เรียนออนไลน์อย่างเดียวไม่พอ
แต่ต้องมีรูปแบบอื่นเสริมด้วย
ท่ามกลางมาตรการเฝ้าระวังเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรณรงค์ให้คนอยู่บ้าน ลดการเดินทางและ รักษาระยะห่างในสังคม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะยืดเวลาออกไปนานกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัว โดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
“ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า เท่าที่เห็นเวลานี้หลายคนยังมองไปแต่การใช้เครื่องมือทางออนไลน์เข้ามาเป็นสื่อการเรียนการสอน ซี่งในทางปฏิบัติแล้วอาจต้องใช้ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ออนไลน์เข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของเด็กและโรงเรียนในแต่ละพื้นที่
“Remote Learning”
โมเดลการศึกษาที่ครอบคลุมได้ทุกพื้นที่
สำหรับพื้นที่ห่างไกล ถือเป็นอีกพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งการออกแบบการเรียนการสอนในสถานการณ์นี้ควรเป็นแบบ “Remote Learning” ที่ครอบคลุมทั้งการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตามความพร้อมและความเหมาะสม
หากโรงเรียนมีความพร้อมก็ใช้เป็นแบบออนไลน์ แต่หากไม่พร้อมก็ใช้เป็นออฟไลน์ โดยการเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนา มีจุดร่วมของการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง มีการจัดชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เรียกว่า “Learning Package” ให้ทางโรงเรียนสามารถเลือกนำไปใช้ได้ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงชั้นปี เช่น เด็ก ป.5- ป.6 อาจจะเรียนด้วยตัวเองได้ โดยมีผู้ใหญ่คอยตรวจการบ้านตอนเย็น หรือหากเป็นเด็กชั้น ป.1 -ป.3 อาจต้องมีผู้ใหญ่ประกบใกล้ชิด
และสถานการณ์ตอนนี้จำเป็นต้องอาศัย ผู้ปกครองเข้ามาสนับสนุนทำงานร่วมกับคุณครู เช่น มีการกำหนดให้มารับ Learning Package ทุกสองสัปดาห์ โดยครูจะอธิบายว่าต้องทำอะไรบ้าง มีวิธีการสื่อสารอย่างไร หากไม่มีอินเทอร์เน็ตก็อาจใช้มือถือเข้ามาช่วย
“คุณครู” มีบทบาทสำคัญ
ในการขับเคลื่อนการศึกษาทางไกล
ผศ.อรรถพล ยกตัวอย่างเพิ่มว่า ในส่วนของเด็กประถมต้นนั้น ควรมีการจัดตารางดูแลชีวิตเด็กว่าวันหนึ่งเขาต้องทำอะไรบ้างเวลาอยู่บ้าน เช่น ครูที่อินเดียจะจัดตารางให้เด็ก เพื่อให้เป็นไอเดียสำหรับคุณพ่อคุณแม่ว่าจะดูแล
บุตรหลานอย่างไร จะสร้างการเรียนรู้กันด้วยวิธีไหนได้บ้างในระหว่างนี้
กรณีของอังกฤษซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชน ครูจะทำหน้าที่คอยประสานกับผู้ปกครองเวลาอธิบายให้บุตรหลานฟังหรือบางครั้งก็ขับรถหิ้วกระดานไปสอนนักเรียนถึงหน้าบ้าน ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้เป็นของโรงเรียนในชุมชนที่ไม่ต้องเดินทางไกลมาก แต่หากเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล เดินทางไปได้ยาก ก็จะใช้ Learning Package แทน
“ทั้งหมดนี้เป็นไอเดีย ซึ่งคุณครูที่โรงเรียนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะเขาจะรู้จักบริบทของโรงเรียน และเด็กนักเรียนได้ดีที่สุด รู้ว่าจะจัดระบบอย่างไร เด็กเขาควรจะทำกิจกรรมประเภทไหน วัดผลอย่างไร” ผศ. อรรถพล กล่าว
แต่หากเป็นกรณีของผู้ปกครองที่มีข้อจำกัด เช่น เป็นชนเผ่าไม่สามารถใช้ภาษาไทย โรงเรียนก็จะมีบทบาทสำคัญเช่นกันที่จะช่วยคิดหาทางแก้ไข เช่น ให้ครูลงพื้นที่ไปช่วยสอนวิชานี้ตอนเช้าสอน ป.1-3 ตอนบ่าย ป.4-5 ลงไปวันเดียวอาจสอนได้ทุกชั้น หรืออาจไปเป็นคู่ ครูสอนภาษาไทย-อังกฤษ
ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่ “หน่วยงานภาคการศึกษาท้องที่” ว่าจะออกแบบการเรียนการสอนอย่างไรให้เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกัน