รางวัลพิเศษ ขวัญใจ กสศ. จากงาน ‘Education Disruption Hackathon 2’

รางวัลพิเศษ ขวัญใจ กสศ. จากงาน ‘Education Disruption Hackathon 2’

‘พัฒนาครูโรงเรียนห่างไกล’ และ ‘สร้างเครือข่ายอาสาสมัครสอนเด็กไซต์ก่อสร้าง’
ประเด็นมัดใจ กสศ.’ จากงาน ‘Education Disruption Hackathon 2’

จากที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้ร่วมกับ Disrupt Technology Venture จัดงาน ‘Education Disruption Hackathon 2’ เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ร่วมนำเสนอนวัตกรรมปฏิวัติการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน 

โดยในงานมีรางวัล ‘EEF Special Award’ หรือ ‘ขวัญใจ กสศ.’ สำหรับทีมที่เลือกประเด็นปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งตอบโจทย์งานของ กสศ. คือส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กเยาวชนและผู้ด้อยโอกาสขาดทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสพัฒนาตนเองตามศักยภาพ และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 

ซึ่ง 2 ทีม ที่คว้ารางวัลพิเศษดังกล่าว คือ ‘Dynamic School’ ที่เลือกเสนอโครงการ ‘พัฒนาครูโรงเรียนห่างไกล เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด’ และทีม ‘Edudee’ กับโครงการ ‘สร้างเครือข่ายอาสาสมัครให้ความรู้เด็กๆ ในไซต์งานก่อสร้าง’

 

แค่พลิกมุมมอง เราอาจเปลี่ยน ‘ข้อจำกัด’ ให้เป็น ‘ไร้ขีดจำกัด’ ได้

อภิษฎา โสภาพันธุ์ หรือ ‘คุณไอซ์’ ตัวแทนจากทีม Dynamic School เท้าความถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดของทีมว่า การจัดการศึกษาในโรงเรียนชายขอบ เป็นเรื่องที่สมาชิกในทีมมองเห็นร่วมกันว่า คือผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ทั้งการเป็นครูในระบบ หรือเข้าไปเป็นอาสาสมัครทำให้พบว่า มีเด็กในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากที่ ‘อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้’ รวมถึงการเรียนการสอนแบบ ‘สอนให้จำแล้วนำไปสอบ’ ก็ไม่สามารถสร้างให้เด็ก ‘คิดเป็น’ ทำให้พวกเขาต้องเติบโตขึ้นมาโดยถูกจำกัดศักยภาพในการคิดเอาไว้ 

“การที่ใครสักคนจะอยู่อย่างมีความสุข เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เขาต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลต่า ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ปัญหาคือเมื่อเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ต่อให้เขาสื่อสารกับคนอื่นได้ แต่เขาจะถูกตัดขาดจากการเข้าถึงข้อมูลมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มีอยู่บนโลกใบนี้ นั่นหมายถึงโอกาสของเขาจะน้อยมากถ้าเทียบกับคนอื่นๆ” คุณไอซ์กล่าว

Dynamic School จึงนำสโลแกน ‘อ่านออก เขียนได้ คิดเป็น’ มาใช้ในการแนะนำโครงการ โดยจับกลุ่มเป้าหมายที่โรงเรียนในชนบทห่างไกล มุ่งถ่ายทอดแนวทางการศึกษาตามบริบทพื้นที่ให้กับครู และมุ่งเปลี่ยนวิธีคิดในการหาคำตอบของเด็กๆ

“การศึกษาที่ผ่านมา เรามุ่งไปในทิศทางเดียวคือทำให้เด็กเชื่อว่าคำตอบนั้นถูกต้องโดยไม่มีข้อแม้ เหมือนกับโปรแกรมไว้แล้วว่า เด็กต้องท่องจำคำตอบเพื่อนำไปสอบให้ผ่าน กระบวนการคิดถึงระหว่างทางที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ของเขาก็ไม่ได้ถูกพัฒนา เด็กจะหยุดคิด หยุดตั้งคำถาม เมื่อเขาได้คำตอบไปใช้ตอบข้อสอบแล้ว นั่นหมายถึงเขาจะไม่ได้เรียนรู้กระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเราเรียกว่า ‘Dynamic Learning’ 

“เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูให้สร้างกระบวนการพัฒนาเด็ก ให้เขามีทักษะของการคิดวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ด้วยเทคนิคหลายอย่าง เช่นการพาเด็กไปเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จริง นำลักษณะเด่นที่มีในพื้นที่มาปรับเป็นบทเรียน โดยสรุปแล้วคือ เราจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกระบวนการและวิธีการในการหาคำตอบ โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ถึงที่มาของคำตอบนั้นได้”

สิ่งที่ทำให้ Dynamic School เชื่อว่าโครงการที่วางไว้สามารถเป็นไปได้ เกิดจากการพบว่าในโรงเรียนชายขอบห่างไกล ล้วนเต็มไปด้วยวัตถุดิบชั้นดีในการเรียนรู้ ขาดเพียงแค่องค์ความรู้ที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยน หรือสร้างให้เกิดรูปแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ 

“จากประสบการณ์การลงพื้นที่ เราเห็นว่าโรงเรียนที่ห่างไกลที่ดูภายนอกเหมือนว่าเขาขาดแคลน มีข้อจำกัด แต่นั่นคือมุมมองที่เกิดจากการเอามาตรของโรงเรียนในเมืองไปวัด เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เขามีข้อดีต่างจากโรงเรียนในเมืองมีอยู่เยอะมาก พวกเขาร่ำรวยธรรมชาติรอบตัวที่นำมาปรับใช้ได้หลากหลาย หรือความใกล้ชิดกันในสังคมขนาดเล็ก มันคือความแน่นแฟ้นที่เชื่อมโยงผู้คนในท้องถิ่นไว้ด้วยกัน เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนในพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ ซึ่งเราจะช่วยประสานให้เกิดเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง

“อะไรที่เราคิดว่าเป็นข้อจำกัดของเขา ถ้าเราเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็ง สร้างห้องเรียนที่มีรูปแบบเฉพาะตัว (Organic Classroom) ดึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ข้อจำกัดนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นไร้ขีดจำกัดได้เลย แล้วเด็กๆ จะเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ในแบบที่บริบทของเขาเอื้ออำนวย ไม่จำเป็นต้องพัฒนาตามกรอบคนเมือง 

“ที่สำคัญคือตอนนี้เรามีโอกาสได้ร่วมงานกับ กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเครือข่ายของโรงเรียนทั่วประเทศ เราสามารถนำข้อมูลของโรงเรียนแต่ละแห่งมาปรับให้เกิดเป็นบทเรียนเฉพาะ สิ่งที่พวกเราเคยทำได้ในจุดเล็ก ๆ แห่งเดียว มันก็จะได้มีโอกาสขยายผลไปยังโรงเรียนต้นแบบอื่น ๆ แล้วโรงเรียนที่มีบริบทคล้ายกันจะได้รับประโยชน์ไปด้วย นี่คือสิ่งที่เรามองว่าการร่วมงานกันแบบ All for Education จะสามารถช่วยเหลือคนได้มากขึ้น”

 

ปูพื้นการศึกษาและทักษะสังคม พาเด็กไซต์ก่อสร้างกลับเข้าระบบการศึกษา ลดความเสี่ยงการใช้ชีวิต

ทางด้าน ทัศน์สนธิ์ คงแก้ว หรือ ‘คุณผักขม’ ตัวแทนจากทีม Edudee เล่าว่า โครงการ ‘สร้างเครือข่ายอาสาสมัครให้ความรู้เด็กๆ ในไซต์งานก่อสร้าง’ เกิดขึ้นจากความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตของเด็กในไซต์งานก่อสร้าง ที่ขาดทั้งการศึกษาและคุณภาพชีวิต ให้พวกเขาได้มีทักษะในการใช้ชีวิต และมีโอกาสหรือทางเลือกในอนาคตมากขึ้น 

กลุ่มเป้าหมายของ Edudee คือเด็กวัยประถมที่อาศัยอยู่ในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนอกระบบที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน คุณผักขมย้อนถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดว่า ที่เลือกทำประเด็นนี้เนื่องจากสมาชิกทุกคนในทีมมีความคิดร่วมกัน ว่าอยากเข้าไปสอนหนังสือและดูแลด้านสุขอนามัยให้กับเด็ก  

“จากข้อมูลที่ทางทีมศึกษาพบว่ามีไซต์ก่อสร้างจำนวนมากในกรุงเทพ ฯ หลังทีมงานได้ลงพื้นที่ก็เห็นว่าปัญหาที่เด็กกลุ่มนี้ต้องเจอมีทั้งเรื่องการศึกษา ไม่ได้เรียนรู้ตามวัย ไม่ได้ไปโรงเรียน และอีกเรื่องที่เป็นปัญหาระดับพื้นฐานการดำรงชีวิต คือเขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ขาดความรู้ในการดูแลตัวเองด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ปัญหาเรื่องนี้ยิ่งเห็นชัด เราคิดว่าถ้ามีคนเข้าไปดูแลเขา ให้ความรู้หรือทักษะที่เรียนรู้แล้วนำไปใช้ได้ อย่างน้อยคุณภาพชีวิตเขาจะดีขึ้น”

นั่นคือโปรเจคต์ตั้งต้นของ Edudee ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงาน Education Disruption Hackathon 2 โดยหลังจากผ่านการนำเสนอโครงการ ต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ทาง Edudee ก็ได้ต่อยอดแนวคิดให้ไกลออกไปถึงการเตรียมพร้อมเด็กกลุ่มนี้ให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อมีโอกาสพัฒนาตัวเองในระยะยาว

ตัวแทนทีม Edudee เผยว่า การได้แบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์จาก กสศ. ทำให้ทีมเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น และมุ่งเป้าไปที่การนำเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้เขามีโอกาสในชีวิตมากขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมให้ลดลงได้ด้วย

“ที่วางไว้คือขั้นตอนแรกเราจะเสริมทักษะภาษา เพราะเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ขั้นต่อมาคือเตรียมความพร้อมด้านสังคม เพื่อให้เขาปรับตัวได้เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนในระบบ 

“จุดเด่นของทีมเราคือสมาชิกทุกคนมาจากสายสังคมศาสตร์เหมือนกัน มีคนที่มีประสบการณ์การทำวิจัย เรียบเรียงข้อมูล ร่วมกับประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครไปสอนเด็กตามโครงการต่าง ๆ เราจึงมีเครื่องมือในการจัดกระบวนการสอน และการเตรียมความพร้อมของอาสาสมัคร โดยหลังจากปรับทิศทางของงานชัดเจนขึ้น ทางทีมได้ลงสำรวจพื้นที่ไซต์ก่อสร้างกลางเมืองกรุงเทพ ฯ และได้ประสานงานเบื้องต้นกับพื้นที่เพื่อเริ่มงานแล้ว

คุณผักขม ปิดท้ายว่า เพื่อให้โปรเจคท์สามารถขยายผลออกไปได้มากที่สุด Edudee จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอาสาสมัครกับพื้นที่ไซต์ก่อสร้าง โดยเน้นที่การเตรียมความพร้อมให้อาสาสมัครในการเข้าไปสอนเด็กยังพื้นที่ต่าง ๆ และนั่นหมายถึงโครงการจะสามารถเดินต่อไปได้ด้วยตัวเองในอนาคต โดยทีมเป็นเพียงผู้จุดประกายให้เกิดการเริ่มต้น 

และนี่คือพลังความคิดของ ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ ที่มีหัวใจของนวัตกรด้านการศึกษา ที่พร้อมก้าวออกมาทำงานเพื่อคนที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อน ดังที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้กล่าวถึงพวกเขาไว้ว่า 

“นวัตกร ต้องมีฐานที่เริ่มจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แล้วสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การค้นหาองค์ความรู้มาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาสังคม และการที่เราได้พบคนรุ่นใหม่ที่มีใจคิดถึงความเดือดร้อนของคนอื่นแล้ว เราต้องฟังเสียงเขา ช่วยสนับสนุนให้เขาทำงาน เพราะนั่นคือสิ่งที่ยืนยันได้ว่า สังคมไทยยังมีความหวัง”