่วนการรักษาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชเป็นภารกิจหลักอยู่แล้ว การจับมือกับ กสศ. ในครั้งนี้จึงเป็นการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กทุน ฯ แบบครบวงจร เชื่อมโยงถึงการดูแลแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว
บทบาทโดยตรงของทีมสุขภาพจิต คือการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิต ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษากลุ่มทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถรับการเสริมสร้างทักษะชีวิตเพื่อให้เกิดพฤติกรรมและอารมณ์ที่เหมาะสม พร้อมรับมือต่อการเผชิญปัญหา มีสุขภาพจิตและอารมณ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ต้องตรงกับเจตนารมณ์ของทุนได้
“นอกจากการดูแลที่มีผลต่อตัวน้อง ๆ เรายังช่วยในเรื่องการพัฒนาบุคลากรในวิทยาลัยอาชีวะที่อยู่ในโครงการ
ให้มีศักยภาพในการเป็นที่ปรึกษาให้เด็กสร้างทักษะและถ่ายทอดความรู้จนครูสามารถจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตให้น้องๆ ภายในมหาวิทยาลัยด้วยกำลังของตนเองได้นอกจากนี้ครูจะได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายสุขภาพจิตผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ซึ่งพร้อมร่วมรับรู้ปัญหาที่ครูพบจากน้อง ๆ เป็นรายกรณีโดยผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้คำปรึกษาในเบื้องต้นและวินิจฉัยพิจารณาส่งต่อในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยหรือปัญหาที่รุนแรง เพื่อให้เด็กได้พบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือสถานบริการในพื้นที่ที่เหมาะสมกับปัญหาของเขานั่นหมายถึงทีมของเราจะสร้างระบบการดูแลที่ครอบคลุมปัญหาสุขภาพจิตในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงทั้งหมด” แพทย์หญิงศุทรา กล่าว
เจ้าหน้าที่จากกรมสุขภาพจิต เผยต่อไปว่าการทำงานของทีมสุขภาพจิตจะเดินหน้าเชิงรุกและการเสริมสร้างทักษะชีวิตนั้นยังหมายถึงการทำให้เด็กเข้าใจทักษะและความสามารถบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในตนเอง ในการรับมือกับความเครียด ความขัดแย้ง หรือในการปรับตัวเข้ากับโรงเรียน การเรียน และเพื่อน ๆ ในวิทยาลัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการการใช้ชีวิตที่เด็กต้องพบผ่าน โดยการเสริมสร้างทักษะชีวิตเบื้องต้นเราจะส่งให้เป็นหน้าที่ของครู ที่จะได้รับการอบรมจากทีมพัฒนาโครงการ
“เราจะมีโปรแกรมทักษะชีวิตเป็นหลักสูตรสำหรับเด็กอาชีวะที่สำเร็จออกมาแล้วจากนั้นจะถ่ายทอดให้ครูเป็นลำดับแรก ซึ่งครูจะทำความเข้าใจและนำไปใช้กับเด็ก ๆ ขณะเดียวกันเราก็มีโค้ชซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามดูแล ว่าครูสามารถจัดกิจกรรมได้ตรงตามกรอบการอบรมมากน้อยแค่ไหน ระหว่างนั้นถ้าครูมีปัญหาติดขัดที่จุดไหนหรือเจอประเด็นที่ยากเกินความสามารถ โค้ชจะทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือและร่วมหาทางออก” แพทย์หญิงศุทรา กล่าว
แพทย์หญิงศุทรา ระบุว่าสำหรับกลุ่มนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่เด็กต้องผ่านความยากลำบากในชีวิต เผชิญเรื่องราวที่หนักหนาจนหลายคนเกิดเป็นปมเกี่ยวกับสุขภาพจิตอันมีความลึกซึ้ง การประเมินเด็กกลุ่มนี้จึงต้องทำอย่างละเอียดอ่อน ครูจำเป็นต้องทำความรู้จักกับเด็กเป็นรายคน การที่ยิ่งรู้ว่าเขามีความเปราะบาง
มาจากพื้นฐานครอบครัวไม่สมบูรณ์ หรือขาดแคลนโอกาส ยิ่งเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต ฉะนั้น ในเบื้องต้น เด็กกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางที่อาจจะรับมือกับปัญหาหนัก ๆ ไม่ได้ หรือในทางกลับกัน เด็กอาจมีความสามารถในการรับมือที่สูงกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป
สิ่งที่เราต้องตระหนักว่า เด็กกลุ่มที่มีความขาดพร่องบางอย่างเราสามารถเติมเต็มในส่วนที่เขาต้องการได้ เช่นเติมทักษะชีวิตเติมความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่ตรงจุดความต้องการของเขาแล้วเขาจะสามารถใช้สิ่งที่เรียนรู้เพื่อปรับใช้ในการผ่านพ้นปัญหาความเปราะบางของเด็กจึงเป็นเรื่องที่ครูต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และสังเกตเขาระยะหนึ่ง
“เด็กหลายคนที่เขาผ่านเรื่องราวหนัก ๆ ในชีวิต หรือเป็นเด็กด้อยโอกาสเขาอาจมีวิธีการจัดการปัญหาที่ดี
เพราะเขาจะมีทักษะบางอย่างในการเรียนรู้และฟื้นฟูตนเองได้ เด็กกลุ่มนี้เขาจะได้รับทักษะมาจากปัญหาที่พบมาในชีวิต ดังนั้นการเสริมสร้างในจุดที่เขาขาดก็จะต้องต่างจากเด็กกลุ่มอื่นเราจึงต้องแน่ใจว่าสามารถเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับเขาได้ถูกจุด แต่สุดท้ายแล้วเด็กทุกคนที่พบปัญหา เขาต้องมีที่ปรึกษาที่ไว้วางใจได้ซึ่งบุคคลแรกคือครูของเขา”
สำหรับช่องทางในการสื่อสารกับทีมสุขภาพจิต แพทย์หญิงศุทรา กล่าวว่า เบื้องต้นเรามีทีมส่วนกลางจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นเข้าแนะนำโครงการกับครูทุกวิทยาลัย เพื่อจุดประกายให้ครูได้รู้ว่าในฐานะที่เขาเป็นครูผู้ดูแลนักเรียนทุน เขาต้องเป็นแกนหลักในการให้คำปรึกษาเด็ก เปิดโอกาสให้ครูได้พบบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพื่อสร้างเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เพื่อให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกันเองในพื้นที่
“จึงเป็นการทำความรู้จักกันของทีมสุขภาพจิตกับครู ให้ครูเขาได้รู้สึกว่าเขาไม่โดดเดี่ยวในการดูแลเด็ก
โดยเฉพาะครูจะได้ทำความรู้จักตัวเองได้ลึกซึ่งขึ้น ว่าในฐานะครู เขาจะมีบทบาทกับเด็กอย่างไร ให้เขาได้เห็นความสำคัญและคุณค่าของตัวเองว่าเขามีอิทธิพลในด้านบวกกับเด็ก ได้มาก สามารถช่วยเปลี่ยนชีวิตของเด็ก ๆ ได้ รวมถึงมาแลกเปลี่ยนกันว่าทักษะที่เขาต้องการในการเสริมสร้างเพื่อนำไปใช้กับเด็กมีความจำเป็นอย่างไรบ้าง ให้เขาอุ่นใจว่ามันมีหลักสูตรและระบบที่เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับอยู่” แพทย์หญิงศุทรา กล่าว