จากความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และภาคีเครือข่ายผู้ดูแลกลุ่มเด็กบนท้องถนนและเด็กนอกระบบ ในการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์และมอบถุงยังชีพอันประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงของใช้จำเป็นด้านสาธารณสุข ในพื้นที่ชุมชนและศูนย์ดูแลเด็กหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และเก็บข้อมูลเชิงลึกสำหรับการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว พบว่ามาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของ COVID-19 ได้กระทบไปยังกลุ่มเด็กบนท้องถนนและเด็กนอกระบบในชุมชนต่างๆ อย่างหนัก ทั้งนี้แม้กลุ่มที่หลุดออกจากชีวิตเร่ร่อนมาได้แล้ว ก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะกลับไปสู่ท้องถนนอีกครั้ง
‘ครูนาง’ นริศราภรณ์ อสิพงษ์ จาก ‘ศูนย์เมอร์ซี่’ มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ผู้ดูแลเด็กยากไร้ด้อยโอกาสทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตั้งอยู่ในย่านคลองเตย เล่าว่า ปัจจุบันศูนย์เมอร์ซี่มีเด็กในความดูแลประจำ 120 คน กลุ่มนี้ทางศูนย์ส่งให้เรียนหนังสือทุกคน ทั้งโรงเรียนในและนอกระบบ รวมถึงยังมีกลุ่มเด็กในชุมชนที่มาเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น ซึ่งตรงกับช่วงเวลาปิดเทอม ทำให้เด็กข้างนอกไม่สามารถเข้ามาเรียนได้ ส่วนพวกที่อยู่ประจำก็ต้องกินข้าวในศูนย์ทุกมื้อ ขณะที่ทางศูนย์ต้องรับภาระเรื่องอาหารและปัจจัยดำรงชีพของเด็กหนักขึ้น
ในส่วนงานของมูลนิธิฯ ยังรวมไปถึงกลุ่มเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ดังนั้นเมื่อมีการล็อคดาวน์กรุงเทพฯ ธุรกิจการค้าหยุดทำการ จึงกระทบหมดทุกเรื่อง ตั้งแต่ขาดแคลนอาหารการกิน เด็กขาดรายได้ หรือผู้ปกครองของเด็กตกงาน จึงทำให้มีเด็กเข้ามาหามูลนิธิมากขึ้น สวนทางกับกำลังในการช่วยเหลือที่น้อยลง
“สิ่งที่เรากังวลคือเด็กที่อยู่ประจำเขาจะมีอาหารไม่เพียงพอ ขณะที่เทอมใหม่กำลังจะมาถึง เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเทอม อุปกรณ์การเรียนของเด็ก ส่วนกลุ่มเด็กในชุมชนหลายคนเขาเดือดร้อนเพราะพ่อแม่ตกงาน ไม่มีเงินให้เด็กกิน เขาก็จะเข้ามาพึ่งทางมูลนิธิมากขึ้น และอีกพวกคือเด็กนอกระบบ ที่ผ่านมาหลายคนที่เขาสามารถหลุดจากท้องถนนมาได้ พอมีงานรับจ้างรายวันทำ มีที่พัก มีอาหาร พอเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว แต่พอเกิดวิกฤติอย่างนี้ ร้านอาหารต้องปิด ร้านที่เคยจ้างเด็กดูหน้าร้านต้องปิดชั่วคราวหรือบางแห่งปิดตัวถาวร มันจึงกลายเป็นความเสี่ยงว่าเด็กกลุ่มนี้จะต้องกลับไปใช้ชีวิตบนท้องถนนเหมือนเดิม”
อย่างไรก็ตาม ครูนางบอกว่า ความช่วยเหลือเร่งด่วนคือสิ่งแรกที่ต้องทำ อย่างน้อยเด็กต้องมีอาหาร ปัจจัยดำรงชีพให้พ้นไปจากช่วงเวลาวิกฤติ โดยทางศูนย์พยายามหาเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือ เช่นการร่วมงานกับ กสศ. ที่นำข้าวสาร น้ำดื่ม สิ่งของจำเป็นเข้ามาให้ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เด็กได้กินอิ่มครบ 3 มื้อไปอีก 1-2 เดือน ส่วนในเรื่องการศึกษายังต้องรอดูว่าผ่านพ้นจากช่วงเวลานี้ไปแล้ว จะช่วยเหลือกลุ่มเด็กนอกระบบได้อย่างไรต่อไป
จำนวนเด็กเร่ร่อนเพิ่มขึ้น รอหน่วยงานเข้าไปแจกข้าว
‘ครูแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง เล่าถึงสถานการณ์เด็กนอกระบบในพื้นที่คลองเตยว่า วิกฤติการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เมื่อพ่อแม่ออกไปทำงานไม่ได้ก็ขาดรายได้ เด็กต้องออกไปรอคอยให้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือแจกข้าวกล่อง หรือเด็กบางคนที่ได้ไปอยู่ที่ศูนย์ในพื้นที่อื่น เมื่อศูนย์ปิดก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน ทำให้จำนวนเด็กในพื้นที่มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยทางโครงการได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือ พูดคุย และช่วยสอนหนังสือตามบ้านเป็นบางส่วน
ทั้งนี้ จากมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทางเครือข่ายต้องปิดพื้นที่ เด็กจึงต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมได้เหมือนเดิม แต่จะมีเด็กบางส่วนที่ยังแวะมาอยู่รอบ ๆ ศูนย์ ทีมงานก็จะเข้าไปพูดคุยอธิบายว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร รวมถึงอยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
ศูนย์พักพิงปิด เด็กขาดแคลนอาหาร ต้องอาศัยนอนตามท้องถนน
หนึ่งฤทัย ทีทอง หรือ ‘แม่หนึ่ง’ ของเด็กบนท้องถนนย่านหัวลำโพง จาก ศูนย์เดอะฮับสายเด็ก (The Hub Saidek) ศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชุมชนหัวลำโพง ระบุว่า มาตรการที่ตามมาหลังการระบาดของ COVID-19 ทำให้ศูนย์ต้องปิด จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ที่พักพิงชั่วคราว หรือให้เด็กเข้ามาอาบน้ำล้างหน้าล้างตาก็ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในยามค่ำคืนที่มีมาตรการเคอร์ฟิว เด็กๆ หลายคนต้องออกไปหาที่พักพิงกันเองในย่านหัวลำโพง
“ในช่วง COVID-19 มีเด็กเร่ร่อนกลุ่มใหม่เข้ามาเพิ่ม รวมกับพวกที่อยู่รอบ ๆ หัวลำโพงเดิม บางคนหิวข้าวเขาก็ชวนกันเข้ามา เรามีข้าวให้เขาทุกมื้อ อันนี้เป็นสิ่งที่ทำมาตลอดในภาวะปกติอยู่แล้ว พอศูนย์ต้องปิด ตอนนี้เราให้เขาได้แค่ข้าว ให้เขาออกไปกินข้างนอก แล้วที่เราเคยมีที่พักให้ก็กลายเป็นว่าเขาไม่มีที่อยู่ช่วงกลางคืน ไม่มีที่นอน ต้องไปหลบหาที่นอนหน้าหัวลำโพงบ้าง ในซอยบ้าง ความปลอดภัยก็น้อยลง”
แม่หนึ่ง กล่าวต่อไปว่า ความช่วยเหลือจำเป็นเร่งด่วนที่เด็กพวกนี้ควรได้รับ คืออาหารและที่พักพิง เนื่องจากหากมีสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีก จะกระทบต่อความเป็นอยู่พื้นฐานของเด็กกลุ่มนี้ในระดับรุนแรง อีกทั้งเด็กกลุ่มที่เคยหารายได้จากการทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น ทำงานปั๊มน้ำมัน หรือรับจ้างตามร้าน ก็อาจจะต้องกลับมาเร่ร่อนบนท้องถนนอย่างไม่มีทางไปอีกครั้ง