แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา
ผลสำรวจเผย มากกว่า 1 ใน 3 ของเด็กมัธยมปลายทั่วประเทศอังกฤษ หวั่นใจและถอดใจที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หลังสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เสี่ยงทำมหาวิทยาลัยศูนย์รายได้เกือบ 30,000 ล้านบาท
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ รายงานอ้างผลการศึกษาสำรวจนักเรียนอังกฤษ 1,000 คน ที่กำลังจะจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายเกี่ยวกับแผนการการศึกษาต่อในอนาคตของตนเอง พบว่า สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเพราะ COVID-19 ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่เปลี่ยนแผนที่จะศึกษาต่อ โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างวิตกและกังขาว่า การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลดังกล่าว ก็คือ ภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว โดยสถานะทางการเงินและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีผลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน ทำให้ 4 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตัดสินใจเปลี่ยนใจไม่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลาย
ผลการศึกษาพบว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดจนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ 37% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุชัดว่า ได้วางแผนที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ COVID-19 ทำให้เริ่มมองหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมมากขึ้น ขณะที่ 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่า กำลังพิจารณาพักเบรก หยุดเรียนเป็นเวลา 1 ปี
ขณะเดียวกัน มากกว่า 1 ใน 10 เริ่มชั่งน้ำหนักถึงข้อดีข้อเสียว่า ควรตัดสินใจทำตามแผนการศึกษาเดิมของตนหรือไม่
การศึกษาสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นโดย MyUniChoices ยังพบอีกว่า 28% ของนักเรียนที่ตัดสินใจเปลี่ยนแผนการศึกษาต่อของตน ไม่เรียนต่อ เป็นผลมาจากการรู้สึกถึงความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจในประเทศ โดยเกือบ 1 ใน 5 วางแผนมุ่งให้ความสนใจกับครอบครัวเป็นหลัก ส่วน 22% พิจารณาหาทางออกด้านการเงินให้กับตนเอง
อย่างไรก็ตาม 3 ใน 10 ยอมรับว่า ยังไม่สามารถคิดวางแผนใดๆ เกี่ยวกับอนาคตทางการศึกษาของตนเองในขณะนี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน และมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเริ่มวิตกกังวลในการทำตามแผนการศึกษาต่อที่ตั้งใจไว้ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน
การศึกษาสำรวจเกี่ยวกับแผนการศึกษาต่อของนักเรียนมัธยมปลายทั่วอังกฤษในครั้งนี้ ยังมีขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่นานหลังจากที่มีรายงานประเมินว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในระดับสูงของประเทศ มีแนวโน้มจะสูญเสียรายได้จากค่าเทอมการศึกษา 760 ล้านปอนด์ (ราว 29,455 ล้านบาท)
ดอกเตอร์ Charles Johnson หัวหน้าที่ปรึกษาการวัดทางจิตวิทยา (Psychometrics) ของ MyUniChoices อธิบายว่า วิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้จำเป็นต้องคิดทบทวนเรื่องการเรียนต่อมหาวิทยาลัยอย่างรอบคอบ เพราะทางเลือกที่ถูกต้อง จะส่งผลต่ออนาคตและหน้าที่การงานของตนเอง อีกทั้งยังเพื่อให้แน่ใจว่า สภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยจะดีพร้อมเพียงพอที่จะสนับสนุนนให้ตนเองเติบโตและก้าวหน้าได้
“การตัดสินใจคิดประเมิน และทบทวนเรื่องแผนการศึกษาต่อในขณะนี้ ดูจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเงิน อาชีพ และจิตใจ” ดอกเตอร์ Charles Johnson กล่าว
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาสำรวจของ MyUniChoices ยังพบอีกว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของนักเรียนมัธยมปลายรู้สึกไม่มั่นใจต่อโอกาสในการจ้างงานของตนเอง และ 22% ยอมรับว่า มืดแปดด้าน คือ ไม่รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตของตนเองในห้วงเวลานี้ดี
อย่างไรก็ตาม 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะหาโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป โดยในจำนวนนี้ 37% เห็นว่า ไม่น่าจะสามารถเข้าเรียนต่อได้ตามกำหนดในช่วงปลายปีนี้
ในส่วนของผู้ที่ไม่มีแผนที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเลย ระบุว่า มีสาเหตุหลักจากปัญหาด้านการเงินเป็นหลัก อีกทั้งยังรู้สึกว่า ตนเองไม่พร้อมที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งทาง MyUniChoices แนะนำว่า ภาครัฐและหน่วยงานมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ควรจัดเตรียมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกด้านการศึกษา รายละเอียดของหลักสูตรโครงการ และทุนการศึกษาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้เห็นประโยชน์และเปลี่ยนใจมาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ของ COVID-19 ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะผลสอบ โดย 26% รู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ไม่สามารถเข้าไปนั่งทำข้อสอบในห้องสอบได้ และ 1 ใน 4 ยอมรับว่า หากไม่ได้เกรดตามที่หวังจะตัดสินใจลงเรียนและลงสอบใหม่
นอกจากนี้ 1 ใน 6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่า ตนเองไม่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากโรงเรียนและภาครัฐเกี่ยวกับการศึกษาในช่วง COVID-19 และ 2 ใน 5 กังวลต่อระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของอังกฤษ ว่า COVID-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ในส่วนของการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของทางมหาวิทยาลัย ที่หันมาเน้นการสอนออนไลน์แทบทั้งหมด 22% ของนักเรียนมัธยมปลายที่ตอบแบบสอบถามระบุชัดว่า จะเลื่อนการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หากว่า ทางมหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรเป็นเรียนออนไลน์ทั้งหมด โดย 2 ใน 5 มองว่า การเรียนการสอนออนไลน์กลายเป็นตัวจำกัดการใช้ชีวิตและสังคมของเด็กนักเรียนภายใต้รั้วมหาวิทยาลัย และมากกว่า 1 ใน 3 รู้สึกว่า เป็นการลดทอนอิสระที่สมควรจะมีสำหรับการศึกษาในระดับสูง
ทั้งนี้ ความเครียด ความไม่แน่นอน และความวิตกกังวลที่มีต่ออนาคต ทั้งหมด ต่างกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กนักเรียนมัธยมปลายทั่วอังกฤษอย่างมาก ซึ่ง ศาสตราจารย์ Alan Smithers ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและการจ้างงานแห่งมหาวิทยาลัย Buckingham กล่าวว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงทั่วอังกฤษ น่าจะต้องคิดทบทวน ปรับปรุงหลักสูตร และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างจริงจัง เพื่อดึงดูดนักเรียนนักศึกษา ไม่เฉพาะเพียงในอังกฤษ แต่หมายถึง จากทั่วโลก ให้เดินทางกลับมาศึกษาต่อในอังกฤษอีกครั้ง