ต้นแบบการผลิตครูตามความต้องการของพื้นที่

ต้นแบบการผลิตครูตามความต้องการของพื้นที่

ครูรัก(ษ์)ถิ่น  “ครูคุณภาพ” และ “นักพัฒนาชุมชน”
ต้นแบบการผลิตครูตามความต้องการของพื้นที่

โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลเป็นสถานที่ที่ครูจำนวนมากไม่อยากไปสอนเพราะความยากลำบากและทุรกันดาร แต่เมื่อถูกคัดเลือกจากส่วนกลางให้ไปบรรจุที่นั่นก็ไม่อาจมีทางเลือก และเมื่อครบกำหนดก็จะขอย้ายออก ทำให้การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง และในจำนวนนี้หลายโรงเรียนเป็นโรงเรียนลักษณะพิเศษ หรือ Protected School ไม่สามารถยุบหรือควบรวมเพราะอาจทำให้เด็กบางคนไม่สามารถเรียนหนังสือได้และนำไปสู่การขาดโอกาสทางการศึกษาในที่สุด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ตัวเมืองและชนบทยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การให้ทุนเด็กในพื้นที่ๆ มาเรียนครูและจบไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่ แต่ยังมีอีกเป้าหมายที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนกระบนการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย

“เราอยากปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทยโรงเรียนต้องการครูแบบไหนเราก็ควรผลิตครูแบบนั้นให้กับโรงเรียน ด้วยเป้าหมายสองอันนี้เป็นหลักทำให้ กสศ. ได้มีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการผลิตครูให้กับโรงเรียขนาดเล็กร่วมกับภาคีเครือข่ายจำนวน 5 รุ่น รุ่นละ  300 คน รวมทั้งโครงการประมาณ 1500 คน ซึ่งจะไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านเกิดอย่างน้อย 6 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อัตราการโยกย้ายน่าจะลดลง รวมทั้งเด็กมีจิตสำนึกความรักในวิชาชีพครูมากขึ้น”

ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  อธิบายว่า  อัตลักษณ์ของครูกลุ่มนี้จะเป็นทั้งครูที่มีคุณภาพและเป็นนักพัฒนาชุมชน ​โดยกสศ.จะไม่ใช่คนที่ผลิตครูเองแต่จะเป็นผู้ประสานงาน ริเริ่มให้เกิดการลองคิด ลองทำร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่หลักในการผลิตครูอยู่แล้วซึ่งรุ่น 1 มี 11 สถาบันการศึกษาที่เข้ามาร่วมผลิตครู 328 อัตราที่จะสามารถบรรจุได้ในพื้นที่บ้านเกิด 45 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อเด็กกลุ่มนี้เรียนจบ

 

ปรับกลไกการรับสมัคร  “ค้นหา คัดกรอง คัดเลือก”

“การรับนักศึกษาก็จะตรงข้ามกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยเคยทำ เราต้องการปรับเปลี่ยนกลไกทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางไม่ใช่ใครจะเดินเข้ามาสมัครแล้วเรียนได้เลย แต่ต้องเอาคนที่อยู่ตรงน้ัน อยากเป็นครูในบ้านเกิดของเขา ยกตัวอย่างรุ่นที่ 1 ที่จะมีเด็กจากตะเข็บชายแดนฝั่งตะวันตกจำนวนมากทั้ง แม่ฮ่องสอน ตาก เป็นพื้นที่ห่างไกล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดังนั้นเมื่อครูจากส่วนกลางไปสอนเด็กม้งอยู่สามปีก็ขอย้ายเด็กก็เรียนไม่รู้เรื่องเพราะความต่างเชิงวัฒนธรรม”

เริ่มต้นการผลิตครูจะเน้นไปสองสาขาวิชาก่อนคือปฐมวัยและประถมศึกษา ​เพราะโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีแค่ชั้นประถม โดยทางมหาวิทยาลัยจะไปคิดกระบวนการคัดเลือกเด็กด้วยตัวเองตั้งแต่ลงไปค้นหา คัดกรอง คัดเลือกจากพื้นที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย  เริ่มจากพิจารณาเกณฑ์ความยากจนที่รายได้เฉลี่ยต่อคนในครอบครัวไม่เกิน 3000 บาทต่อเดือน ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ทั้งสภาพบ้าน ที่ดิน พัดลม ตู้เย็น เพราะเด็กเหล่านี้ไม่มีเงินการเดินทางจะมาสมัครที่มหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงต้องลงไปหาเขา

 

เฟ้นหาเด็กในถิ่นทุรกันดารที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู

จากนั้นจึงมาสู่การคัดกรองโดยไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมาสมัครแล้วจะได้เลย เพราะเด็กที่มาสมัครบางคนก็เพราะอยากได้ทุน หรืออยากรับราชการ แต่เราต้องการคนที่มีความต้องการอยากเป็นครูกลับมาพัฒนาบ้านเกิด มีจิตวิญญาณ มีส่วนร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยขั้นตอนทั้งหมด ทางมหาวิทยาลัย ชุมชน โรงเรียนต้นทาง โรงเรียนปลายทาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. จะเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาคัดเลือก ซึ่งต้องค้นหาคนที่ตรงกับที่เราต้องการเพราะบางคนอยากเป็นครูแต่ไม่จน หรือบางคนจนแต่ไม่อยากเป็นครู

ในส่วนของการคัดกรองทางมหาวิทยาลัยจะเป็นคนออกแบบเองทั้งจะสัมภาษณ์ ดูพอร์ตฟอลิโอ หรือลงไปสังเกตร่วมกับคนในชุมชน  มหาวิทยาลัยก็จะมีโอกาสได้รู้จักตัวเด็ก รู้ประวัติ รู้รายได้ รู้ว่าผู้ปกครองทำงานอะไร อาจจะต้องมีการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมอย่างไร รวมทั้งทราบว่านักศึกษาที่จะมาเรียนนั้นเขาจะสามารถเข้ากับเด็กนักเรียนที่จะไปสอนได้ไหม  ที่สำคัญกระบวนการตรงนี้จะทำให้เด็กรู้ว่าที่สมัครเข้ามานั้นเหมาะสมกับเขาหรือไม่

 

มิติใหม่ของการคัดเลือก เริ่มจากต้องค้นหาตัวเองก่อน

ตรงนี้เป็นมิติใหม่ของการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเรียนในวิชาชีพนี้ เพราะก่อนที่เขาจะมาเรียนเขาจะค้นพบตัวเองก่อนว่านี่เป็นสิ่งที่เขาอยากทำในอนาคตหรือไม่ เวลาเขาไปเข้าค่าย 5-6 วัน เขาก็จะได้รู้ตัวหากไม่อยากเป็นครูก็สามารถถอนตัวออกไปได้ทัน  เมื่อคัดกรองเสร็จก็คัดเลือกบางทีก็ไม่เน้นสอบเลย ดูพฤติกรรม การเข้าร่วมกิจกรรม ประสบการณ์ในอดีต จิตสำนึกสาธารณะ  มีส่วนร่วมกับสังคมหรือเปล่า บางที่ก็จะมีเรื่องของการสอน โดยเฉพาะครูประถมศึกษาซึ่งต้องเริ่มสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้  คิดเลขเป็น​

หลักสูตรที่เรียนก็ต้องเปลี่ยนต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรสำหรับครูที่จะไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กทุกคนจะอยู่หอพักในมหาวิทาลัยเพื่อให้เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ พัฒนาทักษะการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และไม่ใช่แค่สอนหนังสือได้เด็กกลุ่มนี้อาจจะต้องทำการเกษตร ทำอาหารกลางวัน ฉีดวัคซีน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีครูไม่กี่คน ต้องสอนแบบคละชั้นจะต้องบูรณาการความรู้ให้ได้ไม่ใช่เปิดสอนหนังสืออ่านให้เด็กฟัง

 

หัวใจสำคัญคือการลงพื้นที่เสริมความเป็นนักพัฒนาชุมชน

“กิจกรรมเสริมหรือ Enrichment program จะทำให้เด็กมีทักษะต่างๆ  มากกว่าการเรียนแบบเดิม และอีกสิ่งที่ต้องเสริมคือความเป็นนักพัฒนาชุมชนอันนี้เป็นหัวใจในวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องมีการลงไปฝึกประสบการณ์ในพื้นที่เช่นปีหนึ่งภาคเรียนที่สองอาจต้องกลับไปพื้นที่ เพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และมีอาจารย์ตามไปนิเทศ  ปีสองมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ปีสาม ปีสี่เริ่มเข้าโรงเรียนไปสร้างความคุ้นเคย ไปรู้จักครูที่จะเกษียณ  เมื่อเขารู้ว่าเด็กคนนี้จบมาจะเป็นครูในชุมชนเขาก็จะคอยให้ความร่วมมือช่วยเหลือให้คำแนะนำได้” ​

ในแง่หลักสูตรแม้จะเรียนเหมือนกับนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ ​แต่เขาจะมีกิจกรรมเสริมซึ่งอาจปรับให้สอดรับกับบริบทของเด็ก เช่น วิชาภาษาไทย เด็ก กทม. กับเด็กต่างจังหวัด ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกัน ​ตรงนี้ก็เช่นกัน อาจารย์อาจปรับเปลี่ยนในช่วงการสั่งงานเด็กได้เพราะอาจารย์รู้จักเด็กแล้ว  เหมือนเด็กที่มาจากภูเขา และมาจากทะเล ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกันในวิชาเดียวกัน หากทำอย่างนี้ได้ก็ถือเป็นความสำเร็จสำหรับมหาวิทยาลัยที่เริ่มเคลื่อนความคิด

 

ปรับ “หลักสูตร” ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าการปรับ “ทัศนคติครู”

“เริ่มตั้งแต่วันที่อาจารย์ลงไปในพื้นที่เพื่อหาเด็กแล้ว มหาวิทยาลัยก็จะได้ศึกษาบริบทของชุมชนท้องถิ่น และนำสิ่งนั้นมาปรับสอนเด็กได้ เพราะในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ การสอนจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างตรงนี้ด้วย ซึ่งการปรับหลักสูตรไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับปรับทัศนคติของผู้สอน เพราะคนที่จบกรุงเทพฯ​ก็ควรเหมาะที่จะเป็นครูที่กรุงเทพฯ แต่คนที่จบเชียงรายก็เหมาะที่จะเป็นครูในพื้นที่บริบทเขาสูง ชาติพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดเราต้องใช้ความต้องการในพื้นที่เป็นตัวกำหนดเนื้อหาสาระวิชาการเรียนการสอน”

ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า สิ่งที่เราคิดพยายามจะทำในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เหมือนเราพยายามทำต้นแบบ การผลิตครูให้กับสังคมไทย กสศ. ไม่ใช่คนผลิต แต่สิ่งเที่ราทำคือ ชวนคนมาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถ้าเกิดสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จดี แล้วนำไปสู่การผลิตครูแบบที่สังคมไทยต้องการ สิ่งเหล่านี้ก็จะย้อนกลับไปยังคนที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง สพฐ. หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ต้องร่วมมือในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครูต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค