ส.ว.ตวง เสนอแผนจัดการศึกษาหลังCOVID-19 ดัน “เอกภาพทางนโยบายหลากหลายทางปฏิบัติ” ผนึกกำลัง 3 กระทรวง กระจายอำนาจเปิดกว้างให้รร.ในพื้นที่สามารถเลือกจัดการเรียนการสอนได้หลากหลายตามความพร้อม พื้นที่ไหนพร้อมเปิดสอนก่อนได้เลยไม่ต้องรอ 1 ก.ค.
นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอ “เอกภาพทางนโยบายหลากหลายในการปฏิบัติ” ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ผ่านรายการ “บ่ายนี้มีคำตอบ” ออกอากาศทางสถานี MCOT โดยระบุว่า ที่ผ่านมาข้อเสนอเรื่องนี้ทางวุฒิสภาได้ทำงานรับฟังความคิดเห็นจากนักการศึกษาทั่วประเทศ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าเมื่อ COVID-19 เข้ามา ทำให้วิธีการจัดการศึกษาเปลี่ยนเจตนาจากเดิมก็คือการต้องยึดคุณภาพเป็นหลัก แต่โลกสมัยใหม่ต้องยึดมั่นสุขภาพผู้เรียนด้วย และจัดโดยเพียงลำพังหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่ได้ เดิมกระทรวงศึกษาธิการจะจัดการศึกษา แต่ตอนนี้ต้องมีอย่างน้อย 3 กระทรวงร่วมกันทั้ง 1.กระทรวงมหาดไทย คือท้องที่และท้องถิ่น 2.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอสม. รพ.สต. และ 3.กระทรวงศึกษาธิการ มีเขตพื้นที่การศึกษาที่ต้องออกแบบร่วมกัน โดยต้องคำนึงถึงหลักการควบคุมโรคระบาดด้วย รักษาระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 9 มีการพูดถึงเรื่องเอกภาพทางนโยบายหลากหลายทางปฏิบัติ แต่ไม่เคยใช้ แต่ต้องนำมาใช้ขณะนี้คือ เอกภาพแรกเรื่องการจัดการศึกษา ต้องเรียนเต็มหลักสูตรเต็มคาบ เต็มเวลา เสมอภาคเท่าเทียมกัน เอกภาพที่สอง ยึดหลักการควบคุมโรคระบาด และเอกภาพที่สาม การจัดการศึกษาห้ามจัดเดี่ยวต้องจัดร่วมกันสามกระทรวง ทุกโรงเรียนต้องทำหมด ส่วนเรื่องหลากหลายทางปฏิบัติ ไม่ต้องทำเหมือนกันคือเพราะวิธีการจัดการเรียนการสอน มี 800 วิธี ไม่ต้องทำเหมือนกัน ซึ่งแยกเป็นสองส่วนคือเรียนในห้องเรียน สองเรียนออนไลน์ ออนแอร์ แต่ในภาวะไม่วิกฤต อาจเรียนผสมกันทั้งออนไลน์ ออนไซด์ ออนแอร์ ออฟไลน์ ให้เป็นไปสภาพที่แตกต่างกัน ซี่งคนที่จะตัดสินใจว่าจะเรียนอะไรอยู่ที่กระทรวงเวลานี้ แต่ในข้อเสนอที่เสนอไปนั้น ได้เสนอให้พื้นที่คือให้สามส่วนในพื้นที่ได้ตัดสินใจร่วมกัน
ประธานกมธ.ศึกษา กล่าวว่า รวมไปถึงเรื่องการเปิดเรียนก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค. พร้อมกันหมด หากโรงเรียนไหนพร้อมก็อาจเริ่มต้นเดินหน้าไปก่อนได้เลยเพราะบางโรงเรียนขนาดเล็ก 2 หมื่นกว่าโรง มีนักเรียนประมาณ 40 คน ห้องเรียนหนึ่งมีนักเรียนแค่ไม่กี่คนก็สามารถทำโซเชียลดิสแทนซิ่งได้ สามารถมีความยืดหยุ่นโดยขอแค่สอนเต็มหลักสูตรและคุมโรคระบาดให้ได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกเราสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นสีแดง คือพื้นที่เสี่ยง สีเหลืองคือพื้นที่เคยมีผู้ติดเชื้อตอนนี้เฝ้าระวัง สีเขียวคือเคยมีผู้ติดเชื้อแต่ 1 เดือนที่ผ่านมาไม่มีผู้ติดเชื้อ และพื้นที่สีขาวคือพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเลยเมื่อแบ่งพื้นที่เช่นนี้ก็จะง่ายต่อแผนการควบคุมโรคระบาดว่าจะต้องทำอย่างไร คู่ไปกับการจัดการศึกษาว่าจะจัดแบบไหน ทั้ง ออฟไลน์ ออนไลน์ ออนไซด์ ไม่จำเป็นต้องเป็นต้องทำเหมือนกันทั่วประเทศ
