ภาพรวมโลกการศึกษาในยุคหลัง COVID-19

ภาพรวมโลกการศึกษาในยุคหลัง COVID-19

หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมา วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ดูคลี่คลายความรุนแรงลงไป ความธรรมดานิยามใหม่กลายเป็นบรรทัดฐานในชีวิตประจำวัน มุมมองของคนส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าในทศวรรษที่กำลังมาถึงโดยสิ้นเชิง วิกฤติที่กินระยะเวลานานหลายเดือน ได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและระบบสาธารณสุขไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งข้อปฏิบัติสำหรับการตรวจโรค การติดตามโรค และการแยกตัวทางสังคมจะกลายเป็นมาตรฐานทั่วไปในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมิติต่างๆ ต่อสังคมนั้นจะเกิดขึ้นยาวนานหลายเดือนและมีแนวโน้มว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงถาวร ทั้งระยะห่างทางสังคม ข้อแนะนำด้านสาธารณสุข การเดินทาง ธุรกิจ และกิจกรรมสาธารณะ

ในส่วนของภาคการศึกษาเองก็ต้องตั้งคำถามต่อบทบาทของการเรียนรู้ในโลกใหม่ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปและการพัฒนาทักษะใหม่ๆ สำหรับยุคหลัง COVID-19 ด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ เด็กนักเรียนกว่า 1.725 พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้เข้าเรียนตามปกติ การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นความเหนื่อยล้า การทดลองรูปแบบชีวิตที่ไม่มีปลายทาง ซึ่งสถาบันทางการศึกษาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนและยั่งยืนว่าเราสามารถปรับหรือฟื้นฟูระบบการศึกษาให้กลับมาได้เหมือนเดิมได้อย่างไร

แน่นอนว่าทางออกแรกๆ ที่เกิดขึ้นคือการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งการปรับรูปแบบห้องเรียน การเผยแพร่เนื้อหาจำนวนมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบการจัดการการเรียนรู้ แพลทฟอร์มที่พัฒนามาเฉพาะผู้เรียน แต่ ‘เทคโนโลยีดิจิทัลอันล้ำสมัย’ ก็ไม่ได้ครอบคลุมการศึกษาในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ประเทศที่เผชิญกับเงื่อนไขความยากจนทางเศรษฐกิจ มีแต่ตัวเลือกอันจำกัดให้กับผู้เรียนที่ “พร้อม” และ “ไม่พร้อม” เท่านั้น

 

คิดอยู่เสมอว่า ไม่ใช่ทุกบ้านจะมีอินเทอร์เน็ต

แน่นอนว่าครอบครัวส่วนใหญ่นั้นคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นบ้านที่มีอินเทอร์เน็ต แต่ในความจริงแล้วไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ามีหลายต่อหลายครอบครัวที่ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยความแตกต่างทั้งเรื่องของรายได้จนถึงระดับการศึกษาของพ่อแม่

ครอบครัวที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่แล้วจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเท่านั้น เด็กจึงไม่อาจเข้าถึงซอฟต์แวร์การเรียนรู้ที่ซับซ้อนได้ เพราะต้องใช้อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงเกินกว่าจะเป็นเจ้าของได้

Nate Ridgway คุณครูสอนวิชาสังคมที่โรงเรียน Beech Grove ในอินเดียนาโพลิส ได้ทำวิดีโอการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในช่วงเรียนทางไกล โดนโรงเรียนเองจะสนับสนุนอุปกรณ์ Chromebooks ให้นักเรียนนำกลับบ้าน ถึงอย่างนั้น เขาก็สังเกตว่าเด็กนักเรียนด้อยโอกาสบางคนนั้นไม่อาจเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ เพราะต่อให้มีอุปกรณ์ แต่ก็ไม่อาจเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อยู่ดี

“พวกเราในฐานะครู จะต้องระวังอย่างยิ่งเกี่ยวกับความคาดหวังที่มีต่อเด็กว่าจะเรียนออนไลน์ได้ เด็กนักเรียน 10% – 25% ของผมไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากที่บ้าน”

 

