การเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดจะช่วยเสริมผลการช่วยเหลือได้สำเร็จรวดเร็วขึ้น ยังเป็นการใช้ทุนที่คุ้มค่าตรงจุดหมายไม่เกิดความซับซ้อนกัน ทำให้การบริหารจัดเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล ทั้งหมดจะส่งผลไปถึงผู้รับที่ได้ถูกดูแลครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
นายอภิชาติ ไพลดำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนใต้ จ.กระบี่ กล่าวว่า นักเรียนที่โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ หรือนักเรียนทุนเสมอภาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยส่วนใหญ่จะนำไปซื้ออุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นต้องใช้ เพราะเงินอุดหนุนที่ได้รับสำหรับอุปกรณ์การศึกษาจาก สพฐ. นั้น แม้จะพอแต่เมื่อใช้ไปทั้งเทอมก็ต้องมีของที่ต้องซื้อเพิ่มเติม
สำหรับ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจนแถมยังไม่มีรายได้ มีสมาชิกเยอะ เมื่อได้ทุนของ กสศ. แล้วทำให้เปอร์เซ็นต์การขาดเรียนลดลง เด็กมีความสุขมากขึ้น มีความพร้อมด้านต่างๆ มากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมเอาใจใสกับบุตรหลานประสานงานกับทางโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น
ผอ.โรงเรียนบ้านควนใต้ กล่าวว่า ในส่วนของทุนที่โรงเรียนได้รับจะนำมาจัดเป็นอาหารเช้า เพราะนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนหนึ่งไม่ได้ทานข้าวเช้ามา จึงนำทุนนี้มาจัดอาหารเช้าให้นักเรียนทุนยากจนพิเศษทุกคน อีกส่วนหนึ่งเตรียมที่จะนำไปจัดโครงการพัฒนาอาชีพ เช่น ขายของผ่านออนไลน์โดยที่หมู่บ้านขึ้นชื่อเรื่องมะม่วงหิมพานต์ก็จะฝึกให้เด็กโดยซื้อตู้อบ และให้เด็กแพ็คกล่องขายในออนไลน์หารายได้เพิ่มเติมระหว่างเรียน
“ทุนกสศ. ไม่ได้ซ้ำซ้อน อยู่ที่จุดประสงค์และแนวคิดของโรงเรียนว่าจะเอาไปใช้อะไรมากกว่า เช่น นำมาใช้จัดโครงการอาหารเช้าเพราะเดิมมีแต่ทุนสำหรับอาหารเที่ยง หรือเอาไปใช้จัดเสริมอาชีพซึ่งปกติไม่มีงบส่วนนี้ มีแค่งบจัดการเรียนการสอนรายหัวเท่านั้น ทุนส่วนนี้จึงไม่ได้มองว่าซ้ำซ้อนแต่เป็นการเติมเต็มให้เด็กได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น” ผอ.โรงเรียนบ้านควนใต้ กล่าว
เช่นเดียวกับ ครูพุฒิสรรค์ อนุกูลพันธ์ จากโรงเรียนบ้านนาทะเล จ.ตรัง ระบุว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนที่ผ่านการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษได้รับทุนครบแล้ว โดยส่วนใหญ่จะนำเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียนและค่าเดินทาง เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ฐานะไม่ดีกว่า 70 % ครอบครัวหย่าร้างกัน บางคนต้องไปทำงานต่างพื้นที่ ทำให้ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย บางครอบครัวมีพี่น้อง 4-5 คน ปล่อยให้คนแก่เลี้ยงดูก็ลำบาก ทำให้บางวันเด็กต้องหยุดเรียนไปช่วยทำงานหารายได้ 1-2 วันก็กลับมาเรียนใหม่ การเรียนจึงไม่สม่ำเสมอ
“ยอมรับว่าเงินอุดหนุนจาก กสศ. จึงช่วยเด็กได้มาก บางคนได้นำไปซื้ออาหาร เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ช่วยให้เด็กกลับมาเรียน แต่ก็มีบางรายจริงๆ ที่บ้านเขาไม่พร้อมก็ต้องสลับไปทำงานหยุดเรียนบ้าง พอได้เงินในส่วนนี้เด็กเขาก็ดีใจเพราะเด็กบางคนลำบากจริงๆ ได้เงินตรงนี้ไปก็ช่วยได้มาก ขณะที่ในส่วนของโรงเรียนก็นำเงินที่ได้ไปจัดโครงการฝึกอาชีพให้เด็ก ทั้งเรื่องการเกษตร การทำขนมง่ายๆให้เด็กมีทักษะไปหารายได้ต่อไปในอนาคต” ครูพุฒิสรรค์ กล่าว