ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย MIT ชี้ “แจกเงิน” ช่วย COVID-19 ไม่ใช่ “ความใจกว้าง” แต่คือ “ความอยู่รอด”

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย MIT ชี้ “แจกเงิน” ช่วย COVID-19 ไม่ใช่ “ความใจกว้าง” แต่คือ “ความอยู่รอด”

นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวอินเดีย ออกโรงสนับสนุนนโยบายแจกเงินจากภาครัฐให้ถึงมือประชาชนโดยตรงว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลอินเดียสมควรทำเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ พร้อมย้ำ แนวทางดังกล่าวไม่ใช่การกระทำเพื่อแสดงความใจกว้างหรือการผลาญงบประมาณประเทศอย่างไร้ประโยชน์

อภิจิต วินายัก บาเนอร์จี (Abhijit Vinayak Banerjee) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียแสดงความเห็นระหว่างงานเสวนาออนไลน์ เกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาอินเดียจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การแจกเงินให้แก่ประชากรในระดับรากหญ้า ที่มีสัดส่วน 60% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ควบคู่ไปกับบังคับใข้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด

แน่นอนว่า การมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือประชาชนที่รัฐบาลอินเดียทำอยู่ในขณะนี้ มาถูกทางแล้ว เพียงแต่ ต้องไม่เน้นไปที่การแจกเงินหรือช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนยากไร้อยู่แล้ว แต่เพียงอย่างเดียว ต้องคำนึงถึง ชาวอินเดียชนชั้นกลางทั่วไป ที่อยู่ในระดับพอหาเลี้ยงตัวเองได้รวมเข้าไปด้วย 

เหตุผลเพราะการระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้คนกลุ่มนี้ ลดระดับลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนยากจน อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ราว 3-6 เดือนนับจากสถานการณ์ COVID-19 สิ้นสุดลง ดังนั้น การแจกเงินของภาครัฐ จึงควรต้องถึงมือประชาชนในกลุ่มนี้ด้วย 

ทั้งนี้ อภิจิต อธิบายว่า ประเด็นที่น่าวิตกมากที่สุดเมื่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลงก็คือ ปัญหาความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจล้มละลายระนาว และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ 

โดยประเด็นที่ต้องหาทางออกให้ได้มีอยู่ 2 ข้อด้วยกันคือ
1) จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจทั้งหลายล้มละลายได้อย่างไร
2) การจัดการกับความต้องการบริโภคภายในที่จะดิ่งลงอย่างรุนแรง 

สำหรับประเด็นปัญหาข้อแรก อภิจิต แนะว่า อาจแก้ไขได้ด้วยการหาทางยกหนี้หรือล้างหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจขนานใหญ่ ขณะที่ ประเด็นข้อที่สอง วิธีที่จะกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศในฟื้นกลับมาได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาวะถดถอยเป็นเวลานาน ก็คือการแจกเงินให้ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยตรง

อภิจิต ระบุว่า วิธีการแจกเงินให้ถึงมือประชาชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสังกัดพรรครีพับลิกัน ก็ยังเลือกที่จะแจกเงินให้กับพลเรือนชาวอเมริกัน

แน่นอนว่า ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ รวมถึงนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย นโยบายประชานิยม อย่าง การแจกเงินให้เปล่าแก่ประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับภาครัฐ โดยไม่จำเป็น และเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้มากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างการระบาดของ COVID-19 อภิจิต กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางดังกล่าวเพื่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจเป็นหลัก และการอัดฉีดเงินถึงมือประชาชนโดยตรง เป็นแนวทางที่จำเป็นมากที่สุด 

ดังนั้น อินเดียจึงควรยึดแนวทางของสหรัฐฯ เป็นแบบอย่างในการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนเน้นย้ำว่า การแจกเงิน ไมใช่การแสดงความใจกว้าง แต่เป็นหนทางบังคับเพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่รอดหลังจากต้องบอบช้ำจากการระบาดของ COVID-19 อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ แม้จะยังไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า อนาคตหลังจาก COVID-19 จะดีร้ายมากมายเพียงใด แต่อย่างน้อย อภิจิต ก็เชื่อว่า ภายใต้การวางแนวทางและนโยบายการฟื้นฟูเยียวยาอย่างรอบคอบและครอบคลุมถึงประชากรทุกกลุ่มของประเทศอย่างแท้จริง อินเดียก็น่าจะก้าวผ่านช่วงวิกฤติในครั้งนี้ต่อไปได้

ยิ่งไปกว่านั้น การสรรหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (MSMEs) และการแก้ไขปัญหาการว่างงาน ก็ถือเป็นปัจจัยที่รัฐบาลอินเดียต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ 

ทั้งนี้ ในมุมมองของอภิจิต ประเมินว่า รัฐบาลอินเดียควรจะแจกเงินให้ประชากรราว 10,000 รูปี (ประมาณ 4,267 บาท) ต่อคนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ควบคู่ไปกับการบังคับใช้โครงการประกันรายได้ขั้นต่ำ และการจัดสรรปันส่วนสวัสดิการรัฐ ที่ต้องขยายวงกว้างขึ้น ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่คนยากจนที่สุดในสังคมอีกต่อไป 

“หากเราให้เงินกลุ่มมากขึ้น แม้บางคนอาจไม่จำเป็นที่จะต้องการเงิน แต่พวกเขาก็จะใช้มัน ถ้าพวกเข้าใช้จ่ายเงิน ย่อมต้องมีผลต่อการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ สิ่งที่ผมต้องการเน้นมากที่สุดก็คือ ต้องให้เงินกระจายไปยังประชากรกลุ่มอื่นของสังคมนอกเหนือจากคนยากจน กล้าตัดสินใจให้เด็ดขาด เป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้” อภิจิตกล่าว

กระนั้น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดียรายนี้ กล่าวเตือนว่า การใช้นโยบายแจกเงินโดยปราศจากแนวทางช่วยเหลือด้านปากท้องอื่นๆ ของประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้น โดยนอกจากจะให้เงินแล้ว รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลด้านสวัสดิการอื่นๆ เช่น การแจกข้าวสาร หรือ ข้าวสาลี เป็นเวลาชั่วคราว อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ประชาชนชาวอินเดีย สามารถตั้งหลักและตั้งตัวได้ 

ขณะเดียวกัน อภิจิต ยังไม่วาย สำทับอีกว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่า ให้รัฐบาลกลางอินเดีย มีอำนาจตัดสินใจบังคับใช้อย่างเด็ดขาด แต่ควรกระจายอำนาจไปยังรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ 

เหตุผลเพราะบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นพื้นที่มีความแตกต่างกันไป การบังคับใช้นโยบายที่เหมือนกันทั้งหมด จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้ง การให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการตัดสินใจที่เหมาะสม จะช่วยให้การดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเท่ากับว่า ยิ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำจาก COVID-19 เป็นไปได้อย่างรวดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาได้เร็วเท่านั้น

 

ที่มา : Sanjay K. Jha ผู้สื่อข่าวชาวอินเดีย ประจำหนังสือพิมพ์ Telegraph India
Banerjee: Give cash, it’s not liberals’ idea

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา