คำถามสำคัญ 3 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตอบอย่างชัดเจน ก่อนตัดสินใจเปิดโรงเรียนอีกครั้ง

คำถามสำคัญ 3 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตอบอย่างชัดเจน ก่อนตัดสินใจเปิดโรงเรียนอีกครั้ง

ผู้อำนวยการแห่ง International Institute for Educational Planning จากองค์การสหประชาชาติ ได้ตั้งคำถามสำคัญ 3 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตอบให้ได้อย่างชัดเจน ก่อนตัดสินใจเปิดโรงเรียนอีกครั้ง

หลายโรงเรียนทั่วโลกเริ่มเดินหน้ามาตรการกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งหลังจากปิดไปตามสถานการณ์ COVID-19 เป็นระยะเวลาหลายเดือน เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาทั่วโลกเองก็ได้มีการกำหนดแผนรองรับการ “เปิดเทอม” ใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เเน่นอนต่อการแพร่ระบาดระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้น 

โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่โรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่การศึกษา ล้วนแต่มาพร้อมกับภารกิจและหน้าที่ใหม่ อย่างเช่นการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ ในการรักษาระยะห่างทางสังคมไปพร้อมๆ กับการรักษาความสะอาด ปลอดเชื้อโรค โดยที่จะต้องรองรับการเรียนการสอนระหว่างครูกับนักเรียนให้เป็นไปตามพัฒนาการและความต้องการที่ถูกต้อง

 

3 คำถามสำคัญจาก Suzanne Grant Lewis

การปิดโรงเรียนไปอย่างยาวนานนั้นส่งผลต่อระบบการศึกษาในระยะยาวอย่างแน่นอน อย่างที่ ซูซานน์ แกรนท์ ลิวอิส (Suzanne Grant Lewis) ผู้อำนวยการแห่ง International Institute for Educational Planning จากองค์การสหประชาชาติ ได้ตั้งประเด็นคำถามให้หลายประเทศเน้นที่มุมมองในระยะสั้น โดยสุนทรพจน์ของเธอได้ตั้งคำถามสำคัญ 3 ข้อ ที่ทั้งรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเองจะต้องตอบให้ได้อย่างชัดเจน ก่อนตัดสินใจเปิดโรงเรียนอีกครั้ง

 

1. เวลา: “เมื่อไหร่ที่จะเหมาะสมในการเปิดโรงเรียน?”

“ความสำคัญอันดับแรกเลยก็คือการปกป้องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน” ซูซานน์กล่าว “ทั้งครอบครัว ครู เเละโรงเรียนต้องมีความมั่นใจได้ว่า ระบบโรงเรียนนั้นมีความสามารถในการปกป้องคุ้มครองทั้งกายภาพและสุขภาพจิตของเด็กนักเรียน ครู เเละบุคลากรในโรงเรียนได้”  ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าการเปิดโรงเรียนนั้นจะมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส แม้ว่าโรงเรียนจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความสะอาดให้พร้อม การลดจำนวนผู้เรียนต่อห้องเพื่อตอบโจทย์เรื่องการรักษาระยะห่าง หรือการสนับสนุนในเชิงจิตวิทยาสังคมให้ตรงกับความต้องการของโรงเรียน ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศนั้นมีก็ปัจจัยอื่นๆ แตกต่างกัน แม้จะเป็นภายในประเทศเดียวกัน แต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาเปิดโรงเรียนอีกครั้งจึงต้องการบริบทในการประเมินที่เฉพาะเจาะจง

ซูซานน์เองเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการปกป้องประโยชน์ด้านการศึกษาและการเปิดให้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง “ผลที่เกิดขึ้นจากการปิดโรงเรียนนั้นดูเหมือนว่าจะไม่เท่าเทียมและความแตกต่างกันก็เป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่นการลดหลักสูตรหรือการปรับเวลาสอบใหม่” เธอแสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำให้แน่ใจว่าประเด็นเรื่องสุขภาพนั้นก็สำคัญเช่นกัน เเละเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจกลับมาเปิดโรงเรียน

 

2. เงื่อนไข​: รู้เงื่อนไขล่วงหน้าอะไรบ้างก่อนจะเปิดโรงเรียน

เกณฑ์หลักๆ ในการนำมาพิจารณาเพื่อเปิดโรงเรียนก็คือเรื่องของการป้องกันไวรัส (ทางกายภาพ) เจ้าหน้าที่จะต้องเริ่มที่การกำหนดพื้นที่การติดเชื้อ เปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อน้อยที่สุด หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความสะอาดพร้อมที่สุด ซูซานน์กล่าวว่า “เกณฑ์ข้อต่อมาก็คือความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคุณครู  จำนวนนักเรียนและคุณครูต่อห้องจะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งจะเป็นความจำเป็นอย่างมากในการปรับรูปแบบการเรียนตามปกติ” ซูซานน์แนะนำให้ใช้เทคนิค  School Mapping เข้ามาเป็นเครื่องมือในการประเมินการปรับรูปแบบการเรียน เช่น ปรับการเรียนเป็นกะแบบสองช่วงเวลา เป็นต้น

เงื่อนไขข้อที่สามคือ ความสามารถขององค์การการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ในการรับหน้าที่เปลี่ยนแปลงแผนตามความจำเป็น “บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นครูใหญ่ จะต้องมีความสามารถในการปรับตัวสู่รูปแบบการเรียนใหม่ อย่างเช่นการเปลี่ยนจากเรียนออนไลน์มาเป็นการกลับเข้าสู่ห้องเรียนของเด็กๆ เราจะต้องเน้นไปที่จำนวนครูที่เต็มใจกลับมาสอนเด็กๆ ซึ่งอาจมีจำนวนลดลง และจำนวนเด็กๆ ที่อาจระงับการเรียนต่อในระบบที่เพิ่มขึ้นได้”

 

3. ขั้นตอน: รัฐจะจัดการให้การเปิดโรงเรียนนั้นเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?

ความท้าทายในระดับรัฐบาลคือการกำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่สามารถใช้ได้กับโรงเรียนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ “หนึ่งในคำถามคือ ใคร จะเป็นคนกลับเข้าโรงเรียนเป็นคนแรก? บางประเทศเลือกจากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ พิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงการเรียนทางไกล ซึ่งหมายถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและประชากรมีอัตราความยากจนก็จะต้องเปิดโรงเรียนเป็นลำดับแรก”

หรือลองดูตัวอย่างจากประเทศจีน โรงเรียนที่กลับมาเปิดเป็นลำดับแรกคือโรงเรียนในพื้นที่ที่มีนักเรียนน้อย โดยเน้นไปที่กลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย เพื่อให้สามารถสอบปลายภาคได้ทันกำหนดการ อย่างเดนมาร์กและนอร์เวย์ โรงเรียนเปิดให้กับเด็กนักเรียนระดับอนุบาลถึงประถมก่อน เพราะเป็นกลุ่มเด็กที่มีความสามารถในการเรียนออนไลน์ได้น้อยกว่าเด็กโต

ปรึกษา ประสาน สื่อสาร คือหัวใจของการกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้ง เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะกลับไปสร้างความเชื่อใจกันใหม่ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นไปได้ผ่านการสื่อสารกันภายในกลุ่มคอมมูนิตี้ในโรงเรียนหรือแคมเปญ back-to-school ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียนที่มีความเสี่ยงมากในการจะลาออกหรือระงับการเรียนต่อ” 

การปิดโรงเรียนไปหลายเดือนนั้นเป็นการเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทุกประเทศจะมีหน้าที่เดียวกันคือการทำให้แน่ใจว่า การหยุดเรียนไปชั่วคราวนั้นจะไม่กลายเป็นความเปราะบางตลอดกาลของเด็ก ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการวางแผนและเตรียมตัวรับมือต่ออนาคตของการศึกษาที่กำลังจะเปลี่ยนไป

 

ที่มา :