อสม. พลังท้องถิ่นร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

อสม. พลังท้องถิ่นร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ก่อนที่เด็กและเยาวชนนอกระบบสักคนหนึ่งจะได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือโครงการฝึกอบรมทักษะอาชีพ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทุ่มเททำงานหนักอยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น

พวกเขาคือคนในพื้นที่ ที่เสียสละตนเองเข้ามาทำงาน ‘อาสาสมัคร’ พวกเขาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่ลงพื้นที่สำรวจ ค้นหากลุ่มเป้าหมาย เก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อวางแผนความช่วยเหลือเบื้องต้น เข้าหาน้องๆ และครอบครัวซ้ำๆ เพื่อติดตามชีวิตความเป็นอยู่

จนกว่าจะถึงวันที่น้องๆ ได้กลับเข้าเรียน มีอาชีพ หรือสามารถพึ่งพาตัวเองได้ งานของพวกเขาเหล่าอาสาสมัคร จึงถือว่า ‘สำเร็จ’ แต่ไม่มีวัน ‘เสร็จสิ้น’ ตราบที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในท้องถิ่นของพวกเขายังไม่หมดไป

เพราะหน้าที่ของพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแนวหน้าในการนำน้องๆ กลับเข้าสู่การศึกษา หากยังเป็นผู้คอยสอดส่องดูแลและป้องกันไม่ให้มีเด็กและเยาวชนในชุมชนต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก

 

เสาวนีย์ คณิตสรณ์
ประธาน อสม. ชุมชนบ้านเอื้ออาทร 1 จ.นครราชสีมา

“เราเป็นคนในชุมชน อยากเห็นการพัฒนา เรามองว่าตัวเราสามารถเป็นตัวเชื่อมให้เขาเข้าถึงความช่วยเหลือได้ จึงอยากเป็นคนคอยประสานงานให้คนที่เดือดร้อนในชุมชน ทีมของเราแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันเป็นซอย พอเจอเด็กแล้วเราก็ต้องคอยติดตาม นอกจากปัญหาที่เขาเล่าให้ฟังแล้ว เราต้องดูให้ออกด้วยว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษ อย่างบางคนต้องออกจากโรงเรียนเพราะมีเหตุจำเป็น เราก็ต้องช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน”

“การที่เราเป็นคนพื้นที่ลุกขึ้นมาดูแลกันเองมันดีตรงที่เรารู้ปัญหา เรื่องไหนช่วยไม่ได้ก็ช่วยเชื่อมช่วยประสานหาผู้รู้เข้ามาช่วย พอได้ทำแล้วมันรู้สึกมีความสุข แค่ได้รับคำขอบคุณ เห็นรอยยิ้มของเขา เห็นเขามีแรงสู้มากขึ้น แค่นี้เราก็รู้สึกเหมือนหัวใจมันพองโตขึ้นมา แค่นี้เองที่ทำให้เราเป็นสุข

 

สายสุนีย์ โภชน์เกาะ
เครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ จ.นครราชสีมา

“มีคนมาชวนว่ามีโครงการนี้ เขาบอกว่ามีรายชื่อเด็กที่ไม่ได้เรียนมาให้แล้ว แต่ถ้าเราไม่เข้าไปสำรวจงานก็จะไม่เดิน เด็กที่รอรับความช่วยเหลืออยู่เขาก็จะพลาดโอกาสเรียนหนังสือไป งานหลักๆ คือสำรวจ เก็บข้อมูลแล้วสรุปความช่วยเหลือเบื้องต้นส่งต่อให้ทีมสหวิชาชีพ เราจะลงรายละเอียดให้เขานึกภาพออกว่าต้องช่วยยังไง เร็วแค่ไหน อะไรก่อนหลัง แต่เราในฐานะ Case Manager ต้องตอบทีมงานทุกฝ่ายได้ ว่าแต่ละคนควรได้รับความช่วยเหลืออย่างไร”

คนที่มาอยู่ตรงนี้ถ้าไม่มีใจคิดถึงคนอื่นจริงๆ คงทำไม่ได้ บางเคสเราไม่ได้ดูแค่เด็ก เมื่อคิดถึงว่าจะช่วยเขาต่อเนื่องได้อย่างไร เราจะช่วยแค่เด็กไม่ช่วยผู้ปกครองมันก็ไม่ได้ เราจึงต้องดูแลรักษาจิตใจเขาด้วย เข้าไปหาบ่อยๆ หรือบางครั้งช่วยหางานให้ทำ เด็กและผู้ปกครองหลายคนจิตใจเขาบอบช้ำจากปัญหาต่างๆ เราก็ต้องคอยคุยกับเขา การที่เราตามดูชีวิตของเขา บางคนเลยเป็นเหมือนครอบครัวไปแล้ว อยากเอาใจช่วยว่าเขาจะไปยังไงต่อ อยากให้เขาเรียนจนจบ เหมือนว่าพอได้เจอได้ช่วยเขาแล้ว ก็อยากจะช่วยไปให้ถึงที่สุด”

 

อนงค์ ทองพีระ
ครู กศน. ตำบลบ้านโพธิ์ จ.นครราชสีมา

“จากรายชื่อเด็กนอกระบบที่ได้รับมา เราก็ลงพื้นที่สำรวจจนครบ บางคนไม่อยู่ในรายชื่อแต่ถ้าเห็นว่าเขาควรต้องได้รับความช่วยเหลือ เราก็เข้าไปดู ถ้าเป็นเด็กที่เสี่ยงหลุดเราก็ส่งข้อมูลต่อ คนคัดกรองคนแรกจะเป็นคนที่ใกล้ชิดเด็ก คนในหมู่เดียวกัน แล้วเขาจะแจ้งรายละเอียดส่งต่อมาเป็นลำดับ มีอะไรก็โทรปรึกษากันตลอด”

“แล้วการที่เราค้นหาเด็กร่วมกันกับผู้นำชุมชนทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ทำให้เราได้รู้บริบทของแต่ละหมู่บ้านว่ามีเคสแบบไหนบ้าง มันก็ง่ายต่อการช่วยเหลือ เด็กก็จะไม่เสียโอกาส คนไหนพร้อมก็เอาเข้า กศน. เลย เขาอยากเรียน เราก็อยากสนับสนุน การลงพื้นที่เราต้องทำหลายรอบ ต้องติดตามใกล้ชิด บางคนไม่เจอก็ต้องตามหา บางทีตามไปสองบ้านสามบ้านถึงจะพบ หรือบางคนคุยกับเขาแค่รอบเดียวไม่พอ เราก็ต้องกลับไปใหม่ ต้องคุยต้องอธิบายให้แน่ใจว่าเด็กจะไม่เสียโอกาสจริงๆ”

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค