กสศ.ประกาศผล 43 สถานศึกษาสายอาชีพ ร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2563 หนุนเยาวชนช้างเผือก ม.3 ม.6/ปวช.3 หรือเทียบเท่า เก่ง-ดี-มีฝีมือ 2,450 ทุน เปิดรับสมัครระหว่าง 1ก.พ.-2 มี.ค.2563
วันที่ 19 มกราคม ที่ห้องประชุมแซฟไฟร์ 202 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระหว่างวันที่ 19 -20 มกราคม 2563 เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวคิดและหลักการโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ให้กับสถานศึกษาสายอาชีพที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณารุ่นที่ 2 ปี 2563 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแนะแนวประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองความยากจน และคัดเลือกนักศึกษาผู้รับทุน โดยมีผู้เข้าร่วม 180 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพทุกสังกัด (วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) จำนวน 43 แห่ง จากทุกภูมิภาคใน 34 จังหวัด
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ตามที่ กสศ. เปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์จากสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/อนุปริญญาทุกสังกัด เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2563 ระหว่างวันที่ 18 พ.ย.-9 ธ.ค.2562 มีสถานศึกษาส่งข้อเสนอโครงการจำนวน รวม 170 โครงการ จาก 119 แห่ง จำนวนทุนที่เสนอมาทั้งสิ้น 9,217 คน กสศ.ได้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาทั้งสิ้น 60 โครงการ ซึ่งจะดำเนินการในสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 43 แห่ง จากทุกภูมิภาคใน 34 จังหวัด มีจำนวนทุนทั้งสิ้น 2,450 ทุน สำหรับการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่คุณภาพและความพร้อมสูงสุดตามคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนรวม 38 ท่าน โดยเป็นคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการที่มี ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการจาก 3 ภาคส่วน ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชน
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.
“กระบวนการต่อจากนี้ สถานศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินการแนะแนวประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองความยากจนผ่าน Application และคัดเลือกนักเรียนทุนอย่างมีส่วนร่วม โดยเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนส่วนมากไม่คาดหวังว่าจะได้เรียนต่อ ซึ่งจากดำเนินงานหากสอบถามเด็กที่ได้รับทุนนวัตกรรมรุ่นที่ 1 จะเห็นว่าส่วนใหญ่ทราบเรื่องจากคุณครู จำนวนน้อยมากที่จะทราบจากข่าวประชาสัมพันธ์และโฆษณา ดังนั้นหากเราอยากเจอเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน สถานศึกษาต้องลงพื้นที่ค้นหานักเรียนที่เข้าข่ายยากจนตามโรงเรียนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงตั้งแต่ที่เด็กยังเรียนไม่จบ เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้นม.3 ม.6 ปวช. 3 หรือเทียบเท่า มีโอกาสทางการศึกษาในสายอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถและคุณภาพการศึกษาทางด้านสายอาชีพอีกด้วย” นายสุภกร กล่าว
นายสุภกร กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 นั้น กสศ. เน้นการทำงานเชิงรุกและเจาะกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น โดยประสานงานกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือคุยกับสถาบันที่จะสามารถฝึกอาชีพให้เด็กพิการ แม้อาจจะยังทำได้จำนวนไม่มากในรุ่นที่ 2 แต่ กสศ. จะพยายามพัฒนาตัวแบบเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เด็กอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเป็นโครงการที่มีคนจับตาดู เพราะจะทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กที่ขาดโอกาสนับหมื่นคน ดังนั้นถ้าโครงการสำเร็จก็จะทำให้เด็กได้รับโอกาสด้านทุนการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสายอาชีพ
(ขวา)น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ.
ด้านน.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แบ่งเป็น ทุน5 ปี (ปวช.ต่อเนื่องปวส.) จำนวน 810 ทุน สำหรับนักเรียนชั้นม.3 ที่จะจบการศึกษาในปี 2562 และทุน2 ปี (ปวส. อนุปริญญา) จำนวน 1,640 ทุน สำหรับนักเรียนชั้นม.6/ปวช.3 ที่จะจบการศึกษาในปี 2562 ส่วนเกณฑ์การรับสมัครนั้น จะพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์สำคัญ
- การขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยต้องเป็นนักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาส มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือนต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาทและผ่านกระบวนการคัดกรองความยากจน
- ศักยภาพในการเรียนต่อจนจบหลักสูตร โดยเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนสะสมดี เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดช่วงชั้นไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือภาคเรียนสุดท้ายมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0 กรณีเป็นนักเรียนชั้นม.3 ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขของกสศ. มีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ30 บนของระดับชั้นเมื่อเทียบกับกลุ่มนักเรียนม.3ของโรงเรียน หรือเป็นผู้มีความสามารถพิเศษโดดเด่นที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สถานศึกษาเปิดรับ ได้แก่ด้านทักษะฝีมือ และเชิงนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ได้รับรางวัลระดับกลุ่มโรงเรียน ระดับจังหวัด หรือระดับกลุ่มจังหวัด
- คุณสมบัติเฉพาะ อาทิ ความสนใจ ความถนัดและการมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนสายอาชีพ โดยสิ่งที่นักศึกษาทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน พร้อมกับกิจกรรมเสริมคุณภาพจนสำเร็จการศึกษากับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
“สถานศึกษาสายอาชีพทั้ง 43 แห่ง จะเปิดรับสมัครนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม2563 ผู้สนใจสามารถสมัครทุนได้ได้โดยตรงกับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษา สาขาที่เปิดรับ และดาวน์โหลดแบบฟอร์มสมัครทุน ได้ที่ www.eef.or.th หรือ 02-079-5475 กด2 ” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
ผศ.ดร.จำนงค์ จุลเอียด ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัย นราธิวาสราชนครินทร์
ขณะที่ ผศ.ดร.จำนงค์ จุลเอียด ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัย นราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีโรงเรียนขยายโอกาสตั้งอยู่หลายแห่ง ซึ่งเด็กๆเขามีความตั้งใจจะเล่าเรียน แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่งบของ3จังหวัด ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถออกไปทำงานประกอบอาชีพได้อย่างปกติ จึงไม่มีทุนทรัพย์ที่จะส่งให้เด็กได้เล่าเรียน ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นการให้โอกาสเด็กที่เรียนดีแต่ยากจน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างโอกาสในวิชาชีพเกษตร สร้างนวัตกรรใหม่ๆ เช่น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อพัฒนารูปแบบการผลิต
“พอนักเรียนรู้ว่ามีโครงการนี้ พวกเขาตื่นเต้นดีใจมาก หลังจากนี้ทางวิทยาลัยจะประชุมวางแผนการดำเนินงาน เน้นคัดกรองคนหาเด็กที่ยากจน ตามเกณฑ์เงื่อนไขที่กสศ.กำหนด โครงการนี้จะช่วยได้อย่างมาก ต้องขอบคุณภาครัฐและกสศ.ที่เปิดโอกาส ให้กับเด็กนราธิวาส” ผศ.ดร.จำนงค์ กล่าว