ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นความตั้งใจของ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ หรือ กสศ. ในการสร้างหน่วยพัฒนาอาชีพ ซึ่งจะมีบทบาทในการร่วมมือกับหน่วยพัฒนาอาชีพเดิมที่มีต้นทุนอยู่แล้ว และนำทัศนคติ แนวคิด หรือวิธีการทำงานที่ผ่านมา เข้ามาบูรณาการกับแนวทางของ ‘นักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีชีวิต’ หรือเรียกว่า ‘กระบวนกร’ ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น ‘พี่เลี้ยง’ เพื่อรับฟังและกระตุ้นความคิดกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในทุกภาคส่วนของสังคม อาทิ คนเร่ร่อน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ให้สามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ และได้รับโอกาสสร้างอาชีพโดยไม่เป็นฝ่ายรอรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
ด้วยการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันระหว่างหน่วยพัฒนาอาชีพจากต่างสาขา จะทำให้สามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ในการสร้างกลุ่มทักษะแรงงานใหม่ให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อเดินต่อไปข้างหน้าร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ได้กล่าวใน ‘เวทีหนุนเสริมภาคกลางและภาคตะวันตกครั้งที่ 1’ ซึ่งมีหน่วยพัฒนาอาชีพ 12 แห่งในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก เข้าร่วม ที่จังหวัดอยุธยา ว่า ‘ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส หรือคนที่ถูกสังคมมองข้ามและปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือความยากจน โดดเดี่ยว ไม่มีงานทำ อันเป็นสาเหตุให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งในด้านสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องสร้างสังคมให้เป็นพื้นฐานของการดูแลกัน
“คนด้อยโอกาสคือคนที่จนงาน จนเงิน จนความสุข จนสุขภาพ และขาดเพื่อน ขาดความช่วยเหลือที่จะช่วยนำพาชีวิตของพวกเขาให้เดินต่อไปได้ในระยะยาว การสร้างชุมชนให้เป็นฐานของการพัฒนาทักษะชีวิตจึงถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนจะได้มาสร้างสังคมด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน”
ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคกลางและภาคตะวันตก เรามี 12 พื้นที่เข้าร่วมในการเริ่มต้น และในอนาคตเรายังต้องการผู้มีเจตนาเดียวกัน ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อขยายพื้นที่และยกระดับการทำงาน ทีมงานทุกฝ่ายทั้ง กสศ. กระบวนกร และผู้เข้าร่วมทุกคนนับเป็นหน่วยหนึ่ง เป็นอีกมือหนึ่งที่จะมาร่วมออกแบบกระบวนการ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน เพราะความรู้คือสิ่งสำคัญที่เราต้องช่วยกันสร้าง แล้วความสัมพันธ์ที่จะก่อตัวเป็นปึกแผ่นในภายภาคหน้าจะพาให้งานที่ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันดำเนินไปได้ ส่วนตัวแล้วรู้สึกขอบคุณแทนผู้ด้อยโอกาสทุก ๆ คนในสังคม สำหรับสิ่งที่ทุกคนทำให้เกิดขึ้นในวันนี้
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการบริหาร กสศ.
ทางด้าน นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเสริมว่า กสศ. มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างกรอบการศึกษาใหม่ ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคมโดย ‘จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ และกองทุนฯ มีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชนทุกคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา
สำหรับ โครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยเรามีจุดประสงค์ของโครงการว่า เราไม่ได้มาให้ปลา แต่เราจะมาช่วยค้นหาและสร้างกระบวนการให้เขาได้ค้นพบและรู้จักวิธีการหาปลา ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตามคือผู้มารับบทบาทใหม่ เราจะไม่ใช่วิธีการเดิมๆ ที่ทำเพียงแค่นำเงินจากกองทุนไปมอบให้คนด้อยโอกาส แล้วปล่อยพวกเขาให้เผชิญอุปสรรคกันเองต่อไป แต่ถึงตรงนี้เราต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานไปด้วยกัน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ทุกคนมี เพราะในโลกศตวรรษที่ 21 นี้ จะไม่มีใครที่อยู่บนยอดบนสุดอีกแล้ว แต่ทุกคนต้องอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมช่วยเหลือ และเรียนรู้จากกัน
นายภัทระ คาดหวังกับโครงการฯนี้ว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ อยากให้ทีมงานทุกฝ่ายมีกำลังใจ มองไปยังเป้าหมายเดียวกันว่าถ้าโครงการดำเนินไปจนได้ข้อสรุปในตอนท้ายออกมา บทเรียนบทนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศเรา นั่นเพราะข้อสรุปที่เราได้รับจะหมายถึงว่า เราพบแล้วว่ามีวิธีการที่ดีขึ้นสำหรับการพัฒนาคนทุกภาคส่วน ทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้ ผลลัพธ์ที่ได้มันจะเกิดเป็นประโยชน์มหาศาลกับประเทศในภาพรวม แต่อย่างน้อยที่สุด สำหรับจุดเริ่มต้น แรงปรารถนาของทุกคนที่อยากให้ชีวิตของผู้อื่นดีขึ้น และเริ่มต้นที่คนๆ หนึ่งสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ 1-2 คนเป็นผลสำเร็จ เพียงเท่านี้พวกเราก็มีความหวังกับอนาคตได้มากขึ้นแล้ว
กสศ. อยุธยา ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ดร.สมคิด แก้วทิพย์ โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เวทีหนุนเสริมภาคกลางและภาคตะวันตกครั้งที่ 1 บอกเล่าความสำเร็จ รื่องเล่าจากชุมชน