The LEGO Foundation เปิดเผยรายงานผลศึกษาแนวทางส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเด็กและเยาวชนทั่วโลก ผ่านการประชุมพูดคุยและสัมภาษณ์กับนักกำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่อุทิศตัวทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สก็อตแลนด์ และเวลส์ โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดประกายให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้แนวทางและประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบในการปฎิรูปการศึกษาของแต่ละประเทศ
The LEGO Foundation และ นักวิชาการด้านการศึกษาทั้ง 5 ประเทศ ต่างเห็นตรงกัน ถึงความสำคัญของ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความคิดวิเคราะห์” ว่าเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีสำหรับโลกยุคใหม่ ที่แวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยี และปัจจัยท้าทายต่างๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการการคิดหาแนวทางแก้ไขหรือรับมือในทางที่สร้างสรรค์เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
เริ่มต้นที่ Dr David Howes รองเลขาธิการ ฝ่ายโรงเรียนและบริการการศึกษาระดับท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า การสร้างระบบการศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอยู๋ในสังคมต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่จะตอบโจทย์ต่อตลาดงานในอนาคต
ทางออสเตรเลีย เริ่มการปฎิรูปการศึกษาและนำหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวมาใช้ โดยมุ่งพัฒนาทักษะการคิดให้ครอบคลุม 3 ด้าน คือ การใช้เหตุผล กระบวนการและการได้มาซึ่งความรู้ (Reasoning, processing and inquiry) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ การตอบสนอง การประเมิน และความตระหนักรู้เข้าใจ (Reflection, Evaluation and Metacognition)
โดยภาครัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 ลงทุนพัฒนาผลักดันให้รัฐวิคตอเรีย เป็น รัฐแห่งการศึกษา หรือ The Education State ที่จะพัฒนายกระดับการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงให้การช่วยเหลือเด็กในการเรียนรู้ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างดีที่สุด ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้ ประกอบด้วย การเรียนรู้ตลอดชีวิต, การทำให้เด็กมีความสุข สุขภาพแข็งแรง และมีความอดทน, ให้การส่งเสริมสนับสนุนเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาให้มากขึ้น, ช่วยเอาชนะปัจจัยลบต่างๆ และสร้างความภาคภูมิใจภายในโรงเรียน
ภายใต้โครงการปฎิรูปการศึกษาฉบับใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อ Victorian Curriculum F-10 ซึ่งมุ่งผลักดันให้วิคตอเรีย เป็นรัฐแห่งการศึกษานี้ จะช่วยยกระดับผลลัพธ์การเรียนของผู้เรียน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ การทำให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการศึกษาตั้งแต่วัยเยาว์ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีต้นทุนชีวิตเลวร้ายเพียงใด เพิ่มการเรียนการสอนพื้นฐานอย่างการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ ศิลปะ และกีฬา
Dr David Howes กล่าวว่า จุดเด่นสำคัญของ Victorian Curriculum F-10 ก็คือ การให้น้ำหนักกับหลักสูตรที่จะส่งเสริมให้เด็กได้ผู้เรียนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่า ทางโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จำต้องปรับหลักสูตรให้มีการยืดหยุ่น เหมาะสมกับความสามาถและความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก และมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาให้เด็กมีความคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูงสุด
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมที่จะกำหนดแบบประเมินและทดสอบให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ทางโรงเรียนสามารถใช้ผลลัพธ์ดังกล่าวในการกำหนดทิศทางและปรับปรุงการเรียนการสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนต่อไป
ด้านคุณ Shun Shirai รองอธิบดีศูนย์ทดสอบการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (National Center for University Entrance Examination) ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักและเห็นความสำคัญของ ความคิดสร้างสรรค์มาโดยตลอด โดยกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ของญี่ปุ่น กล่าวอย่างชัดเจนว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่จำเป็นต่อประเทศ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่อยหรอของทรัพยากร หรือ สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลง ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคิดค้นหาทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้
ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่น ระบุความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะหนึ่งที่ต้องปลูกฝังให้กับนักเรียนญี่ปุ่นทุกคนไว้ในหลักสูตรการศึกษาของประเทศ ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์ ดนตรี และศิลปะ โดยได้ปรับหลักสูตรการศึกษาไปสู่ IS หรือ Interdisciplinary Study หรือที่รู้จักในภาษาญี่ปุ่นว่า “Yutori Education”
โดยเป้าหมายหลักของ IS คือการมุ่งปลูกฝังทักษะความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกไปกับวิชาการบังคับในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม เป็นกิจกรรมที่ไม่มีหนังสือเรียนหรือหลักสูตรที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน แต่จะเน้นให้เด็กได้พยายามคิดหาแนวทางแก้ไขด้วยตัวของพวกเขาเอง
หลักสูตร IS ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1999 และมีการปรับปรุงหลักสูตรมาโดยตลอดจนได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ยืนยันได้จากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ระบุว่า นักเรียนได้รับมอบหมายในกิจกรรมที่ต้องการทักษะการคิดอย่างเปิดกว้างและเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตต่อไปภายภาคหน้า
นาย Shirai ย้ำว่า เคล็ดลับความสำเร็จของการบ่มเพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์ก็คือ ระยะเวลาและความต่อเนื่อง ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงสอดแทรกกิจกรรมเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ไว้ตลอดการศึกษาภาคบังคับทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือการให้ความสำคัญกับครูผู้สอน ที่จะต้องเสริมทักษะการสอนและให้ครูเข้าใจ รวมถึงเห็นความสำคัญของทักษะความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการคอยสนับสนุนให้โรงเรียนสร้างเครือข่าย เพื่อให้มีการออกแบบกิจกรรมส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ นอกเหนือไปจากทักษะทางวิชาการ
แน่นอนว่า แม้ทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็นนามธรรมที่วัดผลได้ยาก กระนั้น การออกแบบแบบประเมินที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพื่อใช้เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันว่า หลักสูตรการศึกษาที่เน้นทักษะความคิดสร้างสรรค์คือการศึกษาที่เหมาะกับโลกในอนาคตอย่างแท้จริง
ขณะที่คุณ Gayle Gorman ประธานบริหารและ ฯพณฯ หัวหน้าผู้ตรวจสอบด้านการศึกษาแห่งสก็อตแลนด์ (Chief Executive and Her Majesty’s Chief Inspector of Education) กล่าวว่า เป็นโชคดีที่รัฐบาลสก็อตแลนด์ตระหนักและเห็นความสำคัญของทักษะความคิดสร้างสรรค์ ในฐานะหัวใจหลักที่จะพัฒนาทักษะของบุคลากรในชีวิตการเรียน การดำรงชีพ และการทำงาน
ดังนั้น สก็อตแลนด์จึงปฎิรูปการศึกษาและบรรจุทักษะความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นส่วนประกอบหลักของหลักสูตร The Curriculum for Excellence (CfE) ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในสก็อตแลนด์อายุระหว่าง 3-18 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ และองค์กรเอกชนอย่างเต็มที่
ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อบุคลากร และถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะประชากรที่มีทักษะแรงงาน มีฝีมือ มีความคิดสร้างสรรค์และพร้อมเรียนรู้จะสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่ประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าแผนปฎิรูปการศึกษาในปี 2010 ทักษะความคิดสร้างสรรค์เพียงสอดแทรกอยู่ในแผน แต่ไม่มีการนำมาใช้อย่างเด่นชัด เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ ก่อนที่รัฐจะระบุให้กระบวนการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทักษะความคิดสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อตอบโจทย์แผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สก็อตแลนด์ ตัดสินใจบรรจุทักษะความคิดสร้างสรรค์ ไว้ในกลยุทธ์การจ้างงานคนหนุ่มสาว หรือ Scottish Government’s youth employment strategy ในปี 2014 ที่กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บรรดาสถานการศึกษาเร่งจัดการกิจกรรมที่เพิ่มทักษะ meta skills ซึ่งเป็นทักษะความรู้รอบด้านที่ผู้เรียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เผชิญในชีวิตประจำวันได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะแวดล้อมต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาเรียนรู้ทักษะอื่นๆที่จำเป็นต่อการไขว่คว้าสำเร็จในชีวิตต่อไป
นอกจาก CfE แล้ว สก็อตแลนด์ยังได้ก่อตั้ง Creative Learning Partnership (CLP) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เกิดจาหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ 8 แห่ง – Creative Scotland, Education Scotland, Scottish Government, College Development Network, Association of Directors of Education in Scotland, Skills Development Scotland, General Teaching Council for Scotland and Scottish Qualification Authority – โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในสก็อตแลนด์ และเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้นักกำหนดนโยบายและผู้ปฎิบัติใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนให้มากที่สุดในทุกบริบทของการศึกษา
ทั้งนี้ เคล็ดลับสำคัญของการเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของสก็อตแลนด์ก็คือการเล่น และความสนุกสนาน ซึ่งช่วยให้เกิดความร่วมมือจากผู้สอนและนักเรียน รวมถึงทำให้เกิดการพัฒนาไปในทางบวก ขณะที่ในส่วนของการวัดประเมินผล นอกจากจะใช้แบบทดสอบตรวจวัดแล้ว สก็อตแลนด์ยังออกแบบการวัดผลที่เปิดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประเมินด้วย ซึ่งช่วยให้ทางโรงเรียนและครูได้รับทราบข้อมูลในมุมมองของผู้เรียน ที่จะนำไปปรับใช้กับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ต่อไป
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ระบุว่า ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้สำคัญของระบบการศึกษาที่ประเทศไทยตระหนักดี เพียงแต่ที่ผ่านมา ไม่มีเครื่องมือหรือหน่วยงานที่จะผลักดันให้เกิดการนำเสนอหรือปฎิรูปทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง จนกระทั่ง ได้รับความร่วมมือจาก OECD ในการออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในส่วนของไทย สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ คือการปฎิรูปการศึกษาให้เด็กนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน ด้วยการจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวกลาง ที่ประสานงานกับทุกฝ่าย ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ องค์การภาครัฐ เอกชน หน่วยงานอิสระจากทั้งในและต่างประเทศ ในการนำมาตรการที่ร่วมวางไว้กับ OECD มาปฎิบัติ เพื่อให้เด็กไทยเกิดทักษะการรู้จักคิดวิเคราะห์ และการคิดสร้างสรรค์ อย่างเป็นระบบ
สำหรับเป้าหมายของโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ ระดับประเทศก็คือการปฎิรูปการศึกษา และได้เห็นหลักสูตรใหม่ที่ผ่านการปฎิรูปแล้วในปี 2020 ซึ่งมีระบบประเมินและชี้วัดที่ชัดเจนและเหมาะสม ส่วนในระดับโรงเรียน ก็คือการเห็นโครงการของ OECD มีการนำไปใช้ในโรงเรียน 5-10 แห่งในแต่ละเขตการศึกษาทั้งหมด 225 แห่งทั่วไทยต่อไป
โครงการดังกล่าวยังพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อการเรียนการสอนได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง นักเรียนไทยก็สามารถทำทดสอบและการประเมินได้ดีไม่แพ้เด็กชาติใดในโลกเช่นกัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานและสังคมในอนาคต ทำให้เราจำเป็นต้องปฎิรูปและสร้างระบบการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับอนาคตดังกล่าว รวมถึงการใช้และอุทิศทรัพยากรที่มีอยู่ในการส่งเสริมทักษะการสอนของครู ให้ครูสามารถเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การทำงานก็ยังมีอุปสรรคอยู่ คือ การที่ไม่สามารถขยายระยะเวลาการทดลองให้ครอบคลุม 1 ปีการศึกษาได้ ทำให้ไม่สามารถศึกษาผลกระทบในระยะยาว และช่องว่างจากระบบสุ่ม ที่แม้จะพยายามสุ่มโดยให้ครอบคลุมโรงเรียนใหญ่และเล็ก โรงเรียนที่มีผลการเรียนดีและด้อย และโรงเรียนจากในเมืองและชนบท แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ถึงจะมีความหลากหลาย ก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าสะท้อนถึงระบบการศึกษาของไทยทั้งประเทศได้
นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ยังเสริมว่า สิ่งที่ไทยควรทำต่อไปก็คือการหาหนทางที่จะลองทดสอบโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมระยะเวลา 1 ปีการศึกษา เพื่อยืนยันผลความสำเร็จที่เกิดขึ้น และหาหนทางในการยกระดับพัฒนาความเข้าใจของครูในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ให้ออกมาดียิ่งขึ้นต่อไปได้
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลักเพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยได้รับการปฎิรูปในทางบวก ก็คือ ความร่วมมือจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนักการเมืองทั้งหลายที่ต้องการสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของเวลาและงบประมาณ พูดคุยรับฟังความเห็นของคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญด่านการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลครอบคลุมรอบด้านก่อนตัดสินใจออกนโยบายด้านการศึกษาใดๆ
ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กก็ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการทำให้การปฎิรูปการศึกษาเกิดขึ้น เพราะถือเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่จะทำให้ภาครัฐตระหนักและเห็นความสำคัญของการปฎิรูปการศึกษา
สำหรับในส่วนของการจัดทำการประเมินทดสอบ ดร.ไกรยส เสริมว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพื่อให้มีผลการดำเนินที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งการจัดทำการทดสอบยังช่วยให้คณะทำงานมองเห็นแนวทางและทิศทางที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ตามที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องการได้ต่อไป
ขณะที่คุณ Kirsty Willams รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเวลส์ กล่าวถึง หัวใจสำคัญของหลักสูตรการศึกษาในเวลส์ ว่า อยู่ที่การถือผู้เรียนเป็นหลัก โดยทุกกิจกรรมและทุกหลักสูตรการเรียนการสอนต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาทักษะต่างๆ ของผู้เรียน ซึ่งในขณะนี้เวลส์กำลังอยู่ในระหว่างการปฎิรูประบบการศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์ ความต้องการของกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะความต้องการทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือทักษะความคิดสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้จ้ดทำโครงการ The Creative Learning through the Arts Programme ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือและทุนสนับสนุนจาก รัฐบาลเวลส์ และสภาศิลปะแห่งเวลส์ (The Arts Council of Wales) เพื่อมุ่งใช้ศิลปะแขนงต่างๆ ในการเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
โครงการ The Creative Learning through the Arts Programme ประกอบด้วยกิจกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ 2 ด้าน คือ 1.The Lead Creative Schools Scheme เป็นโครงการที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ผ่านความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้การเข้ามาดูแลของผู้เชี่ยวขาญด้านความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมมือครูและนักเรียน เพื่อออกแบบการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ ปัจจุบันมี 1 ใน 3 ของโรงเรียนทั่วเวลส์ที่เข้าร่วมโครงการ
และ 2.The All-Wales Arts and Education Offer เป็นโครงการที่มีการออกแบบกิจกรรมเพื่อเพิ่มและยกระดับโอกาสของครู นักเรียน ศิลปิน และองค์กรด้านศิลปะ วัฒนธรรมและมรดก ให้ได้ทำงานร่วมงาน จนเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปะและการศึกษา การจัดตั้งกองทุนศิลปะ และการสร้างเขตพื้นที่การเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์
ขณะเดียวกัน ในระหว่างการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว ทางหน่วยงานยังเปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในแง่ของการแสดงความคิดเห็น การร่วมลงมือปฎิบัติ และการให้ทุนสนับสนุน เช่น การอบรมให้ความรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจการทำธุรกิจ และการทำงานในชีวิตจริง ทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนของเวลส์ มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาทักษะต่อการดำรงชีวิตและความรู้ที่ต้องเรียนมากขึ้น
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการปฎิรูปการศึกษาของเวลส์ก็คือการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเฉพาะการรู้เท่าทันโลกในด้านต่างๆ ผ่านแนวทางที่สร้างสรรค์ รวมถึงให้การศึกษาในแนวทางสร้างสรรค์ที่จะทำให้เด็กนักเรียนมีประสบการณ์ที่ดีต่อการศึกษาเล่าเรียน ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอน ที่จะได้มีโอกาสแลกปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันความรู้ในการสอนกับครูด้วยกันเอง แลกกับผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ทางรัฐบาลจัดหาไว้
ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดทำโครงการ ทำให้ทางเวลส์ ค้นพบว่า ความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทสำคัญต่อหลักสูตรการศึกษาแนวใหม่ ขณะที่การเดินหน้าพัฒนาโครงการให้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน ที่โรงเรียนหนึ่งจะให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนและทรัพยากรให้แก่อีกโรงเรียนหนึ่งที่ขาดแคลน ก็เป็นส่งจำเป็น ควบคู่ไปกับ การวางแผนผลักดันให้หลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนายกระดับทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ยั่งยืนต่อไป
ส่วน The LEGO Foundation คาดหวังว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ จะริเริ่มให้นานาประเทศให้ปฎิรูประบบการศึกษาในประเทศของตนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยความรู้และวิธีการที่ถ่ายทอดอยู่ข้างต้นนี้ไม่มีผิดหรือถูก มีเพียงแต่ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพบริบทของสังคมและธรรมชาติของผู้เรียนเท่านั้นเป็นสำคัญ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้มีการปฎิรูปเพื่อความคิดสร้างสรรค์ เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแนวทางการปฎิรูปการศึกษา และเป็นเหมือนตัวจุดประกายให้เกิดการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ในวงการการศึกษาต่อไป