การศึกษาดิจิทัลที่แท้จริง

ในหลายกรณี บางครอบครัวในหลายพื้นที่ยังคงเลือกใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม อย่างเช่นโทรทัศน์หรือวิทยุ โดยมีบางประเทศเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นแหล่งการเรียนรู้พื้นฐานหลักสำหรับเด็กนักเรียน ความท้าทายที่แท้จริงของการศึกษาในยุคหลัง COVID-19 นี้จึงเป็นการพัฒนาคุณภาพของสื่อการสอน ที่สามารถใช้งานได้ไม่ใช่แค่สำหรับการสอนในห้องเรียนแบบตัวต่อตัวเท่านั้น ทางฝั่งครูเองก็ต้องได้รับการฝึกอบรมทักษะในการสื่อการสอนในกรณีที่เป็นเรียนออนไลน์ได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน (สามารถดูตัวอย่างแหล่งการเรียนได้จาก Open Educational Resources)

แต่ถึงอย่างนั้น การสอนออนไลน์ (โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินนี้) และการเรียนแบบทางไกลนั้นไม่ถือว่าเป็นการเรียนดิจิทัลเต็มรูปแบบ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้พัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแปลความตรงตัวจากคำว่า “ห้องเรียนในเชิงกายภาพ มาเป็นห้องเรียนออนไลน์” แต่การศึกษาดิจิทัลที่แท้จริงนั้นหมายถึงการปรับหลักสูตรการเรียน โปรแกรมการศึกษา ที่เน้นไปที่ทักษะและประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้พลังของเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกขับเคลื่อนแหล่งข้อมูล แหล่งการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือ เป็นแพลทฟอร์ม และเป็นคอมมูนิตี้สำหรับสร้างระบบนิเวศน์การเรียนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่กำหนดลักษณะการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับผู้เรียนทุกกลุ่ม และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้

 

โรงเรียนให้มากกว่าวิชาการเรียน

เชื่อไหมว่าต่อให้เด็กนักเรียนจะมีทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์พร้อมเรียนได้ การปิดโรงเรียนแล้วปรับมาเป็นเรียนออนไลน์นั้นส่งผลกระทบในเรื่องอื่นๆ ที่มากกว่า เพราะเด็กบางคนได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในทุกวันก็จากการมาโรงเรียน รวมถึงการได้รับคำแนะแนวและการได้ทำกิจกรรมเสริมอื่นๆ หลังจากหมดวัน เพื่อรอเวลาให้พ่อแม่มารับกลับบ้าน

ดังนั้นโรงเรียนจึงเป็นมากกว่าห้องเรียน

เมื่อโรงเรียนปิดลงในระยะเวลาหนึ่ง เด็กๆ จึงสูญเสียโอกาสในมิติชีวิตด้านอื่น ส่งผลยึดโยงไปถึงครอบครัวด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวที่พ่อหรือแม่ประกอบอาชีพในส่วนงานที่ไม่อาจปรับตารางเวลาได้ “ถ้าลองคิดดูดีๆ โรงเรียนก็เป็นเหมือนเมืองทั้งเมืองที่เรามอบให้กับเด็กๆ เมื่อต้องปิดเมือง ก็ไม่มีการแพลทฟอร์มสอนออนไลน์อันไหนจะมาทดแทนความรู้สึกตรงนั้นที่เสียไปได้”

 

สถาบันการศึกษารูปแบบใหม่

เป้าหมายของโรงเรียนในยุคหลัง COVID-19 นั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบแนวคิด 3 ระดับ

ประสบการณ์การเรียนรู้ + ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ + ความสามารถของการวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์

โรงเรียนสำหรับเด็กเล็กจะลดจำนวนเด็กนักเรียนต่อห้องอย่างเเน่นอน พร้อมทุกชั้นเรียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดเป็นที่หนึ่ง รวมถึงการมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการที่จะทำให้เด็กๆ มีการเชื่อมโยงและทักษะทางสังคมได้แม้จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน โรงเรียนระดับมัธยมตอนปลายและมหาวิทยาลัยจะเดินหน้าเต็มกำลังในการเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในทุกมิติของการเรียนรู้ ร่วมถึงการสร้างประสบการณ์การสอนใหม่ จึงสามารถคาดการณ์ได้เลยว่าในอนาคตเราจะเห็นสื่อการเรียนที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพให้เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่ม และลดการเรียนแบบตัวต่อตัวให้เหลือน้อยลงมากที่สุด

โรงเรียนและสถาบันทางการศึกษาต้องการบุคลากรที่มีชุดความสามารถใหม่ในการเรียนรู้ หรือหากเป็นชุดความสามารถเดิมต้องเพิ่มเติมการพัฒนาทักษะการสอนให้ดียิ่งขึ้น ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้หรือโปรแกรมที่ปรับด้วยการออกแบบการบริการสำหรับการศึกษาที่พร้อมต่อการมีชีวิตในยุคหลัง COVID-19 ทั้งเรื่องของ UX การตลาดดิจิทัล การจัดการเนื้อหา (การผลิต การจัดการ การพัฒนา และการจัดการแพลทฟอร์ม) การจัดการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์

ชุดวิธีการสอนแบบเดิมนั้นอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ยกอย่างเช่นแนวคิด LMS (Learning Management System หรือระบบการจัดการเรียนรู้ เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์) ที่เคยเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการเรียนรู้ สิ่งที่พวกเราต้องการจริงๆ คือการบูรณาการเครื่องมือในการผลิตองค์ความรู้ สร้างแหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่นำมาบูรณาการได้หลายครั้งต่อประสบการณ์การเรียน

สถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ให้ความรู้นั้นจะต้องมีความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ หรือพัฒนาข้อเสนอทางคุณค่าและวัฒนธรรมต่อพื้นที่ สถาบันการศึกษาอาจพาตัวเองไปสู่ความล้มเหลวได้หากไม่ยอมพัฒนาบุคลากรในองค์กรที่มี

 

จบแล้วไปไหน

ก่อนจะเกิดวิกฤติ มหาวิทยาลัยส่วนมากยังไม่ได้ปรับตัวมาเป็นการเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ อย่างน้อยก็ในเชิงของการกำหนดนโยบาย แม้ว่ามีโปรแกรมการเรียนออนไลน์หรือมีซอฟต์แวร์ให้กับนักศึกษาให้เห็นอยู่บ้าง แต่การเรียนในรูปแบบเช่นนั้นถือว่ายังไม่แตกต่างมากกับการเรียนตัวต่อตัวในห้องเรียนที่ดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า จนช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ทำให้คำว่า “เรียนออนไลน์” ในระดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องใกล้ความจริงมากขึ้นทันที

ประสบการณ์การเรียนในมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไป จากนักศึกษาที่เคยบอกว่าอาจารย์ไม่มีเวลาให้ ในตอนนี้อาจารย์ประจำวิชาหรือครูที่ปรึกษาสามารถใช้โปรแกรมซูมเพื่อพูดคุยกับเด็กนักเรียนได้ 10 – 12 คนบ่อยเท่าที่ต้องการ แม้ว่าการสอบทั่วไปอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ ตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ปรับวิธัการสอบเป็นการเขียนเรียงความจากที่บ้าน และสอบแบบ open book ภายในเวลาสามชั่วโมง ซึ่งทางฝั่งอาจารย์เองก็ยินดี เพราะการพิมพ์คำตอบข้อสอบในคอมพิวเตอร์นั้นมีความรวดเร็วกว่าการเขียนกระดาษและอ่านได้ง่ายกว่า โดยนักศึกษาสามารถอ้างอิงคำตอบได้จากแหล่งสื่อสารการสอนหรือหนังสือได้ แต่นั่นก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าความเข้าในเชิงลึกที่มีต่อข้อมูลทั้งหมดที่ได้อ่านไป

ตัวอย่างที่อังกฤษ แม้จะกลุ่มคนตกงานที่มีจำนวนมากขึ้น แต่ประเทศก็รับมือด้วยการเปิดสอนคอร์สสายอาชีพที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับค่าตอบแทนในการฝึกงานและประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเพิ่มเติม ทำให้กลุ่มคนที่ยังไม่มีงานทำหรือเพิ่งจบการศึกษา สามารถเลือกสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้ง และลงเรียนในคอร์สที่โรงงานผู้ผลิตหรือภาคการบริการของประเทศต้องการ ซึ่งมีทั้งสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม เเละคณิตศาสตร์

 

ที่มา :