ในแง่การควบคุมคุณภาพทางการศึกษาเรามีสองกลไกที่ไม่ได้ใช้คือ ศึกษาจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งมีสรรพกำลังในการไปติดตามกำกับควบคุมดูแลคุณภาพ เพียงแต่ธรรมชาติเมื่อไม่มีใครไปส่งก็จะไม่สามารถทำงานได้ ตรงนี้จึงต้องมีการกระจายอำนาจไป 4 ด้านคือ วิชาการ บริหารงานบุคล บริหารทั่วไป และ งบประมาณ โดยกระทรวงจะมีหน้าที่กำหนดนโยบาย สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตจะทำหน้าที่เรกูเลเตอร์ ส่วนงานด้านโอเปอเรเตอร์นั้นให้เป็นหน้าที่ของแต่ละโรงเรียนที่เขาจะออกแบบเองว่าจะทำแบบไหนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
รวมไปถึงกรณีที่หากในอนาคตเมื่อเปิดเรียนแล้วเกิดการระบาดรอบสอง ก็ไม่จำเป็นต้องปิดการศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศ ให้ปิดเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดอีกครั้งได้ ไม่จำเป็นต้องไปเหมารวมเหมือนกันทั้งหมด เช่นที่ผ่านมาบางพื้นที่เป็นเกาะห่างไกลไม่เคยมีการติดเชื้อเป็นพื้นที่สีขาว ทำไมถึงต้องมาใช้มาตรการเดียวกับที่กรุงเทพฯ ที่มีการติดเชื้อการแบ่งระดับก็จะเป็นทางออก โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งการได้เลย
นายตวง กล่าวว่า การทำงานแบบนี้จะยิ่งทำให้ในพื้นที่แข่งกันทำงานด้วย เหมือนกันการควบคุมโรคระบาดที่ต้องแข่งกันทำงาน หากจังหวัดไหนทำไม่ได้ก็จะถูกย้าย ตรงนี้ต้องยึดมั่นเป้าหมายคือตัวผู้เรียน ซึ่งหากทำได้ก็จะเห็นการแข่งขันที่เกิดนวัตกรรมเพื่อผู้เรียนขึ้นมากมาย การที่ต้องรีบเปิดเรียนนั้นเพราะงานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้นเห็นตรงกันว่าหากผู้เรียนไม่ได้เรียนหนังสือนานเกินไปก็จะลืม 30 – 70 เปอร์เซ็นต์ เหมือนของกินไม่ได้กินก็จะเน่า ของเก่าไม่เล่าก็จะลืม เช่นกันถ้าคุณปล่อยไว้อย่างนี้เด็กก็จะลืม เหมือนนักกีฬาไม่ได้ซ้อมก็จะไม่ฟิต
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการทำงานครูในช่วงนี้ที่ต้องเอาชีตไปแจกที่บ้านนักเรียน ต้องเสียเงินค่าเดินทาง ค่าถ่ายเอกสาร ค่าอินเตอร์เน็ตเองไม่มีงบประมาณมาให้ หรือนโยบายที่จะสอนออนไลน์ก่อนหน้านี้ครูก็ต้องไปสอบถามผู้ปกครอง นักเรียน ต้องลงพื้นที่ไปสำรวจ เสี่ยงติด COVID-19 แล้วยังต้องมาควักเงินเดือนจ่ายเองอีก กระทรวงเองก็ควรหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องเบียดบังจากเงินค่ารายหัวเด็ก อาจไปเจียดมาจากกองทุนส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้คนปฏิบัติหน้าที่ และสามารถนำผลงานที่จัดการศึกษาในช่วงนิวนอร์มอลนี้มาเป็นผลงานทำวิทยฐานะ เพิ่มเงินเดือนเพื่อจูงใจให้ครูลุกขึ้นมาทำ
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้นำเสนอข้อเสนอไปก็ต้องขอบคุณทั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่รับฟังข้อเสนอเหล่านี้ เพราะอย่างเรื่องเรียนออนไลน์ ความสำเร็จไม่ใช่แค่เรื่องการรับส่ง แต่ยังมีเรื่องครู ผู้เรียน หรือหลักสูตรที่ไม่ใช่การยึดฐานห้องเรียนผู้เรียนเป็นหลักจนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งส่วนตัวไม่มีพรรคการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่ได้เอาชีวิตประสบการณ์ความเป็นครูที่มีและการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาในอนาคต