ความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยต้องระวังเมื่อปิดโรงเรียนหนี COVID-19

ความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยต้องระวังเมื่อปิดโรงเรียนหนี COVID-19

แปลและเรียบเรียงโดย
นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ชี้ มาตรการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกัน COVID-19 ระบาดจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพุ่งสูงมากขึ้น แนะรัฐบาลนานาประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางให้การศึกษาแบบองค์รวม ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพจิตใจในกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสด้วย 

สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ไม่เพียงส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายของผู้คนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเรียน การทำงานและการดำรงชีวิต

ท่ามกลางปัญหาท้าทายที่ถาโถมเข้ามา หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดจากผลกระทบ คือการหาระบบการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อแทนที่โรงเรียนซึ่งไม่สามารถเปิดให้เรียนได้ตามปกติ

Lucie Cerna นักวิเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการบริหาร ด้านการศีกษาและทักษะของ โออีซีดี (OECD Directorate for Education and Skills) เปิดเผยว่า จนถึง ณ วันที่ 16 เมษายน มีโรงเรียนใน 191 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนเด็กนักเรียนราว 91% ต้องปิดโรงเรียนเพื่อสกัดกั้นการระบาดของ COVID-19

แน่นอนว่า การปิดโรงเรียน ย่อมส่งผลกระทบต่อนักเรียนทุกคน ทว่า เด็กนักเรียนยากจน หรือ เด็กด้อยโอกาส เด็กจากครอบครัวรายได้น้อย เด็กจากพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มแรงงานอพยพ และชนกลุ่มน้อย รวมถึง กลุ่มเด็กพิเศษ กลับเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับผลกระทบเสียหายจากการปิดโรงเรียน เพราะ COVID-19 มากที่สุด

เหตุผลเพราะ โรงเรียน ไม่ใช่แหล่งอบรมให้ความรู้การศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญในการค้ำจุนเลี้ยงดูด้านร่างกาย และจิตใจ ของเด็กๆ ในกลุ่มเหล่านี้อีกทั้งหนึ่งด้วย

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงและโดนโดดเดี่ยวจากสังคมมากขึ้น และไม่น่าแปลกใจ หากวิกฤติ COVID-19 จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายวงกว้างมากขึ้น

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา Cerna กล่าวว่า วิธีการป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และทำให้เด็กทุกคน ทุกชนชั้น ยังมีส่วนร่วมกับโรงเรียน แม้สถานที่ที่ทำการเรียนการสอนจะปิดตัวลงไป ก็คือการให้การศึกษาแบบองค์รวม 

การให้การศึกษาแบบองค์รวมนี้ หมายรวมถึง การตอบสนองต่อความต้องการทางด้านการศึกษาเล่าเรียน สังคม และสภาพจิตใจของผู้เรียน และเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ

สำหรับการปิดโรงเรียนในปัจจุบัน Cerna กล่าวว่า หมายความถึงการที่เด็กนักเรียนด้อยโอกาสจะไม่สามาถรับความช่วยเหลือพิเศษอื่นๆ ที่เคยได้รับจากโรงเรียน เช่น มื้ออาหารฟรี ขณะเดียวกัน การที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน จะส่งผลต่อสภาพจิตใจในแง่ของความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองที่จะลดลง อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กอย่างมีส่วนร่วมในการศึกษา

นอกจากนี้ แม้ว่า หลายประเทศทั่วโลก จะใช้เครื่องมือเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัล มาใช้ดำเนินการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนความรู้ความเห็น และพูดคุยกันระหว่าง คุณครู และเพื่อนร่วมชั้นเรียนอย่างเต็มที่ กระนั้น เด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่โดนกีดกันออกจากห้องเรียนโดยไม่ตั้งใจ เพราะขาดแคลนอุปกรณ์

แม้การที่รัฐบาลบางประเทศจะให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ และอินเทอร์เน็ต ในกลุ่มเด็กเหล่านี้ แต่ Cerna ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ควรหาแนวทางสนับสนุนอื่นๆ มาเป็นตัวเลือกให้แก่เด็กเหล่านี้ด้วย เพราะช่วงเวลาวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้เงื่อนไขในการดำรงชีวิตของเด็กๆ กลุ่มนี้ซับซ้อนขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ที่นิวซีแลนด์ นอกจากออกแพล็ตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์แล้ว ทางการยังได้ส่งตัวหนังสือหรือเอกศาล พร้อมรายการโทรทัศน์พิเศษด้านการศึกษา เพื่อเข้าถึงเด็กนักเรียนทุกตามความสะดวก ขณะที่ ออสเตรเลีย จัดเตรียมอุปกรณ์และแหล่งข้อมูลด้านดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางไกล อย่าง ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ นำเสนอบทเรียนการสอนสดออนไลน์ ผ่านการประชุมทางวีดีโอ โทรศัพท์ ดาวเทียม และการทัศนศึกษาเสมือนจริง ควบคู่ไปกับ การฝึกปฎิบัติด้วยการจัดส่งบทเรียนทางอีเมล์ ไปรษณีย์ หรือ ระบบบริหารจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ Moodle เพื่อให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลติดตามบทเรียนได้ทันเพื่อน

ในส่วนของกลุ่มเด็กพิเศษ เช่น เด็กผู้พิการทางการมองเห็นและการได้ยิน กลุ่มเด็กออทิสติก หรือกลุ่มเด็กไฮเปอร์ ก็ถือเป็นอีกกลุ่มที่ไม่อาจมองข้ามหรือละเลยได้เช่นกัน ซึ่งโชคดีว่า เทคโนโลยีในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยให้ออกแบบการเรียนการสอนเหมาะกับเงื่อนไขของเด็กๆ กลุ่มนี้ เพียงแต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ การพูดคุยใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยสนับสนุนในการเรียนของเด็กกลุ่มพิเศษเหล่านี้

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อป้องกันปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ก็คือการหาแนวทางสนับสนุนด้านสังคมและจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะรู้สึกถูกตัดขาดเพิกเฉยจากสังคมได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ซึ่งการที่ทำให้เด็กยังคงเรียนหนังสือต่อไปได้แม้จะไปโรงเรียนไม่ได้เพราะโรงเรียนปิด เป็นหนึ่งในหนทางสำคัญที่จะป้องกันความรู้สึกทางลบดังกล่าว

ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา สมาคมที่ปรึกษาโรงเรียนแห่งสหรัฐฯ (American School Counsellor Associatio)ได้เปิดบริการให้คำปรึกษาแก่บรรดาโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงบริการอื่นๆ ทีเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถดูแลนักเรียนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึงเหมาะสม ขณะที่ สายด่วน Kids Help Phone ในแคนาดา เปิดบริการ e-mental สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ส่วน บรรดานักจิตวิทยาและที่ปรึกษาในฟินแลนด์ เปิดสายด่วนให้แก่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาโดยเฉพาะ และ กลุ่ม  Autism Spectrum Australia ใน ออสเตรเลีย เปิดให้บริการประเมินอาการออนไลน์ และการบำบัดทางไกลแก่กลุ่มเด็กพิเศษ

ด้านเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสที่พึ่งพาอาหารโรงเรียนเพื่อความอยู่รอด รัฐบาลนานาประเทศ ควรสรรหามาตรการมาจัดการเพื่อทำให้แน่ใจว่า แม้ต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน เด็กๆ และครอบครัว ยังสามารถมีกินให้อิ่มท้อง ไม่ว่าจะเป็นการ ออกบัตรกำนัล หรือส่งมื้ออาหาร ไปถึงบ้านโดยตรง ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์กรทางสังคมและหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนในเมืองโอ๊คแลนด์ของสหรัฐฯ จัดโครงการ “Grab and go” สำหรับมื้อเช้าและมื้อกลางวัน ให้แก่เด็กยากจน โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก มูลนิธิ eat.learn.play

Cerna กล่าวว่า จากข้อมูลด้านแนวทางการศึกษาของแต่ละประเทศ พบว่า ปัจจัยที่จะทำให้การศึกษาแบบงองค์รวมเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล กับหน่วยงานอื่นๆ ที่กี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถส่งผ่านการศึกษา บริการ และความช่วยเหลือต่างๆ ที่จำเป็น ส่งตรงถึงกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรน่า

ยกตัวอย่างเช่น ในระยะต่อไปที่โรงเรียนจำเป็นต้องช่วยให้เด็กนักเรียนยากจนเรียนตามทันเพื่อนให้ได้ ก็อาจร่วมมือกับองค์การเอ็นจีโอ ในการปรับใช้โครงการพัฒนาการเรียนของเด็กอพยพ มาใช้กับเด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาสของโรงเรียนต่อไป เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนพิเศษเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของโออีซีดี ระบุว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดต่อจากนี้ก็คือสถานการณ์หลังการระบาดของ COVID-19 ที่มีต่อแวดวงการศึกษาในระยะยาว และสิ่งที่โรงเรียนต้องทำมากที่สุดก็คือ การร่วมมือกับรัฐบาล คุณครู ผู้ปกครอง นักเรียน สังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและสาธารณสุขในการทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ที่พร้อมให้การสนับสนุน และเปิดให้เรียนอย่างเท่าเทียมทั่วถึง แก่เด็กนักเรียนทุกคน

 

ที่มา :  Lucie Cerna นักวิเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการบริหาร ด้านการศีกษาและทักษะของ โออีซีดี
(OECD Directorate for Education and Skills)
Coronavirus school closures: What do they mean for student equity and inclusion?